เจ้าพระยา...เรืองรองบนรอยอดีต

เจ้าพระยา...เรืองรองบนรอยอดีต

จากแลนด์มาร์คทางวัฒนธรรมที่งดงามด้วยสายน้ำ วัดวาอาราม และวิถีชีวิต สู่การเป็นแลนด์มาร์คทางธุรกิจที่อาจทำให้บางอย่างเปลี่ยนไป

แม่น้ำคดโค้งไหลผ่านเมืองหลวงของประเทศไทยมานานกว่าอายุขัยของผู้คนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ริมสองฝั่ง ยังคงทำหน้าที่เป็นสายเลือดสายหลักหล่อเลี้ยงชีวิตวัฒนธรรมที่หมุนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

‘เจ้าพระยา’ หน้าประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวมากมายบนแม่น้ำสายนี้...

ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เซอร์ จอห์น เบาริง อัครราชทูตอังกฤษซึ่งอัญเชิญพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศสยามได้บรรยายสภาพแวดล้อมของแม่น้ำใหญ่เมื่อแรกเห็นไว้ในบันทึกส่วนตัวว่า

“...แม่น้ำมีลักษณะงดงามหนาแน่นไปด้วยพืชพรรณอันอุดมยิ่ง ตามริมฝั่งมองเห็นกระท่อมไม้ไผ่เป็นระยะๆ ท่ามกลางใบไม้หลายชนิดซึ่งมีสีเขียวสดใสงดงามอย่างชนิดงานศิลปะไม่อาจลอกเลียนได้...

...เรามาถึงจุดหมาย (กรุงเทพฯ) ในเวลาประมาณ 6 นาฬิกา มองเห็นแสงของหิ่งห้อยส่งประกายวาบวับเป็นจำนวนมาก เสียงที่เกือบจะเหมือนเสียงคนของตุ๊กแกส่งเสียงร้องบ่อยๆ การ้องเสียงดัง และสุนัขยิ่งเห่าดังกว่า ดูเหมือนว่าในเขตอากาศร้อนชื้นนี้จะมีความกระปรี้กระเปร่าอันน่าอัศจรรย์...”

แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่าน ‘บางกอก’ หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนั้น อดีตเคยคดเคี้ยวเป็นรูปเกือกม้า ปีพุทธศักราช 2085 สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระบัญชาให้ขุดคลองลัดตัดโค้งรูปเกือกม้า เชื่อมแม่น้ำตรงที่ปัจจุบันเป็นปากคลองบางกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่เข้าด้วยกัน กระแสน้ำที่ปรับเปลี่ยนไหลไปทางคลองลัด ซัดเซาะตลิ่งสองข้างให้กว้างขึ้น กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ซึ่งไหลผ่านด้านหน้าวัดอรุณราชวราราม และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการขุดคูคลองเพิ่มขึ้นอีกมากมาย จนกลายเป็นโครงข่ายการสัญจรทางน้ำที่ทั่วถึง นำมาซึ่งฉายา ‘เวนิสตะวันออก’

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ความเรืองรองของภูมิทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยาปรากฎต่อสายตาชาวโลกโดยมีฉากหลังอันตระการของพระปรางค์วัดอรุณเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ ขณะที่ชีวิตวัฒนธรรมรายรอบคือเสน่ห์ที่ไม่เคยเสื่อมคลาย

“เอกลักษณ์ของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ เราตั้งชุมชนอยู่ติดริมแม่น้ำเลย เพราะเมื่อก่อนเขาใช้เรือกัน บ้านช่องอะไรต่างๆ ก็ต้องอยู่ในส่วนของแม่น้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาใช้เป็นที่พื้นที่ในการสัญจรไปมาตลอดตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีที่ว่างระหว่างตลิ่งกับแม่น้ำ ปลูกกันติดในส่วนนั้นเลย” บวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เคยแสดงทัศนะถึงเอกลักษณ์ของเจ้าพระยาที่ไม่เพียงเป็นมรดกของคนไทยแต่ยังมีคุณค่าในระดับสากลว่า หลักฐานทางโบราณคดีมากมายยืนยันลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมน้ำมาตั้งแต่อดีต และถือเป็นโครงข่ายอันเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชุมชนริมแม่น้ำและลำคลองที่แยกสายออกไปอย่างน่าสนใจ

แม้ลักษณะทางกายภาพหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่นับจนถึงวันนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังคงหล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนมหาศาล ทั้งที่ตั้งถิ่นฐานสองฝั่งแม่น้ำ และที่อาศัยเป็นทางสัญจร ตลอดจนทำมาหากิน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น ไม่ว่าจะในการพระราชพิธีสำคัญ หรือในการจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ียว จึงไม่น่าแปลกใจ หากแม่น้ำสายนี้จะได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในแม่น้ำของโลกที่ควรหาโอกาสไปเยือนสักครั้ง

20160716150952271

..............................................

