ดิจิทัลกับธุรกิจอาหารในแบบฉบับ Alibaba

ดิจิทัลกับธุรกิจอาหารในแบบฉบับ Alibaba

นอกจากชอปปิงออนไลน์ อาลีบาบา(Alibaba Group Holding Limited)ยังพลิกธุรกิจออฟไลน์อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตให้พร้อมสำหรับการรองรับลูกค้ายุคใหม่ที่นิยมช้อปออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่ร้านกาแฟแบรนด์เนม 'สตาร์บัคส์' ก็พลิกโฉมได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลบนสมาร์ทโฟน

นอกจากบุกเบิก ‘เทศกาลชอปปิงวันคนโสด’ ภายใต้ชื่อ 11.11 (ดับเบิลอีเลฟเว่น) มาเป็นปีที่สิบ และสร้างปรากฏการณ์ยอดขายมูลค่ารวมสินค้า (GMV-Gross Merchandise Value) ทำลายสถิติสูงสุด 213,550 ล้านหยวน หรือ 30,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เรียกเสียงปรบมือและรอยยิ้มถ้วนทั่วทั้งผู้บริหารและทีมงาน อาลีบาบา (Alibaba Group Holding Limited) บนเวทีศูนย์ถ่ายทอดสดสื่อมวลชนที่ ‘เซี่ยงไฮ้ เอ็กซ์โป เซ็นเตอร์’ ในกรุงเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ความจริงแล้ว ‘อาลีบาบา’ จัดเทศกาลนี้เพื่อปูทางสู่การนำ กลยุทธ์ New Retail ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ มาใช้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและช่วยกระจายคุณภาพชีวิตไปสู่ชาวจีนร่วมชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมือง

Daniel Zhang or Zhang Yong is the CEO of Alibaba Group 2

มร.แดเนียล จาง (Daniel Zhang)

“จะเห็นได้ว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คนใช้ชีวิตอยู่บนมือถือ จึงได้หันไปเน้นมือถือ และทำ personalization ที่ขับเคลื่อนโดยเอไอและบิ๊กดาต้า (AI & Big Data) แต่นอกจากนี้ ในอนาคตเรื่องคำสั่งด้วยเสียง (voice) ก็สำคัญ อุตสาหกรรมค้าปลีกในจีนกว่า 80% ยังอยู่บนออฟไลน์ จึงมองว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ร้านเหล่านี้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น นั่นก็คือการนำกลยุทธ์ New Retail มาใช้ โดยร้านค้าแบบดั้งเดิมจะยกระดับร้านออฟไลน์สู่ดิจิทัล เป็นสมาร์ทสโตร์มากขึ้น” มร.แดเนียล จาง (Daniel Zhang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 12 พฤศจิกายนซึ่งเป็นเวลาปิดเทศกาล 11.11 ในปีนี้ไม่กี่ชั่วโมง

หนึ่งในธุรกิจออฟไลน์ที่ ‘อาลีบาบา’ นำขึ้นมาสู่ออนไลน์คือ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’

ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบ New Retail ที่อาลีบาบาลงทุนชื่อ Hema (เหอหม่า) โดยผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับข้อมูล(data) ทำให้การซื้อของชำของลูกค้าสะดวกสบายขึ้นโดยไม่ต้องพกเงินสดและบัตรเครดิต 

IMG_2862

เหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ตในเซี่ยงไฮ้

เริ่มต้นด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเหอหม่า แอปนี้เชื่อมต่ออัตโนมัติกับเว็บไซต์ Taobao (เถาเป่า) และบัญชี Alipay (อาลีเพย์) แล้วไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตยืนยันตัวตนเพื่อเป็น ‘สมาชิกเหอหม่า’

IMG_2871~photo

การซื้อของทำได้ 3 วิธีคือ ไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เลือกของที่ต้องการใส่ตะกร้าหรือรถเข็นชอปปิง จากนั้นนำของที่ต้องการซื้อไปสแกนบาร์โค้ดที่ ‘เครื่องคิดค่าใช้จ่าย’ ซึ่งติดตั้งอยู่ใกล้ทางออกซูเปอร์มาร์เก็ต การสแกนบาร์โค้ดแต่ละครั้ง หน้าจอเครื่องคิดค่าใช้จ่ายจะแสดงรูปสินค้า ชื่อสินค้า และราคา 

เมื่อสแกนบาร์โค้ดครบทุกชิ้นแล้ว แตะที่หน้าจอเครื่องคิดค่าใช้จ่ายเพื่อรวมยอดเงินที่ต้องชำระ จากนั้นเปิดแอปพลิเคชันเหอหม่าบนสมาร์ทโฟนของเรา แสดงคิวอาร์โค้ดให้เครื่องคิดค่าใช้จ่ายอ่านเพื่อชำระเงินผ่านบัญชีอาลีเพย์ เมื่อชำระเงินเรียบร้อย เครื่องจะพิมพ์ใบเสร็จออกมา

