‘กล้วย’มังกร หอมแต่ไม่หวาน

‘กล้วย’มังกร หอมแต่ไม่หวาน

เปิดงานวิจัยสวนเกษตรย้ายที่ภายใต้อิทธิพลจีน โอกาสและความเสี่ยงของสังคมไทย

กล้วยเปลือกสีเขียวลูกโตหวีใหญ่ แม้จะไม่ใช่กล้วยพันธุ์ใหม่ที่คนไทยเพิ่งเคยรู้จัก แต่ ‘กล้วยหอมเขียว’ ที่เรียกกันติดปาก หรือในชื่อทางการว่า ‘กล้วยหอมคาเวนดิช’ กำลังถูกจับตามองทั้งในแวดวงการเกษตร ส่งออก สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ด้วยข้อมูลเบื้องต้นว่า

กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช เป็นกล้วยเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก แต่ละปีมีปริมาณการบริโภคกว่า 100-120 ล้านตัน มูลค่ากว่าล้านล้านบาททั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 95% โดยมีประเทศผู้ผลิตลำดับต้นๆ ได้แก่ เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์และอเมริกาใต้ ประเทศผู้บริโภคและนำเข้ารายใหญ่ คือ อเมริกา ยุโรปและจีน

กล้วยหอมเปลือกหนานี้มาพร้อมกับรสชาติหวานน้อย ให้พลังงานน้อย ไม่เพียงถูกปากคนทั่วโลก ยังเป็นกล้วยที่มักเห็นนักกีฬากินก่อนหรือระหว่างพักแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านสุขภาพได้อีกทางหนึ่ง

ทว่า จุดใหญ่ใจความอยู่ที่ ‘จีน’ ผู้บริโภครายใหญ่ของโลกเล็งเห็นโอกาสในการลงทุน ภายใต้นโยบาย Going Out Policy ของรัฐบาล นักลงทุนจีนเริ่มขยับขยายสวนเกษตรขนาดใหญ่มาลงหลักปักฐานในต่างแดน รวมถึงประเทศไทย ท่ามกลางข่าวลบเรื่องสารเคมีอันตราย กลายเป็นที่มาของโครงการวิจัย 'สวนเกษตรย้ายที่ อิทธิพลจีนกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเกษตรในภาคเหนือของไทย' โดยการสนับสนุนของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งใช้เวลาเก็บข้อมูลกว่า 1 ปีในพื้นที่สวนเกษตรแปลงใหญ่ อ.พญาเม็งราย และแปลงเล็กที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมถึงสวนกล้วยแบบ ‘ลูกไร่’ ใน จ.พะเยา

สวนแห่งโอกาสและความท้าทาย

แม้ไทยจะผลิตกล้วยหอมสดส่งออกไปตลาดจีนและญี่ปุ่นมานานกว่า 15 ปีแล้ว แต่ตัวเลขแห่งโอกาสเพิ่งปรากฎขึ้นในช่วงปี 2557 -2560 เมื่อมูลค่าการส่งออกกล้วยหอมสดไปจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะในปี 2560 มีอัตราขยายตัวสูงถึง 48.82%

“มูลค่าการส่งออกกล้วยหอมสดในตลาดจีนช่วงปี 2557 อยู่ที่ 200 กว่าล้านบาท พอปี 2558 ไปที่ 300 กว่าล้านบาท ปี 2560 สูงถึง 350 ล้านบาท เหตุที่เราเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2557 เพราะมันมีการก้าวกระโดดไปแตะที่ 200 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยังอยู่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และที่น่าสนใจคือปี 57-58 เป็นปีที่ใกล้กับสวนกล้วยพญาเม็งรายเริ่มกิจการ แล้วตัวเลขมันดีดขึ้นไป”

ผานิตดา ไสยรส อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้สัญญาณการเติบโตของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ที่มาพร้อมกับรูปแบบที่หลากหลายของนักลงทุนชาวจีน ไม่ว่าจะเป็น การร่วมทุนกับคนไทยเพื่อจดทะเบียนบริษัท หรือการสร้างเครือข่ายธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนปลูกกล้วยหอมแบบ 'ลูกไร่'

“ในงานวิจัยชิ้นนี้ สวนกล้วยหอมเขียวคาร์เวนดิชที่ อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย เป็นจุดสนใจแรก พื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 2,700 ไร่ มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนไทย แต่คนที่ดูแลจะเป็นนักลงทุนจีนเป็นหลัก มีผู้จัดการชาวจีน นักเทคนิคจีนเข้ามาสอนเทคนิคการเกษตร ส่วนการตลาดเขาก็จะส่งขายกลับไปที่จีน” อ.ผานิตดา นักวิจัยโครงการสวนเกษตรย้ายที่ฯให้ข้อมูล พร้อมทั้งอธิบายถึงการปรับตัวของนักลงทุนจีนว่า หลังจากสวนเกษตรแปลงใหญ่หายากและประสบปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เริ่มมีการลงทุนในแปลงที่เล็กลง รวมไปถึงจับมือกับนักลงทุนในประเทศ

