เที่ยวไทยไม่ตกเทรนด์

เที่ยวไทยไม่ตกเทรนด์

เหลียวหลังแลหน้า ตัวเลขแห่งความหวัง และทิศทางท่องเที่ยวไทยปี 62

‘ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก’ โดยเฉพาะเรื่องการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกประจำปี 2561 โดยมาสเตอร์การ์ด (GDCI 2018) ยืนยันด้วยสถิติการครองอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี ของกรุงเทพมหานคร และยังเป็นการครองอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้มีภูเก็ตและพัทยาติดโผเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 12 และ 18 ด้วย

 และแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายๆ ที่ทำให้ทิศทางการเติบโตของตัวเลขด้านการท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นฐานสำคัญสะดุดลงในช่วงเดือนตุลาคม แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการขยายตัว 4.45 เปอร์เซนต์ จากเดิมในเดือนตุลาคมที่หดตัวถึง 0.51 เปอร์เซนต์ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่มกราคม - พฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ประมาณ 34,431,489 คน ส่งผลให้รายได้รวมอยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1.80 ล้านล้านบาท และคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ 8.75 แสนล้านบาท

 ที่น่าสนใจก็คือในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ค่อนข้างสูง นักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงเป็นหลักที่แข็งแรง จะทำอย่างไรให้ไทยเที่ยวไทยเป็นเทรนด์ที่แข็งแกร่งและมีความยั่งยืน ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

  20181225_๑๘๑๒๒๕_0007

มองมุมใหม่ จุดหมายเดิม

 หลายคนอาจคิดว่าเมืองใหญ่อย่าง‘เชียงใหม่’ คงไม่มีอะไรให้น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว แต่สำหรับคนในแวดวงการท่องเที่ยวการปรับกลยุทธ์และรูปแบบการท่องเที่ยวให้สอดรับกับรสนิยมที่เปลี่ยนไป คือการสร้างแรงดึงดูดใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี

 “ปีที่แล้วจังหวัดเชียงใหม่เราได้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศรวมกันประมาณ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ 70 เปอร์เซนต์หรือประมาณ 7 ล้านคนเป็นคนไทย อีก 3 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งใน 3 ล้านคนนี้ 30 เปอร์เซนต์เป็นจีน ปีที่แล้วคนจีนเข้ามาเชียงใหม่ประมาณ 1 ล้านคน แต่ว่าปีนี้เกิดเหตุการณ์อย่างที่เราทราบกัน ถึงแม้ว่าเชียงใหม่เองเราจะไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่จะเป็นผลกระทบโดยตรง แต่เขาก็มองว่าเป็นประเทศไทย ทำให้ในช่วงตั้งแต่ตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมาตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนอาจจะลดลงบ้าง แต่เป็นการลดลงในกลุ่มที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเอง หรือ FIT (Foreign Independent Tour)กลับเพิ่มขึ้น อันนี้ผู้ประกอบการเป็นคนบอก”

abf4cf44b7c9a9c61ae8a446e3b073e8

 ภัคนันท์ วินิจชัย ผู้อำนวยการฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ได้นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ มาทดแทน เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งจากสถานการณ์ที่่เกิดขึ้นทำให้มองเห็นว่าไม่ควรพึ่งตลาดใดตลาดหนึ่งเพียงอย่างเดียว

 “แทนที่เราจะไปพึ่งพาตลาดจีนอย่างเดียวอย่างเมื่อก่อนเป็นก้อนใหญ่ๆ เวลาลดก็กระทบเยอะ เราก็มิกซ์มาร์เก็ตจะดีกว่า เอาตลาดอื่นมาผสม ซึ่งเชียงใหม่เองมีศักยภาพด้วยความที่เราเป็นฮับของหลายสายการบินที่บินตรงเข้ามา คิดว่าจริงๆ แล้วสถานการณ์โดยรวมของปีนี้ ทั้งจำนวนทั้งรายได้น่าจะอยู่ในแดนบวก ไม่น่าวิตกกังวลใดๆ เพราะว่าตัวตลาดจีนเองเฉลี่ยทั้งปีก็ยังน่าจะอยู่ในแดนบวก”

 สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลัก ภัคนันท์บอกว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีสินค้าทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีอำเภอรอบนอกที่น่าสนใจ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นเมืองรองอย่างลำพูน หรือเชียงราย

 “คนไทยส่วนใหญ่จะมาท่องเที่ยวในช่วงลองวีคเอนท์ ปิดเทอม หรือช่วงหน้าหนาว พออากาศหนาวเย็นก็จะขับรถมาหรือเดินทางมาเอง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวหรือเสาร์อาทิตย์ ซึ่งในส่วนของททท.เราทำตลาดอยู่ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ‘กลุ่มสูงวัย’ ซึ่งจะมาในช่วงวันธรรมดา แล้วก็กระจายไปยังเส้นทางอำเภอรองๆ ‘กลุ่มมิลเลนเนียล แฟมิลี’ อันนี้ก็จะมาเสาร์-อาทิตย์ พาลูกมาทำกิจกรรมนอกห้องเรียน อีกกลุ่มก็คือ ‘กลุ่มผู้หญิง’ เราชูว่าเป็นวีเมนพาวเวอร์ ไปดูเรื่องผ้า เรื่องอาร์ต แล้วกลุ่มสุดท้ายจะเป็น ‘กลุ่มเจนวาย’ ก็จะไปที่ฮิปๆ ต่างๆ คือเชียงใหม่เองเราวางโพสิชั่นว่าเป็นเมืองอาร์ตแอนด์คราฟท์ด้วย ซึ่งโชคดีที่เรามีสินค้าสำหรับทุกกลุ่มเลยจริงๆ”

