เที่ยว 3 วัด งามเด่นทางศิลป์

เที่ยว 3 วัด  งามเด่นทางศิลป์

หากจะเที่ยววัด ถ้าไม่ไหว้พระ ก็เพลิดเพลินกับศิลปะ และสถาปัตยกรรมในวัดได้

 

 

เวลาไปเที่ยววัด สิ่งที่ฉันชื่นชมมากเป็นพิเศษ ก็คือ การเดินชมศิลปะ ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมในวัด

ถ้าจะเที่ยวให้สนุก ต้องเดินตามผู้รู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปะที่คอยอธิบายให้ความรู้ ซึ่งปัจจุบันก็มีกลุ่มที่จัดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอยู่บ้าง ยิ่งเราเข้าใจวิธีคิดและวัตถุประสงค์ในการสร้างวัดนั้นวัดนี้สักนิด รู้ที่มาที่ไปสักหน่อย ก็จะเชื่อมโยงกับยุคสมัยได้

เที่ยววัด ชมโบราณสถาน จึงเป็นอีกทางของการท่องเที่ยว...

 

1.พระตำหนักวัดบวรฯ

ฉันเคยไปเที่ยววัดบวรนิเวศวิหาร ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่งได้เยี่ยมชมพระตำหนักต่างๆ

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร บนถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ ส่วนในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุต

      นอกจากจะมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์แล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้อัญเชิญบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ซึ่งเป็นพระประธานองค์หนึ่งของวัด และใต้ฐานบัลลังก์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

วัดแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมพระตำหนักหลายรัชกาลที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคที่เริ่มเปิดรับอารยธรรมตะวันตก

ที่นี่จึงมีอาคารที่งดงามและหาชมได้ยากหลายแห่ง อาทิ พระตำหนักจันทร์,พระตำหนักเพ็ชร ,พระตำหนักเดิม พระตำหนักทรงพรต พระตำหนักซ้าย พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักล่าง และพระตำหนักปั้นหยา ฯลฯ

วัดบวรนิเวศเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 เนื่องจากพระองค์เคยทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระชนมพรรษา 29 พรรษา เป็นเวลา 15 วัน และประทับขณะทรงผนวช ณ พระตำหนักปั้นหยา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2499

พระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงที่ทรงผนวชที่ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี ส่วนใหญ่ถ่ายด้านในพระตำหนักปั้นหยา ซึ่งไม่อนุญาติให้สตรีเพศเข้าออก ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 )

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีหลายรัชกาล และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทรงผนวช และประทับที่พระตำหนักปั้นหยา

ส่วนพระตำหนักเพ็ชร ซึ่งอยู่ติดกับพระตำหนักจันทร์ เป็นตำหนักที่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2457 และที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น

พระตำหนักแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ด้านนอกมีความเป็นไทย ด้านในตกแต่งแบบคลาสสิค หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระล้อมด้วยลายเครือเถา เคยเป็นท้องพระโรงที่เจ้านายที่เป็นภิกษุสงฆ์ใช้ ปัจจุบันด้านในยังมีพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะของร.4 ประดิษฐาน ซึ่งเหมือนพระองค์จริง

เพราะความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระตำหนักเพ็ชร จึงได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539

ส่วนพระตำหนักจันทร์ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษจันทร์ ทรงพระราชทานอุทิศให้สร้างถวาย มีพระแท่นศิลาหน้าพระตำหนักจันทร์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดประทับพักผ่อนซึ่งเป็นหลักฐานอีกชิ้นทางประวัติศาสตร์

พระตำหนักปั้นหยา  ตึกสามชั้นสไตล์ยุโรป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อมาจากสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่2) เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช ต่อมาเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวช และเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักนี้ก่อนไปประทับที่อื่น

หน้าบันพระตำหนักปั้นหยา เป็นลวดลายปั้นเครือเถาดอกพุดตาน ล้อมรอบราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยฝีมือช่างไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในอาคารมีห้องพระ ห้องบรรทม และห้องทรงพระอักษร รวมถึงศิลาจารึกพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 4 จารึกไว้ว่า “ห้ามไม่ให้สตรีเพศเข้าออก” เนื่องจากพระองค์ไม่โปรดให้ผู้หญิงขึ้นมาในสถานที่ของสมณะ

นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักที่สำคัญอีกแห่ง คือ พระตำหนักทรงพรต เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวชหลังจากประทับที่พระตำหนักปั้นหยา 1 คืนตามพระราชประเพณี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็เคยประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้

ว่ากันว่า ในอดีตวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดในเขตคลองผดุงกรุงเกษม

 

2. สไตล์ฝรั่งในวัดประยูรฯ

เป็นครั้งแรกกับการเยือนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี ที่นี่โดดเด่นในเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ จนได้รางวัลจากยูเนสโก้ ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

วัดแห่งนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างให้ชม

เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2375 ได้ถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” ชาวบ้านเรียกว่า “วัดรั้วเหล็ก”

มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้ เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สั่งเข้ามาจากอังกฤษ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 3 ใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่ไม่โปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายเท่าน้ำหนักเหล็กแลกกับรั้วเหล็ก