IMG_2861~photo

ถุงชอปปิงของเหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อพนักงานหยิบสินค้าครบตามที่ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์ ก็จะแขวนถุงไว้กับสายพานให้ลำเลียงไปยังห้องแพ็คของสำหรับการจัดส่งไปบ้านลูกค้า

วิธีที่สอง ไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต สั่งซื้อสินค้าจากสมาร์ทโฟน คำสั่งซื้อจะไปปรากฎที่เครื่องมือของพนักงานเหอหม่าซึ่งทำหน้าที่เดินหยิบสินค้าตามคำสั่งซื้อใส่กระเป๋าชอปปิง แต่ละแผนกมีกระเป่าชอปปิงสีไม่เหมือนกัน เมื่อพนักงานหยิบสินค้าเสร็จจะนำกระเป๋าไปแขวนที่สายพานซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงกระเป๋าชอปปิงไปรวบรวมภายในห้องแพ็คกิ้ง แล้วจัดส่งไปที่บ้านลูกค้าภายในระยะเวลา 30 นาที ลูกค้าไม่ต้องหิ้วถุงกลับบ้านเอง หรือเมื่อสั่งซื้อสินค้าเสร็จก็สามารถเดินทางไปทำธุระที่อื่นต่อได้ โดยไม่ต้องกลัวว่า ‘ของชำ’ ที่ซื้อจะเน่าเสีย

วิธีที่สาม อยู่ที่บ้าน(หรือที่อื่นๆ) เปิดสมาร์ทโฟนสั่งซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต พนักงานเหอหม่าก็จะดำเนินการให้เช่นเดียวกับวิธีที่สอง

ระหว่างที่เดินสำรวจเหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาซึ่งตั้งอยู่บนถนนหยินเซียงในเซี่ยงไฮ้ สายพานลำเลียงกระเป๋าทำงานแทบจะตลอดเวลา

เหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ต กำหนดจัดส่งสินค้าภายใน 30 นาทีให้กับลูกค้าที่อยู่ภายในรัศมี 3 กิโลเมตรจากซูเปอร์มาร์เก็ต

การนำระบบออนไลน์มาใช้กับซูเปอร์มาร์เก็ต และกำหนดจัดส่งสินค้าภายในระยะ 3 กิโลเมตร นอกจากความสะดวกของลูกค้าแล้ว ยังทำให้อาลีบาบาทราบว่าลูกค้าในรัศมี 3 กิโลเมตรซึ่งเป็นแฟนประจำซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่ง ชอบกินอะไร จึงมีผลต่อการสต็อคสินค้า และช่วย ลดขยะ ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตขายของที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ของที่เหลือทิ้งจึงลดน้อยลง มร.โหว อี (Hou Yi)ประธานบริหารเจ้าหน้าที่ เหอหม่า กล่าว

ซูเปอร์มาร์เก็ตระบบดิจิทัลแบรนด์นี้ของอาลีบาบามีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Fresh Hippo เนื่องจากคำว่า ‘เหอหม่า’ พ้องเสียงกับคำในภาษาจีนที่หมายถึง ‘ฮิปโป’ ด้วยเหตุนี้สัญลักษณ์ของเหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ตจึงเป็นกราฟิกรูปฮิปโป

IMG_2847

IMG_2859~photo

อีกทั้งคำว่า fresh ยังตรงกับจุดเด่นของเหอหม่าที่เน้นความสดของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ อาหารทะเล ที่นี่อาจดูเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมดา แต่เมื่อเปิดแอปพลิเคชันสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์ จะเห็นข้อมูลสินค้าว่าคืออะไร สินค้ามาจากไหน ฟาร์มไหน สินค้ามาถึงซูเปอร์มาร์เก็ตวันใด พร้อมตัวอย่างว่าสามารถนำไปทำอาหารอะไรได้บ้าง แม้แต่ปลาที่ยังว่ายน้ำ แต่ละตัวก็มีแผ่นบาร์โค้ดเล็กๆ ติดอยู่ที่ครีบหลัง

หลังจากเริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ.2558 ปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ต ‘เหอหม่า’ กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หนิงปัว เซิ่นเจิ้น หางโจว กุ้ยหยาง รวมจำนวน 100 สาขา 