ท่ามกลางความเนิบช้าทว่าไม่เคยหยุดนิ่งของสายน้ำ ดูเหมือนว่าศักราชนี้กำลังมีจุดเปลี่ยนอีกครั้งเหนือฝั่งเจ้าพระยาตอนล่าง นั่นคือการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ‘ไอคอนสยาม’ ที่จะทำให้เจ้าพระยากลายเป็นแลนด์มาร์คทางธุรกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

ทว่าโฉมหน้าใหม่นี้จะทำให้ความเป็นแลนด์มาร์คทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมลดบทบาทลงหรือไม่ ภราเดช พยัฆวิเชียร คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า “มันจะไม่หายไปไหน ตราบใดที่ยังมีการจัดการที่ดี”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เสน่ห์ทางวัฒนธรรมของเจ้าพระยา คือ วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำซึ่งหาดูไม่ได้ในต่างประเทศ ถ้าการพัฒนายังรักษาทุนเดิมไว้ได้ ส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนาที่สอดคล้องกัน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้คนก็จะมีความสุข

“เสน่ห์มันจะยังอยู่ ถ้าไม่เกิดการทำลายในแง่ของมุมมอง ง่ายที่สุดคือไม่ควรมีอะไรมาขวางมาบัง ยกตัวอย่างวัดที่อยู่ริมน้ำทุกแห่ง เดิมทีมันคือหน้าบ้าน ฉะนั้นควรปรับทางขึ้นทางลงให้เหมาะสม มีท่าเรือที่เชื่อมโยงกันได้ ส่วนอาคารที่เป็นย่านธุรกิจ มีความทันสมัย ถ้าเราคุมในส่วนของกฎหมาย ในเรื่องผังเมืองได้ มันก็จะเป็นแลนด์สเคปที่สวย

เวลาเราถ่ายรูปเมืองโดยเฉพาะจากริมน้ำขึ้นไป มันก็จะไม่ได้มีแต่ตึกแบบฮ่องกง สิงคโปร์ แต่จะมีตึกกับยอดแหลมของวัด แลนด์สเคปของอาคารทรงไทย ความร่มรื่นที่มีต้นไม้ มีชุมชน มีลำคลองที่แยกซอยเข้าไป มันเป็นคุณค่าทั้งสิ้น เพียงแต่ต้นทุนพวกนี้ถ้าเราไปบ่อนเซาะมันเรื่อยๆ อีกหน่อยก็จะหมดค่าได้เหมือนกัน”

สำหรับโครงการไอคอนสยามที่กำลังจะเปิดตัวในอีกไม่กี่วันนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 55 ไร่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเขตคลองสาน มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำยาว 400 เมตรและพื้นที่ภายในอาคารกว่า 750,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยศูนย์การค้าที่หรูหรา 2 อาคาร คือ ไอคอนสยาม กับ ไอคอนลักซ์ รวมถึงคอนโดมิเนียมสุดหรูอีกสองอาคาร ภายในมีพื้นที่กิจกรรมต่างๆ อาทิ ICONSIAM Heritage Museum พิพิธภัณฑ์ขนาด 8,000 ตารางเมตร ศูนย์รวมมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทย ที่ไอคอนสยามดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดแสดงศิลปวัตถุล้ำค่าของไทยในยุคสมัยต่างๆ พร้อมทั้งมีนิทรรศการเคลื่อนที่จากทั่วโลก

River Park ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 10,000 ตารางเมตร รองรับการจัดงานระดับชาติที่ยิ่งใหญ่ และการแสดงโชว์ระดับโลก นอกจากนี้ยังมีศูนย์การประชุมขนาด 3,000 ที่นั่ง โรงภาพยนตร์ขนาด 10,000 ตารางเมตร รวมไปถึงโครงการที่สร้างกระแสไปก่อนหน้านี้ นั่นคือ ‘หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร’ ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นแลนด์มาร์คใหม่ด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ

ดังนั้นจึงมีความกังวลว่า นับแต่นี้กิจกรรมต่างๆ ที่เคยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณริมแม่น้ำในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ หรือระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวัดอรุณราชวราราม อาจมีการย้ายทำเลไปในจุดที่เป็นแลนด์มาร์คใหม่

“ผมคิดว่าตรงนั้นมันจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า โหนดของการสัญจรระหว่างบกกับน้ำ โดยผ่านโครงการที่มีศักยภาพ เท่าที่ฟังจะมีการเชื่อมต่อ รถ ราง เรือ แล้วเขาก็พยายามจะสร้างหอสูงวัฒนธรรมขึ้นมา ซึ่งก็เป็น nonprofit property ดำเนินการโดยมูลนิธิ แล้วก็ดึงสินค้าท้องถิ่นอะไรเข้ามา อันนี้ก็แล้วแต่ว่าโครงการเขารับผิดชอบขนาดไหน

