หา ‘ทางเข้า’ ใจ ผ่านการเคลื่อนกาย กับดุจดาว วัฒนปกรณ์

หา ‘ทางเข้า’ ใจ ผ่านการเคลื่อนกาย กับดุจดาว วัฒนปกรณ์

บางครั้งชีวิตที่ดำเนินไปตามปกติ แบบที่น่าจะพึงพอใจ แต่กลับมีบางสิ่งรบกวน ทำให้หมดไฟ ไร้สุข หรือติดอยู่ในวังวนบางอย่างที่ก็หาคำตอบไม่ได้ แน่นอนเราไม่ถึงกับเจ็บป่วยอะไร แค่ใจของเราอาจตึงหย่อนไปบ้าง ก็ต้องอาศัยเครื่องมือบางอย่างมาปรับชีวิตให้สมดุลพอดี

ในบรรดาวิธีบำบัดใจ มีสิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคือการบำบัดผ่านการเคลื่อนไหว

เพราะครั้งหนึ่งเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เราไม่อาจเศร้าในกายที่ร่าเริงได้” ลองลุกขึ้นมาทำตาม ก็เห็นว่าความเศร้าถูกลดกำลังลง จนกระทั่งมาพบกับนิยามอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นอีกบทบาทของนักแสดง ศิลปิน และผู้กำกับการแสดงอย่าง ดาว - ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ซึ่งเธอทำในเมืองไทยมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นศาสตร์ใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่อยู่ดี

การบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว

ความสนใจของดุจดาวเกิดจากการแสดงกับกลุ่ม B-Floor Theatre เมื่อต้องใช้ร่างกายเพื่อสื่อความหมาย หลังจากซ้อมเสร็จ เธอรู้สึกได้ว่าใจข้างในมีการทำงานที่เปลี่ยนไป ตอนนั้นเธอยังไม่ได้เชื่อมโยงว่าเคลื่อนไหวจะบำบัดได้ แต่ในฐานะคนทำงานศิลปะ เมื่อมีหัวข้อที่สนใจ จึงอยากค้นหาว่าการเคลื่อนไหวทำงานกับจิตใจอย่างไร จนได้ไปเจอคอร์สปริญญาโท แดนซ์ มูฟเมนท์ ไซโค เธอราปี (Dance Movement Psycho Therapy) ที่ มหาวิทยาลัยโกลด์ สมิธส์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ที่ตอบคำถาม รวมถึงสร้างอาชีพนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวแก่เธอด้วย

20180925230609946

เรามักได้ยินว่า ‘จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ แล้วศาสตร์การใช้กายนำจะสวนทางกับแนวคิดนี้ไหม

“ดาวชอบคำกล่าวนี้นะ เพราะเห็นความสัมพันธ์ของใจที่ใหญ่กว่าและสั่งบ่าวได้ แต่บางทีนายก็ฟังบ่าวที่สนิทเหมือนกัน ถ้าเราทำให้เขาสนิทกันได้ ที่จริงทั้ง 2 ฝั่งมีอิทธิพลเท่าๆ กัน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เราอยากทำงานกับจิตใจ แต่เราเข้าถึงไม่ได้ หาทางเข้าไม่เจอ ก็ต้องทำงานกับร่างกาย ส่วนที่จับต้องได้ มันส่งผลซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน”

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าห้องบำบัดจิตน่ากลัว ถ้าให้ไปคลินิกจิตเวชเป็นเรื่องที่ยากเกินไป ดุจดาวจึงเลือกสร้างเวิร์คชอปนี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา

และการเข้าถึงใจด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อบำบัดไม่มีรูปแบบตายตัว การเคลื่อนไหวแบบหนึ่งที่ใช้ได้กับคนหนึ่ง ก็ไม่เหมาะกับอีกคน เพราะแต่ละคนมีวิธีเคลื่อนไหวต่างกัน