 แม้ว่าศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวจะไม่ได้ลดน้อยลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ พฤติกรรมนักท่องเที่่ยวซึ่งเชื่อมโยงกับโซเชียลมีเดีย ทั้งในลักษณะของการหาข้อมูล โพสต์รูปและเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จนเกิดเป็นกระแสขึ้นมา ตรงนี้ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ

 “นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติปัจจุบันคล้ายๆ กัน คือนิยมเดินทางด้วยตนเอง หาข้อมูลทางอินเตอร์เนต ดูว่าแหล่งท่องเที่ยวไหนที่เป็นยอดฮิต ใครเช็คอินตรงไหนก็จะตามๆ กันไป”

 ยกตัวอย่างเช่นกระแสเที่ยวไทยสไตล์ญี่ปุ่นที่่ ‘ฮิโนกิแลนด์’ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเชียงใหม่ในอำเภอไชยปราการ ซึ่งในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการทำเอารถติดยาวหลายกิโลเมตร อนิรุทธ์ จึงสุดประเสริฐ เจ้าของอาณาจักรไม้หอมฮิโนกิ บอกว่า นอกจากพลังของโซเชียลมีเดียแล้ว เขายังเชื่อมั่นในพลังของนักท่องเที่ยวชาวไทย

48371742_2072898672768934_4169305074134155264_n

 “สถานที่แห่งนี้ผมสร้างขึ้นมา ผมไม่ได้หวังทัวร์จีนเลย ผมหวังให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศไทย เอาแค่คนไทยมาเที่ยวก็เยอะพอแล้ว ผมคิดว่านักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง ถ้าคุณจะทำแหล่งท่องเที่ยว หรือคุณจะทำการท่องเที่ยว คุณอย่าไปอาศัยชาวต่างชาติ ให้ยึดถือคนไทยเป็นหลัก ต่างชาติเป็นรอง เรียกว่าคนต่างชาติเป็นน้ำจิ้ม อาหารหลักต้องเป็นคนไทย ชาวต่างชาติเขามาก็เพื่อเติมรสชาติ แต่หลักต้องเป็นคนไทย เพราะอะไร เพราะคุณสร้างขึ้นมาในประเทศไทย คุณอย่าไปคิดว่าสร้างขึ้นมาแล้วอาศัยให้จีนมาเที่ยวถึงจะอยู่ได้ อาศัยให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวถึงจะอยู่ได้ อันนั้นคือคุณคิดผิด”

 “ความคิดของผมมันไม่ใช่ เราสร้างในประเทศไทย สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนไทยเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวไหนก็ตาม ถ้าคุณไปคิดว่าจะอาศัยทัวร์จีนคุณถึงจะอยู่ได้ คุณขาดทุนตั้งแต่คุณคิดละ” เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการชาวไทยที่มองว่าการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ต้องยืนบนขาของตัวเองก่อน

 ขณะที่ ผอ.ททท.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศว่า “เชียงใหม่เองถึงแม้ทั้งจังหวัดเราจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเมืองรอง และเป็นเพียงจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่เป็นเมืองหลัก แต่ยังโชคดีที่ตอนหลังเชียงใหม่ได้รับการประกาศในบางอำเภอให้เป็นเมืองรองที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ เราอยากให้คนไทยมาท่องเที่ยวในเชียงใหม่และไม่หยุดแค่ในเมือง เส้นทางอำเภอรองๆ ข้างนอก ก็มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และบางเส้นทางอย่างไชยปราการ ฝาง ก็สามารถเดินทางต่อไปเชียงรายได้ หรืออีกฝั่งเชื่อมกับทางลำพูน สามารถเที่ยวแบบครึ่งวันได้ เหมือนกับเป็นเชียงใหม่พลัสไป แล้วทางททท.ยังมีแคมเปญวันธรรมดาน่าเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้รับความสะดวกสบายไม่แออัดแล้วยังจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้วย”

 

ศักราชใหม่ หลักไมล์เพิ่ม

 ​​​​ตัวเลขอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับความยั่งยืน แต่รายได้จากการท่องเที่ยวก็ยังเป็นความหวังของหลายฝ่าย ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว TATIC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดทำคาดการณ์สถานการณ์ปีใหม่ 2562 (ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2561 – 1 มกราคม 2562) ไว้ที่ตัวเลขรวม 17,370 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 520,000 คน โดยพิจารณาจากยอดการจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าเข้าไทยที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ ไต้หวัน ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้, การเปิดเที่ยวบินใหม่ในเดือนธันวาคม รวม 170 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ทั้งเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำจาก จีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย และการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa On Arrival ให้แก่ 20 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ

 ขณะที่สถานการณ์ตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 2.72 ล้านคน-ครั้ง รายได้จากการท่องเที่ยว 9,500 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ กิจกรรมของททท. อาทิ Amazing Thailand Countdown 2019 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในกรุงเทพฯ และ 4 เมืองรอง ได้แก่ นครพนม เชียงราย สตูล และราชบุรี สร้างรายได้หมุนเวียนมากกว่า 2,400 ล้านบาท

20181225112313222

 “ตอนนี้ก็ใกล้จะเคาท์ดาวน์ปีใหม่ เรายังคงเน้นการจัดงานเคาท์ดาวน์ในเมืองรอง ด้วยเหตุผลที่ว่า จริงๆ แล้วเมืองหลักอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น อะไรเหล่านี้คนไปอยู่แล้ว ซึ่งงานเคาท์ดาวน์นี้ดูเหมือนคนไม่น่าจะไปอะไรกันมากมาย แต่กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวคนไทยกำลังจะครบคนที่ 5 ล้านในเดือนมกราคมนี้” นพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูล ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ที่อาจจะไม่คึกคักมากมายแต่ก็มีแนวโน้มที่ดี

 "ช่วงปีใหม่ปีนี้ผมว่าคนไทยก็ยังเดินทางท่องเที่ยว แต่อาจจะมีการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงด้วยการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ฉะนั้นมันอาจไม่พุ่งปรี๊ดมากมาย แต่ปีหน้าก็คงจะขยับขึ้นมาในระดับหนึ่ง ถามว่ามันจะก้าวกระโดดได้มั้ย คงไม่ขนาดนั้น เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า"

 สำหรับปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีหลายแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยพฤติกรรมของนักท่องเทียวที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การปรับตัวปรับรูปแบบในการนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาให้สอดรับกับตลาดหรือกลุ่มเป้าหมาย

 "มันไม่ได้หมายความว่าโปรเจกต์ปีที่แล้วคนให้ความสนใจมากเลย ปีนี้คนจะสนใจ มันมีองค์ประกอบ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน โครงการที่ไม่คิดว่าเจ๋งมันอาจกลายเป็นเจ๋งไปก็ได้ ผมว่าอยู่ที่กลุ่มเป้าหมายที่เราวาง ในเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น วันธรรมดาน่าเที่ยว ถ้ากลุ่มนักท่องเที่ยววัย 50 ขึ้นไป แอคทิวิตี้ของเดสติเนชั่นที่กำลังจะทำโปรแกรมต่างๆ หรือทำพีอาร์ข้อมูลต่างๆ ต้องเปลี่ยนไป ช่องทางที่กลุ่มนั้นเขาชอบมันคือช่องทางไหนในการรับรู้สื่อต้องเลือกให้เหมาะสม ทำนองเดียวกัน เรื่องวันธรรมดาน่าเที่ยว ถ้าต้องการกลุ่มเจนเอ็กซ์ เจนวาย พีเรียดไหนที่ควรจะดัน ผมว่าองค์ประกอบมันเยอะแล้วมันคนละห้วงเวลาหมดเลย"

 ทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวในสถานการณ์ที่ม่ีทั้งแต้มต่อและอุปสรรค ซึ่งรองผู้ว่าฯนพดล เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ไทยเที่ยวไทยในปี 2562 ว่า

 "ในปีงบประมาณ 2562 กระบวนการทำงานต้องตอบรับในเชิงนโยบาย ตามแผนที่ทางททท.ร่างไว้ ปีนี้มีอยู่ 4 กลยุทธ์ อันแรกเป็นเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวกระแสหลัก ก็คือคนไทยกลุ่มใหญ่ อันดับที่สองคือกระตุ้นการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงศักยภาพ ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้มีรายได้และมีศักยภาพในการใช้จ่าย กลยุทธ์ที่ 3 คือเรื่องการกระจายพื้นที่และห้วงเวลา และสุดท้ายคือเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การรักษาสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก ซึ่งเราพยายามสร้างจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เป็นต้นว่าผู้ประกอบการก็ต้องช่วยดูแลแหล่งท่องเที่ยวด้วย มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค ระบบการกำจัดขยะ ทำนองเดียวกันลูกค้าเองก็จำเป็นที่จะต้องตระหนักในเรื่องนี้ เราพยายามสอดแทรกเรื่องนี้มาตลอด"

 สำหรับตัวเลขแห่งความหวัง ในปี 2562 นี้ ททท.ตั้งเป้าหมายการเติบโตอยู่ที่ 10 เปอร์เซนต์ หรือประมาณ1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะไกลเกินเอื้่อม

 แต่ถ้ามองไปถึงเป้าหมายในอุดมคติ เชื่อแน่ว่า...ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า การที่คนไทยมองเมืองไทยในมุมใหม่ หันมาเที่ยวเมืองไทย ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ‘รัก’และ‘รักษ์’ทรัพยากรที่เป็นทั้งต้นทุนชีวิต ต้นทุนทางวัฒนธรรม และต้นทุนทางการท่องเที่ยว