“ตอนนี้เขาเริ่มขยายเพราะอยากได้ผลผลิตไปส่งตลาดจีนให้ครบออร์เดอร์ แต่ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่เป็นพันๆ ไร่ ที่ อ.เชียงของ เราพบว่าจดทะเบียนเป็นไทยนี่แหละ แต่มีบริษัทจีนเข้ามาดูแลใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้น ส่งนักเทคนิคจีนเข้ามาเลย ตั้งแต่เรื่องลงแปลง เรื่องการตลาด ซึ่งอันนี้เป็นแปลงเล็กประมาณ 90 ไร่ อีกที่หนึ่งคือ พะเยา มีสวนกล้วยหอมเขียวคาร์เวนดิชปลูกเพื่อส่งออกจีนเหมือนกัน เป็นที่ดินแปลงเล็กประมาณ 100 ไร่ เจ้าของสวนเป็นคนไทย เขาใช้วิธีการที่เรียกว่า ลูกไร่ ชวนเกษตรกรมาทำ Contract farming ซึ่งแม้จะไม่ใช่นักลงทุนจีนโดยตรง แต่ว่าอิทธิพลของความต้องการที่มันเยอะ ก็ส่งผลให้ลูกไร่กล้วยหอมเขียวมันขยายออกไปที่อื่นๆ”

ที่ผ่านมาเครือข่ายใหญ่อย่าง ‘กลุ่มบ้านช้างไทยแลนด์’ มีลูกไร่กระจายอยู่ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศกว่า 5,000 ไร่ ขณะที่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารก็เริ่มส่งเสริมการปลูกกล้วยชนิดนี้ โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นแหล่งปลูกรายใหญ่ของโลก ซึ่งมองอย่างผิวเผินนี่อาจจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย แต่สำหรับนักวิจัยที่ตามติดผลกระทบในเรื่องนี้มองว่า ความท้าทายอยู่ที่ ‘ความรู้’ เท่าทัน และมาตรการในการคัดกรอง ควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงท้องถิ่นชุมชน

“ประเด็นน่าเป็นห่วงคือ ความอ่อนแอของมาตรการปกป้องและการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย รวมทั้งศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ซึ่งในอนาคตหากมีการขยายตัวของเกษตรแปลงใหญ่อื่นๆ เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านต่างๆ ตามมาและอาจเกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้นหากยังไม่มีแนวทางเพื่อรองรับ หรือมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่”

20160705131943204

 

หายนะจากเคมีและการกดขี่แรงงาน

ภาพผืนดินที่ชุ่มโชกไปด้วยสารเคมี เสื่อมโทรมจนไม่สามารถเพาะปลูกได้อีก แหล่งน้ำธรรมชาติกลายเป็นบ่อพักน้ำเสีย แรงงานสวนกล้วยเจ็บป่วยรายวัน ตามมาด้วยข่าวรัฐบาลลาวออกมาตรการห้ามไม่ให้นักลงทุนจีนเช่าที่ดินเพื่อปลูกกล้วยอย่างเด็ดขาด คือคำเตือนที่ส่งมาถึงเมืองไทยตั้งแต่แรกๆ ที่สวนกล้วยทุนจีนเคลื่อนย้ายมายังภาคเหนือของไทยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ปัญหาสารเคมีเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน มันโด่งดังขึ้นมาจากกรณีที่ลาว เมื่อพบว่ามีสวนกล้วยจีนที่พญาเม็งรายก็มีการออกข่าวแง่ลบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ช่วงประมาณปี 59 ทางอำเภอได้ให้โรงพยาบาลท้องถิ่น ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์มาตรวจสารเคมี เท่าที่ได้อ่านจากรายงาน ถามว่ามีสารเคมีมั้ย มันมี แต่ประเด็นสำคัญคือเราไม่สามารถที่จะบอกว่านี่คือสารเคมีที่มาจากสวนกล้วยร้อยเปอร์เซนต์ เพราะในพื้นที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างอื่นอยู่แล้ว ฉะนั้นก็เป็นการยากที่จะฟันธง” อ.ผานิตดา ชี้โจทย์ยากและว่า สิ่งที่ชัดกว่าคือการแย่งชิงทรัพยากร