“แต่มีหลักการอยู่ โดยดูว่าการเคลื่อนไหวแบบไหนเป็นพื้นฐานของเขา เราจะถูกฝึกให้วิเคราะห์ ไม่ได้วิเคราะห์เพื่อตีความว่าเป็นคนยังไงนะคะ แต่ดูให้ออกว่าคนนี้ในบุคลิกภาพเขาใช้การเคลื่อนไหวแบบไหน ช่วยเขาค้นหาท่าทาง น้ำหนัก หรือเส้นโค้งที่ใกล้กับตัวเขา ไม่ให้รู้สึกว่ายากเกินไป เราไม่สามารถใช้กระบวนการที่เหมาะกับคนที่แล้วมาใช้กับอีกคน นอกจากรู้หลักการแล้ว การนำไปใช้ต้องดูให้เขาเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เพราะอยากลองเทคนิคใหม่ ไม่มีสูตรตายตัว แต่ต้องมีวิจารณญาณ และหลักการต้องแม่นค่ะ”

เวิร์คชอปกับใจ เพื่อไปต่อ

ตอนนี้ดุจดาวไม่ได้ทำบำบัดในสถานพยาบาลแล้ว แต่กำลังทำงานอีกรูปแบบหนึ่งในเครือโรงพยาบาล BDMS ด้านการสื่อสารของผู้ให้บริการทางการแพทย์อย่างหมอ พยาบาล และนักเทคนิค เพื่อพัฒนาและสร้างทักษะการพูดคุยกับคนไข้โดยดูแลจิตใจไปด้วย “เขาเหล่านั้นเชี่ยวชาญในสิ่งที่เรียนมา แต่เรื่องของการประคับประคองจิตใจ เราถูกฝึกมาให้รู้ว่าภาษาพูด น้ำเสียง หรือท่าทาง สามารถต่อยอดกับสิ่งที่หมอเชี่ยวชาญ” เธอทำงานนี้มา 6 ปีแล้ว

“ดาวเชื่อว่าทุกกิจกรรมบนโลกใบนี้ ไม่ว่าออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ หรืออะไรก็ตาม ถ้าเรารู้ว่าเราจะใช้มันไปเพื่ออะไร เราจะใช้มันต่างกัน”

และดุจดาวยังทำเวิร์คชอปร่วมกับเพื่อนซึ่งเป็น Drama Therapist ในชื่อ The Workshoppers เป็นเวิร์คชอปที่ใช้เทคนิคในห้องบำบัดมาให้คนได้ค้นหาตัวเอง เน้นคนที่ยังไม่ต้องไปพบจิตแพทย์ “อาจจะแค่... ฉันไม่รู้ว่าต้องการอะไรในชีวิต ทำไมชีวิตมันเฉๆ ไม่ถึงขนาดที่จะต้องบำบัด หรือไม่กล้าไป ก็มีเวิร์คชอปกลุ่มและเดี่ยว แต่ถ้ามาแล้วดาวค้นพบว่าคุณต้องการการรักษา ก็จะแนะนำให้ไป”

20180925230611407

เธอว่าสิ่งนี้ไม่ใช่การเยียวยาทางการแพทย์ แต่เป็นส่วนของการต่อยอดเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง เปลี่ยนแปลง พัฒนาเพื่อให้ชีวิตสมดุล หรือดีขึ้น

การเยียวยาคือ Life Support นักบำบัดทำหน้าที่นั้น ถ้าคุณมีเพื่อนที่ดี มีคนเยียวยาอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเจอนักบำบัดก็ได้ แต่การที่เราจะไม่ต้องเยียวยาตัวเอง… จริงเหรอคะ

ที่สำคัญ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าห้องบำบัดจิตน่ากลัว ถ้าให้ไปคลินิกจิตเวชเป็นเรื่องที่ยากเกินไป ดุจดาวจึงเลือกสร้างเวิร์คชอปนี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา นี่ยังเป็นงานเล็กๆ ที่เธอค่อยๆ ทำไป เมื่อมีกำลังมากกว่านี้ เธอก็อยากทำอย่างจริงจังมากขึ้น

ปัญหาร่วมสมัยของคนปัจจุบัน

ปัญหาที่เธอได้พบจากคนไข้ (และไม่ไข้) ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เธอทำงาน เมื่อครั้งที่ทำงานกับคลินิกสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น ปัญหาก็เป็นเรื่องวัยรุ่น เมื่อทำงานพัฒนาบุคลากรก็พบเรื่องความสัมพันธ์ในที่ทำงาน หรือปมที่แต่ละคนแบกรับมาซึ่งหลากหลาย และเมื่อมาทำ The Workshopers ดุจดาวก็มองเห็นปัญหาร่วมที่คนมักพบเจอ

- ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปเพื่ออะไร “ชีวิตดำเนินไปได้ ไม่แย่เลย แต่บางวันก็จะรู้สึกว่า แล้วเราจะวนลูปแบบนี้ไปไหน ไปทำไม และมักมีเสียงที่สังคมบอกเราว่าให้ไปทำสิ่งนั้นซิ ไปที่นี่ซิ ลองทำอันนี้หรือยัง เพราะยุคสมัยนี้เรารับเยอะ แทบทุกสิ่งที่เราเสพสร้างความต้องการให้เรา แต่เพียงผิวเผิน แต่ก็เจ๋งพอที่ทำให้เราอยากลอง โดยที่ไม่ได้ยินว่าลึกๆ เสียงของเราอยู่ไหน” หลายครั้งคำถามนี้ก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และต้องใช้เวลากว่าจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

- บุคลิกภาพและการทำงาน “หลายคนมีทักษะดี แต่บุคลิกภาพไม่ได้เอื้อให้งานมีประสิทธิภาพอย่างที่มันควรจะเป็น เราก็ช่วยปรับ โดยค้นหาว่าบุคลิกภาพเขาเป็นอย่างไร มีบุคลิกภาพไหนที่น่าส่งผลกระทบ ดูว่ามันมาจากไหน บางครั้งก็มาจากการเลี้ยงดู จากเรื่องทางบ้าน เราก็ช่วยเข้าไปดู และหาวิธีปรับกันค่ะ”

- ไม่รู้จักตัวเอง “ที่จริงไม่มีใครที่มาพร้อมกับคำว่า ฉันไม่รู้จักตัวเอง บางคนมักเจอปัญหาแบบเดิม ก็คิดว่าซวยจัง มีแฟนกี่คน มีปัญหาคล้ายกัน แล้วเลิกไปในวิถีเดียวกัน หรือเปลี่ยนงานแต่ละที ก็มีปัญหาคล้ายเดิม ประเด็นคือ คุณไม่ได้ซวย แต่คุณต่างหากที่ทำให้ทุกอย่างรอบตัวเกิดรูปแบบเดิมๆ ถ้าอยากรู้ว่าเพราะอะไร เรามาค้นหากันได้ ทั้งหมดมาจากข้างใน ไม่วิธีคิดก็อาจเป็นพื้นฐาน หรือวิธีรับมือ อันนี้จะแก้หรือไม่เป็นสิทธิ์ของเขา แต่เราสามารถมาช่วยกันมองได้”

ศิลปะการแสดงกับจิตวิทยา

เมื่อศิลปินการแสดงสนใจด้านจิตวิทยา งานการแสดงของเธอจึงใช้จิตวิทยามามองปรากฏการณ์สังคม และอิทธิพลจากการเรียนบำบัดก็ทำให้ออกแบบงานที่ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมกับงาน ให้เกิดกระบวนการสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ ไม่เพียงแค่ทางตา บางคนมาชมการแสดงแล้วรู้สึกว่างานเข้าไปปลดอะไรบางอย่างในใจ ซึ่งเธอคิดว่าเขานั่นแหละเลือกที่จะปลดเอง

20180925230611909

“งานดาวส่วนใหญ่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนได้ทำงานกับตัวเอง สำหรับผู้รับสารบางคน มันจะพาไปถึงจุดนั้น เปิดพื้นที่ให้เขาตีความและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตัวเอง แล้วเขาจะปั้นมันยังไง ก็แล้วแต่เขา เลยมีฟีดแบคหลายอย่าง”

‘วิ่ง’ การเต้นรำเพื่อรักษาสมดุล

วิ่ง คือทางเลือกหนึ่งที่ดุจดาวใช้เพื่อบำบัดตัวเองจากความทุกข์ “ดาวเชื่อว่าทุกกิจกรรมบนโลกใบนี้ ไม่ว่าออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ หรืออะไรก็ตาม ถ้าเรารู้ว่าเราจะใช้มันไปเพื่ออะไร เราจะใช้มันต่างกัน”