พื้นที่ด้านข้างของเหอหม่าสาขานี้ยังเป็นที่ตั้งของ Robot.He (โรบอท.เหอ) ร้านอาหารที่ใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารเป็นร้านแรกของเหอหม่า เป็นร้านอาหารทดลองของอาลีบาบาที่ต้องการให้อาหารเมื่อออกจากครัวแล้วไปที่โต๊ะลูกค้าทันที เพื่อให้ลูกค้าได้อาหารที่ยังคงร้อนเหมือนเพิ่งปรุงเสร็จ การตั้งอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ จากครัวแล้วรอบริกรมายกไป มักทำให้อาหารเย็นชืดเมื่อถึงมือลูกค้า

Image-1

IMG_2894~photo

ปูขน อาหารที่วางมาบนหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารของร้าน โรบอท.เหอ

นอกจากทำซูเปอร์มาร์เก็ตเอง อาลีบาบาได้เข้าไปลงทุนในไฮเปอร์มาร์เก็ตชื่อ RT-Mart (อาร์ที-มาร์ท) ให้กลายเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตดิจิทัล

IMG_4189

พื้นที่ 'เถาเป่าซีเล็คเตอร์' ภายใน RT-Mart

ในส่วนสินค้าสดของซูเปอร์มาร์เก็ต อาลีบาบานำระบบเดียวกับเหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าไปใช้ และเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย เช่น เถาเป่าซีเล็คเตอร์ พื้นที่จำหน่ายสินค้าจากผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามลูกค้ากำหนด (OEM-Original Equipment Manufacturer) โดยการเชื้อเชิญและคัดสรรของอาลีบาบา มีสินค้าประเภทของใช้ภายในบ้านหลายประเภท เช่น ที่ชงชา กระทะ เครื่องนอน กระเป๋าเดินทาง โคมไฟ แต่ละประเภทมีดีไซน์ที่สวยงามเรียบง่ายและใช้วัสดุคุณภาพ

IMG_3107~photo

ตัวอย่างสินค้าประเภทเครื่องครัวที่วางจำหน่ายในพื้นที่ 'เถาเป่าซีเล็คเตอร์' ของ อาร์ที-มาร์ท

IMG_3074

หมองยางพารา สินค้าขายดีของ 'เถาเป่าซีเล็คเตอร์'

IMG_3071

โคมไฟดีไซน์เรียบเท่ที่ 'เถาเป่าซีเล็คเตอร์' คัดสรรมาจำหน่ายภายใน อาร์ที-มาร์ท

การติดตั้ง ตู้สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อแลกซื้อสินค้าโปรโมชั่นในราคา 1 เซ็น หรือรับคูปองลดราคา ภาพผู้บริโภคชาวจีนใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ด หรือภาพเด็กๆ เล่นกับตู้คิวอาร์โค้ด เป็นภาพที่เห็นเป็นปกติที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตอาร์ที-มาร์ท

IMG_4190

IMG_4191

อีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในอาร์ที-มาร์ท คือ Rural Taobao (รูเริล เถาเป่า) พื้นที่ขายสินค้าจากชนบทของจีน

ประเทศจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล คำว่า ‘ชนบท’ ของจีนนั้นหมายถึงพื้นที่ห่างไกลเมือง ข้ามเขาเป็นลูกๆ ถึงนั่งรถก็ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ

รูเริล เถาเป่า คือการทำให้ชาวจีนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมักทำอาชีพเกษตรกรรม เข้าถึง ‘ของใช้ในชีวิตประจำวัน’ ได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น

อาลีบาบารับสมัครคนในพื้นที่ห่างไกลที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็น ทำงานเป็น ตัวแทนเถาเป่า ในระดับหมู่บ้าน โดยใช้บ้านตนเองเป็นที่ทำงาน ประสานงานระหว่างเถาเป่าและคนในพื้นที่

เมื่อเกษตรกรบ้านใดอยากได้ปุ๋ย เครื่องมือในไร่ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ ฯลฯ ก็สั่งซื้อออนไลน์ผ่านตัวแทนเถาเป่า แทนการต้องเดินทางออกจากบ้านในชนบทเพื่อไปซื้อของในเมือง ซึ่งต้องเสียค่าเดินทางทั้งไปและกลับ และใช้เวลาเป็นวัน 

บางพื้นที่ อาลีบาบาส่งสินค้าตัวอย่างไปตั้งไว้ที่บ้านตัวแทนเถาเป่าให้เห็นของจริงก่อนสั่งซื้อออนไลน์ก็มี เมื่อสินค้าที่สั่งซื้อไปถึงในระดับหมู่บ้าน ก็จะมีการแจ้งไปตามบ้านที่สั่งซื้อให้มารับสินค้า

ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ยังสามารถขายผลผลิตในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลเมืองออกสู่ตลาดได้สะดวกขึ้น เช่น บางพื้นที่ปลูก บัว ขายฝักที่มีเม็ดบัว ขายได้เฉพาะฤดูกาลที่บัวออกฝัก และขายได้ในรัศมีไม่ไกลจากหมู่บ้าน แต่เม็ดบัวเป็นที่ต้องการของชาวจีน ตามความเชื่อที่เม็ดบัวเป็นยาจีนชนิดหนึ่ง

สิ่งที่ ‘เถาเป่า’ ทำคือ เปิดรับออร์เดอร์ฝักบัวจากผู้ต้องการในเมือง แล้วรวบรวมยอดออร์เดอร์ส่งไปยังตัวแทนเถาเป่าในชนบท เพื่อแจ้งให้เกษตรกรปลูกบัวทราบว่าบ้านไหนสามารถรับออร์เดอร์ส่งฝักบัวได้จำนวนเท่าไร เป็นการกระจายรายได้ถึงมือเกษตรกรโดยตรง และทำให้สินค้าเมื่อส่งเข้าสู่เมืองไม่เหลือทิ้งจากการที่ทราบจำนวนออร์เดอร์ที่แน่นอน

นอกจากซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร, อาลีบาบายังนำดิจิทัลออนไลน์บนสมาร์ทโฟนไปสู่ สตาร์บัคส์ ร้านกาแฟแบรนด์เนมของสหรัฐอเมริกา

IMG_2823~photo

IMG_2822~photo

บรรยากาศภายในร้าน Starbucks Reserve Roastery ในเซี่ยงไฮ้

อาลีบาบากับสตาร์บัคส์ร่วมกันเปิด Starbucks Reserve Roastery ในเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 กลายเป็นร้านสตาร์บัคส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาดร้าน 2 ชั้น พื้นที่รวม 2,700 ตารางเมตร ภายในตกแต่งชวนตะลึงด้วยร้านโทนสีทองแดง เพดานปูต่อกันด้วยแผ่นไม้รูปหกเหลี่ยมตัดด้วยมือ จำนวน 10,000 ชิ้น มีบาร์กาแฟ 3 สเตชั่น หนึ่งในนั้นเป็นบาร์กาแฟที่มีความยาว 88 ฟุต ยาวกว่าสตาร์บัคส์ทุกสาขาในโลก เลือกดื่มกาแฟได้ด้วยศิลปะการชงทุกรูปแบบ มีมุมขายเบเกอรีให้เลือกหลากหลายชนิด สินค้าที่ระลึกที่มีมากกว่าถ้วยกาแฟและทัมเบลอร์

แต่ที่ไม่ทิ้งความเป็นอาลีบาบาคือ ‘เทคโนโลยี’ ลูกค้าสตาร์บัคส์ที่สมาร์ทโฟนมี แอปพลิเคชันเถาเป่า เมื่อมาถึงร้านและเปิดแอปก็จะเห็นแผนผังในร้านทั้งสองชั้น เมนูกาแฟและชา เครื่องดื่มแก้วโปรด..ถ้าเซฟข้อมูลไว้

IMG_2794~photo

ไซโลบ่มเมล็ดกาแฟสด ตั้งตระหง่านเป็นจุดสนใจอยู่ภายในร้านกาแฟ Starbucks Reserve Roastery สาขาเซี่ยงไฮ้

Image-1 (1)

เมื่อเปิดฟังก์ชั่น 'เถาเป่าเออาร์' บนสมาร์ทโฟนแล้วส่องไปที่ไซโลบ่มเมล็ดกาแฟ จะเห็นภาพกราฟิกทำงานเสมือนจริงของไซโลบนสมาร์ทโฟน

จุดไฮไลต์คือเมื่อยกสมาร์ทโฟนที่เปิดฟังก์ชั่น เถาเป่าเออาร์ (Taobao's AR) ขึ้นส่องตำแหน่งต่างๆ ภายในร้าน สมาร์ทโฟนก็จะแสดงภาพเสมือนสามมิติจำลองการทำงานของเครื่องมือหรือส่ิ่งที่อยู่ในตำแหน่งนั้นๆ เช่น ถังบ่มเมล็ดกาแฟขนาดยักษ์กลางร้าน ขั้นตอนการชงกาแฟ

IMG_2827~photo

Starbucks Reserve Roastery ในเซี่ยงไฮ้

ปัจจุบัน  Starbucks Reserve Roastery ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นจุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยว เปิดประตูรับลูกค้าวันละ 8,000 คน

เป็นตัวอย่างการผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลกับรูปแบบธุรกิจอาหารการกินที่เกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้