ลมใต้ปีกขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมยุคใหม่

ลมใต้ปีกขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมยุคใหม่

ชวนมองความเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมรุ่นใหม่ที่มีลำดับการจัดการจากรุ่นสู่รุ่นผ่าน นสธ.

เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสไปเยือนปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง อันที่จริงช่วง 3-4 ปีหลัง ด้วยการงานทางสังคมได้จัดสรรให้ผมลงไปปัตตานีเฉลี่ยแล้วปีหนึ่ง ก็ 2-3 ครั้ง แตกต่างตรงครั้งนี้ สถานที่พักนั้นเป็นที่เดียวกับการไปเยือนปัตตานีครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน ภาพคืนฝันของวันวานจึงย้อนกลับให้นึกถึง เพราะครั้งนี้ผมมาคนเดียว แต่ครั้งนั้นร่วมกองเกวียนขนาดใหญ่มากับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เกือบ 50 ชีวิต

นั่นเป็นกิจกรรมที่ถูกจัดโดย นธส. หรือแผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (แผนงาน นธส.) ซึ่งปัจจุบันมีการจดจัดตั้งเป็นสมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.)

การไปปัตตานีครั้งนั้น นอกจากอารมณ์ของความตื่นเต้นของการได้ไปเยือนดินแดนที่ถูกเรียกว่าพื้นที่ความไม่สงบ (ซึ่งแท้จริงแล้ว พอไปลงพื้นที่ในหลายๆหมู่บ้าน ผมก็รู้สึกว่าสงบดี) ผมยังได้ทำกระบวนทัศน์ 25 ปี ประเทศไทย โดยมี อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นวิทยากร ซึ่งเป็นการระดมความคิด หาวิธีการเปลี่ยนประเทศไทย แบบวางอนาคต 25 ปี ไว้เป็นตัวตั้ง คือกำหนดเป้าเลยว่าในปี 2580 เราคิดว่าประเทศไทยจะเป็นยังไง หน้าตาเป็นยังไง แล้วค่อยๆ วางแผนย้อนหลังกลับมา 

44118612_904490249940300_6590800192440631296_n

อ.ชัยวัฒน์บอกว่าวิธีการแบบนี้จะทำให้เราวางแผนได้อย่างมีจินตนาการ และไม่ติดเงื่อนไขเพดานทางความคิด ถ้าคิดแบบปีหน้าทำอะไรดีสภาพปัญหาในปัจจุบันจะเป็นอุปสรรคที่เราข้ามไปไม่พ้น ดังนั้นการวางเป้าหมายเป็นดาวไว้ไกลๆ แล้วค่อยๆ วางแผน กำหนดธงที่จะไปถึงในแต่ละปี ย้อนหลังกลับมาจะทำให้เราใช้จินตนาการได้มากกว่า

ถือเป็นวิธีการใหม่ที่ผมและนักกิจกรรมรุ่นใหม่หลายคนพึ่งเคยเจอ ไม่รู้ว่าบรรดาท่านๆ ที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใช้วิธีการเดียวกันนี้รึป่าว (ฮา)

หลังจากนั้น ผมก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมของนธส. อีกหลายครั้ง ทั้งวงเล็กบ้าง วงใหญ่บ้าง วงที่เอานักกิจกรรมรุ่นใหม่ไปถกเถียง แลกเปลี่ยนกับนักกิจกรรมรุ่นเก๋าบ้าง (ผมไม่ใช้คำว่าเก่า แต่ใช้คำว่าเก๋าด้วยประสบการณ์ที่มากกว่า) จนต่อมาก็เห็นว่านธส. มีหลักสูตรให้สมัครเข้าไปเรียนรู้ระยะยาว เช่น นักขับเคลื่อนสังคม นักจัดระบบชุมชน และนักยุทธศาสตร์ ซึ่งเดิมทีผมสนใจอยากเรียนรู้หลักสูตรนักขับเคลื่อนสังคม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้มีโอกาสสมัคร ก็เลยได้แต่เฝ้าดูกิจกรรมของนธส.แบบวงรอบนอกของไข่ขาว คือ เฉียดไปเฉียดมา ไม่ได้เข้าไปเป็นไข่แดง เหมือนพี่ๆ นักกิจกรรมทางสังคมหลายคน

ต่อมาอยู่ๆ ก็ได้ยินการนับรุ่นในวงการ NGO ว่า ฉันเป็น นธส.รุ่นนั้น รุ่นนี้ หรือนักขับเคลื่อนสังคม รุ่น 3 นักจัดระบบชุมชน รุ่น 2 และเห็นบทบาทการทำงานของคนที่ผ่านหลักสูตรการอบรมของนธส. กระจายอยู่ตามสายงานพัฒนาต่างๆ ทั้งงานร้อนงานเย็นไปทั่วยุทธภพของการทำงานทางสังคม