วิธีที่เธออยู่กับการวิ่งจึงต่างจากนักกีฬา หรือคนที่วิ่งเพื่อออกกำลังกาย เมื่อดุจดาวใช้วิ่งเพื่อฟื้นฟูตัวเองจากสภาวะวิกฤติของชีวิต เธอจึงตั้งใจอยู่กับมัน สำหรับดุจดาวการวิ่งนั้นคือการเต้น ร่างกายเคลื่อนไป บางครั้งพาใจให้ไปเจอสิ่งที่เธอเรียกว่า 'พลังชีวิต'

20180925230612465

“บางวันไม่อยากวิ่งเลย แต่พอวิ่งไปสักพักแล้วฮอร์โมนความสุขคงหลั่ง เลยรู้สึกว่าฟีลลิ่งแบบนี้แหละที่หายไปจากชีวิต ถ้าเราอยากเตือนตัวเองว่ายังมีความรู้สึกนี้อยู่ ก็พึ่งการวิ่ง ชีวิตแย่ก็ออกไปวิ่ง ให้ปัญหามันวนในตัวแล้วคลี่คลายไปเลย บางคนบอกว่าวิ่งกับปัญหาจะดีได้ยังไง ก็เราไม่ได้วิ่งเพื่อเป็นนักกีฬาที่ดี กระบวนการเราจึงเป็นอีกแบบ”

วิ่งมา 2 ปี จนเลยจุดเยียวยาไปแล้ว ตอนนี้ดุจดาววิ่งเพื่อความสนุก ท้าทาย และอยู่กับตัวเอง ล่าสุดเธอพิชิตฟุลมาราธอนแรกที่เบอร์ลิน มาราธอน แล้ว

“ดาวไม่เคยคิดว่าตัวเองจะวิ่งมาราธอนได้ เห็นคนวิ่งมาราธอนแล้วก็คิดว่าจิตใจเขาต้องเข้มแข็งแค่ไหนนะ แล้วกระบวนการเป็นยังไง วันหนึ่งที่ตัวเองไปถึงจริงๆ ก็ได้เห็นความกลัว และวิธีที่เราจัดการกับตัวเองกับปัญหาตรงหน้า เห็นชัดมาก เพราะไม่มีอะไรมาเบี่ยงเบนเรา เจอวิธีที่จะคุยกับตัวเองในแบบที่สร้างให้เราสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ และเห็นว่าในวันที่เราไม่มีใคร เราเรียนรู้ที่จะอยู่ เป็นมิตร และส่งเสริมตัวเองอย่างไร”

สำหรับดุจดาวแล้ว สิ่งที่เธอทำอยู่ทุกอย่าง ไม่ว่างานด้านจิตวิทยา ศิลปะการแสดง และการวิ่ง ขยับเชื่อมโยงไปด้วยกัน เป็นการทำงานและรักษาสมดุลชีวิตไปพร้อมกัน

แล้วสำหรับทุกคนล่ะ การเยียวยาจิตใจจำเป็นไหม?

“การเยียวยาคือ Life Support นักบำบัดทำหน้าที่นั้น ถ้าคุณมีเพื่อนที่ดี มีคนเยียวยาอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเจอนักบำบัดก็ได้ แต่การที่เราจะไม่ต้องเยียวยาตัวเอง… จริงเหรอคะที่เราจะไม่มีอะไรสึกหรอ อ่อนแอ? บางคนอาจประสบความสำเร็จ หรือมีสิ่งเร้าใหม่ แต่ไม่ต้องรอให้ฟุบไปก่อนหรอก แล้วค่อยจัดการกับตัวเอง บางทีหย่อนไป ตึงไป หรือเยอะไป ก็ต้องการการบำบัด และถ้าเยียวยามาถึงจุดที่สมดุล การบำบัดก็ยังทำหน้าที่รักษาการสมดุลไปเรื่อยๆ ได้”

การทบทวนตัวเอง ก็ไม่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าไปเบียดเบียนคนอื่น ถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมนะ ดุจดาวทิ้งท้าย