วัดนี้เป็นเสมือนประตูรับแขกของชาวฝั่งธน มีอายุกว่า 185 ปี เป็นศิลปะแบบนีโอคลาสสิกสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างพรินทร์ปริยัตติธรรมศาลา ที่ปัจจุบันเรียกว่า ประยูรภัณฑาคาร เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในพุทธศาสนาและพุทธศิลป์รูปแบบใหม่ สร้างตามสไตล์ตะวันตก

ว่ากันว่า ในสมัยก่อน ถ้าล่องเรือมา แล้วเห็นพระปรางค์วัดอรุณ ก็หมายถึงเข้าเขตบางกอกแล้ว และถ้าเห็นยอดเจดีย์สีขาว วัดประยุรวงศาวาส ก็หมายถึงได้เข้าเขตแดนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 4 แล้ว พระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่นี้เป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

      “วัดนี้แปลกมากสามารถเดินเข้าไปที่ตัวเจดีย์ได้ ปกติเจดีย์ทั่วไปจะไม่สามารถเดินลึกไปถึงแกนด้านในได้ แต่เจดีย์นี้สร้างด้วยเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก ทั้งๆ ที่อยู่ริมน้ำ แต่ปรากฎว่า แกนในเจดีย์หัก จนมีการบูรณะ เจดีย์กลับมาตรงได้เหมือนเดิม” จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรมเล่าถึงการบูรณะ จนได้รางวัลจากยูเนสโก้ โดยด้านในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ จะมีเสาขนาดใหญ่ค้ำยัน และดูสงบเงียบเหมาะกับการนั่งสมาธิ

ส่วนพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมผสานผสานแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ลดทอนเครื่องบน อย่างบัวหัวเสา ทำเสาพาไลรับชายคา แต่ยังคงเครื่องบนตามแบบประเพณีนิยม มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน ซึ่งในเวลาต่อมามีการสร้างวัดวาอาคารลักษณะนี้มากขึ้น

และที่พลาดไม่ได้เลย ก็คือ เขามอ ภูเขาจำลองสร้างจากแนวคิดหยดเทียนขี้ผึ้ง ที่ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานขี้ผึ้งแก่สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เขามอสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปปางไสยาสน์ และพระพุทธรูปสำคัญๆ

สมัยก่อนเขามอเป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญในตระกูลสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่พักสายตาและผ่อนคลายสบายๆ สำหรับคนมาเที่ยววัดแห่งนี้ เพราะมีทั้งต้นไม้และสายน้ำเป็นองค์ประกอบ

นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอก ในบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) เก็บไว้ เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในงานฉลองวัด  ซึ่งเคยทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ จนเกิดระเบิด ทำให้มีคนล้มตาย หมอบรัดเลต้องมาช่วยผ่าตัดสดครั้งแรกที่วัดประยุรวงศาวาสในวันฉลองวัดนั่นเอง

นี่คือ วัดในฝั่งธนบุรีที่โดดเด่นวัดหนึ่ง

 

3.วัดเบญจมบพิตรฯ

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงรับจ้างถ่ายรูปด้วยฝีมือพระหัตถ์ของพระองค์เองในงานรื่นเริงทีี่่จัดขึ้นในวัดเบญจมบพิตรฯ เพื่อหาเงินเข้าวัด และราษฎรก็จะมีโอกาสเข้าเฝ้าในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ     

หากใครอยากชื่นชม สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ต้องมาเที่ยววัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน เจ้านายเรียนจบจากเมืองนอก มาพบปะกับสตรีชั้นสูง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเจ้านาย 5 พระองค์ คือ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์,กรมพระพิทักษ์เทเวศร์,พระองค์เจ้าหญิงวงศ์,กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ และพระองค์เจ้าหญิงอินทนิล ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดที่ชื่อว่า วัดเบญจบพิตร

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระประสงค์จะใช้พื้นที่ในวัดสร้างพลับพลาในพระราชอุทยานสวนดุสิต จึงสถาปนาวัดขึ้นใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2442 และพระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จึงเป็นวัดของพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 5

ว่ากันว่า เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบวัดแห่งนี้ได้งดงามเทียบเท่านานาชาติ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ โดยออกแบบพระอุโบสถทำเป็นวิหารคดรอบด้าน ลงรักปิดทองทึบ หน้าบันจำหลักลายไทยประกอบภาพตราต่างๆ ลงรักปิดทองประดับกระจก

รอบๆ พระอุโบสถที่ปูด้วยหินอ่อน มีพระพุทธรูปปางต่างๆ กว่า 50 องค์ ทั้งอิริยาบทนั่ง ยืน  นอน และที่น่าสนใจ ก็คือ พระพุทธรูปปางลีลาสององค์ ดีไซน์เหมือนมีกรอบเป็นซุ้มกลีบบัว ขณะที่พระพุทธรูปองค์อื่นๆ อยู่ในช่องเสาธรรมดา

ในอดีตกาล วัดแห่งนี้เป็นวัดนอกเขตคลองผดุงกรุงเกษม ปัจจุบ้ันอยู่บนถนนพระราม 5 เขตดุสิต

................

พระพุทธรูปในวัดเบญจมบพิตร