จำเพาะเหมาะดีวันหนึ่งได้เจอกับ พี่ชีวิน อริยะสุนทร หนึ่งในทีมงาน นธส. รุ่นก่อตั้ง เลยแอบถามแกเบาๆ ว่ า ตกลงนธส.เป็นแหล่งทุนหรือศูนย์ฝึกอบรมกันแน่ พี่ชีวินหัวเราะก่อนตอบว่า “นธส.ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแหล่งทุน แต่ก็พอจะมีทุนให้ทำงานบ้าง ซึ่งก็ต้องไปขอมาจากแหล่งทุนอื่นอีกที แต่สิ่งที่นธส.อยากจะเป็นคือลมใต้ปีกที่คอยหนุนเสริมการขับเคลื่อนคนที่ทำงานทางสังคม”

44213204_185328875730372_3616100487406813184_n

ฟังคำตอบแล้ววาบความรู้สึกแรก ผมสารภาพเลยว่า ยังนึกภาพไม่ออก แต่พอพี่ชีวินอธิบายต่อว่าถ้าเรานึกถึงภาครัฐหรือภาคธุรกิจ เขาจะมี วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งมีหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ.) หรือช่วงหลังๆ ก็มีการอบรมหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า เหล่านี้ล้วนเป็นหลักสูตรการอบรมระยะยาวที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและเอกชนเข้าไปเรียนโดยฝึกปฏิบัติการวางแผน และนโยบายระดับชาติ การพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ แต่ผลพลอยได้คือ การสร้างเครือข่ายอำนาจทั้งรัฐและทุน ซึ่งเรามักจะเห็นกันด้วยทั่วไป

“แต่ในแง่หลักคิดของนธส. เราทำงานหนุนเสริมโดยเชื่อมั่นในการทำงานเปลี่ยนแปลงจากฐานราก ความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมจากคนธรรมดา คนที่อยู่ชายขอบของการพัฒนา คือไม่ใช่เป็นแบบการสร้างเครือข่ายข้าราชการระดับสูงกับนักธุรกิจชั้นนำ เขาอาจจะเชื่อแบบนั้นก็ทำไป แต่เราเชื่ออีกแบบ”

“จริงๆ นธส.เชื่อว่าองค์ความรู้ทางสังคมมันไม่หยุดนิ่ง และคนในขบวนการทางสังคม ซึ่งทำงานในพื้นที่ชายขอบต่างๆ ก็เรียนรู้พัฒนากับเงื่อนไขบริบทเชิงประเด็นของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นหลักสูตรการอบรมของนธส.จึงเพียงทำหน้าที่เสริมศักยภาพ และเอาบทเรียน เอาองค์ความรู้ของแต่ละคนมาถอดบทเรียน สรุปบทเรียน แล้วกระจายให้ผู้อื่นได้เรียนรู้"

คือเราไม่ได้ทำตัวเป็นนักฝึกอบรมแบบคุณพ่อรู้ดีไปเสียทุกอย่าง แต่นธส. ทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้คนเหล่านนี้มาเจอกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

นธส. พึ่งจดจัดตั้งเป็นสมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (สมาคม นธส.) เมื่อปลายปี 2560 และกำลังเปลี่ยนผ่านการทำงานจากทีมทำงาน (ซึ่งพี่ชีวินบอกว่าจริงๆแล้วมีไม่ถึง 10 คน) ไปสู่รูปแบบกรรมการสมาคมฯ ซึ่งมาจากตัวแทนของนักกิจกรรมที่ผ่านหลักสูตรต่างๆ ของนธส. ในช่วง 4-5 ที่ผ่านมา แน่นอนว่ารูปแบบใหม่นี้จะสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้นในเชิงของวิธีการทำงาน ส่วนในแง่เงินทุน การเป็นสมาคมก็สามารถระดมทุนได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งถือเป็นรูปแบบการจัดองค์กรของการทำงานทางสังคมอีกแบบหนึ่ง

สิ่งสำคัญของการทำงานทางสังคม คงไม่ใช่เรื่องแค่ว่าเรากำลังสู้เรื่องอะไรเพียงอย่างเดียว หากแต่เราต้องรู้ด้วยว่ากำลังสู้อยู่กับใคร และสู้เพื่ออะไร สำหรับ นธส.เขาประกาศชัดว่าอยากจะเป็นลมใต้ปีกที่หนุนเสริมนกเสรีให้โบยบินในการทำงานทางสังคม แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะหนุนเสริมนกทุกตัว เขาจะดูด้วยว่านกตัวนั้นจะบินไปไหน บินไปเพื่ออะไร เขาบังคับนกให้บินไม่ได้

อย่างไรก็ดี นกแต่ละตัวต้องเลือกเป้าหมายในการบินของตัวเอง เลือกวิธีการบินของตัวเอง กระพือปีกอย่างมาดมั่น แล้วลมอุ่นๆ จะหนุนเจ้าให้ลอยขึ้นบนท้องฟ้า