สำหรับผม ไม่ได้หมายถึงเฉพาะโครงการนี้ ถ้าเอกชนเริ่มเห็นว่าการพัฒนาที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมเป็นเรื่องวิน-วิน เขาก็ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ แล้วมาเอื้ออำนวยกันแบบต่อเนื่อง เพราะว่าที่ติดกันก็จะมีโรงแรมอีกแห่งหนึ่ง ถ้าทำทางเดินต่อกันสามารถจะเดินเชื่อมกันไปเรื่อยๆ มันเกิดประโยชน์ทั้งหมด แล้วอะไรที่เป็นของชุมชน ของวัดก็ยังรักษาไว้ในลักษณะพื้นที่ทางวัฒนธรรม" ทั้งการพัฒนาและอนุรักษ์ก็ไปด้วยกันได้

อย่างไรก็ดี ภราเดชขีดเส้นใต้เงื่อนไขสำคัญว่า การพัฒนาโครงการใดๆ ก็ตาม ต้องตั้งอยู่บนกฎกติกา และพื้นฐานที่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม

“ตราบใดที่การพัฒนาเป็นการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบ การลงทุนการทำธุรกิจ เราไม่ควรจะไปรังเกียจถ้าเขาทำตามกฎกติกา แต่กฎกติกาถ้ามันไม่รัดกุมเราก็ต้องไปแก้ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดูการใช้สอยของเขา ดูการบริหาร ดูวัตถุประสงค์ของเขา ผมคิดว่าม้ันอาจจะเป็นตัวเสริมกันก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น โรงแรม ถ้าพร็อพเพอตี้ของโรงแรมเขาค่อนข้างสงวนว่าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลหรือเป็นกึ่งสาธารณะ คุณจะไปเดินผ่านริมแม่น้ำหน้าโรงแรมไม่ได้ถ้าเขาไม่ออกแบบไว้ แต่ลักษณะของไอคอนสยาม เท่าที่ผมเห็นแบบแปลน มันเป็นที่ที่เรียกว่าเป็นพับบลิคข้างหน้า คนเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ แล้วจะเข้าห้างไม่เข้าห้างก็อีกเรื่องหนึ่ง”

ในความเห็นของอดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยท่านนี้ การเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ริมแม่น้ำจึงไม่ใช่ปัญหา หากไม่ทำลายวิถีชีวิตวัฒนธรรมและภูมิทัศน์ของเจ้าพระยา ตรงกันข้ามหากใช้จุดเริ่มต้นตรงนี้ในการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของชุมชนที่อยู่รายรอบขึ้นมาใหม่ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ด้วยธุรกิจท้องถิ่นที่เชื่อมโยงจากการท่องเที่ยว รวมไปถึงกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนา จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

“ถ้าเราเข้าใจ เราเห็นค่าของทรัพยากรต้นทุนทางด้านศิลปวัฒนธรรม อาคารโบราณสถาน สถาปัตยกรรม แล้วมีการวางแผนที่ดีก็สามารถที่จะให้ภาคธุรกิจภาคเอกชนเขาเห็นคุณค่า มองว่าเป็นเรื่องวิน-วิน อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาได้”

20161103103741204

สำหรับภาครัฐเอง เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นและกำลังเกิดขึ้นไม่ทำลายคุณค่าของแม่น้ำสายสำคัญนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ระบบนิเวศของลำน้ำ ระบบการระบายน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรมริมน้ำ ที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสูงของอาคาร การเว้นว่าง(open space) หรือการถอยร่นจากแม่น้ำ เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยายังคงเปี่ยมเสน่ห์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

“ผมอยากให้ลองหลับตานึกภาพริมน้ำของสิงคโปร์ หรือแม้แต่ฮ่องกงเขาก็โชว์ มันก็ดึงดูดเหมือนกัน กลางคืนมีไฟสว่างไสว แต่ไม่มีอัตลักษณ์เหมือนของเรา ไม่ใช่ตึกอย่างเดียว เรามียอดพระบรมมหาราชวังซึ่งส่องสว่าง วัดโพธิ์ วัดอรุณ ซึ่งเป็นภาพแลนด์สเคปที่มีอัตลักษณ์”

ความงดงามและคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยา ลากเส้นจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากต้นธารชีวิตสู่ธุรกิจมูลค่ามหาศาล แต่ลมหายใจของแม่น้ำจะคงอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับสำนึกรับผิดชอบของผู้คนที่ร่วมใช้ทรัพยากรต้นทุนอันล้ำค่านี้

“ของบางอย่างเราบอกว่ามีศักยภาพ เหมือนเรามีเพชรก้อนหนึ่งที่ยังไม่เจียระไน ถ้าเราเจียระไนไม่รู้จักเหลี่ยม ไม่รู้จักทำอะไรให้เหมาะ ทันทีที่เพชรมันแตกออกไปแล้ว มันแก้ไม่ได้แล้ว” ภราเดช กล่าวในที่สุด

แม่น้ำเจ้าพระยาก็เช่นกัน หากไม่ตระหนักว่าคุณค่าคืออะไร ศักยภาพอยู่ตรงไหน แลนด์มาร์คที่วาดหวังไว้ก็อาจกลายเป็นแค่สัญลักษณ์ของความผิดพลาด