“สวนกล้วยพญาเม็งรายตั้งอยู่ในลุ่มน้ำอิง บริเวณนั้นจะมีลำห้วยซึ่งเชื่อมกันอยู่ เคยมีข่าวว่ามีการแย่งน้ำ คนที่อยู่ท้ายน้ำไม่พอใจ เพราะว่าน้ำถูกดึงไปใช้เยอะที่สวนกล้วยจนต้องมีการยื่นเรื่องกับอำเภอ ก็มีความตึงเครียดเกิดขึ้น แต่ว่าตอนหลังเขาพยายามที่จะแก้ปัญหา สร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งช่วงหลังๆ โชคดีที่มันมีน้ำเต็ม เรื่องก็เลยเงียบไป แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นหลักประกันในระยะยาว”

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเดิมของชาวบ้าน การทำลายความมั่นคงทางอาหารของคนท้องถิ่น แต่ถ้าถามถึงผลกระทบที่น่าเป็นห่วงที่สุด นักวิจัยแสดงความกังวลเรื่องสิทธิของแรงงานในสวนกล้วยมากที่สุด เนื่องจากระยะหลังแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากต่างถิ่น รวมถึงแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพ และยังพบความไม่เป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง

“สิ่งที่เราพบเรื่องการใช้สารเคมีก็คือ การป้องกันตัวเอง หรือการได้รับความรู้ว่าต้องป้องกันตัวเองอย่างไรยังไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือ ถ้าเป็นแรงงานจากต่างถิ่นหรือแรงงานชาติพันธุ์ เวลาที่เขาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียง เขาจะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพแบบคนท้องที่ได้ ส่วนเรื่องค่าแรงเราพบว่ามันก็มีการขูดรีดกันเองบ้าง มีการพูดกันว่ากลุ่มนี้ได้ไม่เท่ากับอีกกลุ่มหนึ่ง”

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเปรียบเหมือนการซ้ำเติมปัญหาเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้สารเคมีในการเกษตร การถูกขูดรีดของกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง แม้ว่าการเข้ามาของทุนจีนด้านหนึ่งจะสร้างรายได้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ในภาพใหญ่คงต้องพิจารณากันต่อไปว่าคุ้มหรือไม่

“เพราะว่ามันคือการแลกทรัพยากรจำนวนมหาศาลกับการทำเกษตรแปลงใหญ่ ถามถึงผลได้ผลเสีย ก็ต้องถามว่า ใครได้ แน่นอนคนที่ให้เช่าที่ดินก็ต้องได้ แรงงานจำนวนหนึ่งได้จากค่าแรง แล้วก็คนที่ขายผลผลิตได้กล้วยไปขาย ทีนี้ถามว่า ใครเสีย ทรัพยากรที่เราแลกไปมันคุ้มหรือเปล่า สิ่งแวดล้อมที่ต้องกระทบในระยะยาวคุ้มหรือเปล่า แล้วตัวของแรงงานเองผลกระทบด้านสุขภาพมันคุ้มหรือเปล่า” อ.ผานิตดา ชวนหาคำตอบ

ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลระหว่างผลได้ผลเสีย มาตรการต่างๆ จำเป็นต้องถูกออกแบบให้รัดกุมและทันเวลา ไม่ว่าจะเป็น การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในกรณีสวนเกษตรแปลงใหญ่ การบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หรือการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในที่สุด

ก้าวใหม่ สวนกล้วยสัญชาติไทย

เมื่อสวนเกษตรแปลงใหญ่สะสมปัญหาไว้มากมายเบื้องหลังผลผลิตที่สวยงามได้มาตรฐาน ไม่เพียงนักลงทุนชาวจีนเท่านั้นที่ปรับตัว เกษตรกรสัญชาติไทยก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน สวนกล้วยห้วยเกี๋ยง จ.พะเยา ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวเพื่อให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยศักยภาพของตนเอง และพยายามลบภาพสารเคมีอันตรายและการใช้แรงงานต่างชาติออกจากสวนกล้วยหอมคาร์เวนดิช

‘อาหย่ง’ ประสาธน์ เปรื่องวิชาธร ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช้างไทยแลนด์ เล่าว่าเขาเคยไปทำงานกับนายทุนจีนที่ไปลงทุนทำสวนกล้วยในลาว และโชคดีที่เป็นเกษตรปลอดภัย ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการปลูกกล้วยแบบไม่ใช้สารเคมีอันตราย เมื่อกลับมาอยู่ที่พะเยาเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วจึงได้มาทดลองปลูกกล้วยหอมคาร์เวนดิชตามเทคนิคจีน แล้วนำมาผสมผสานกับความรู้ด้านการเกษตรของตนเอง พบว่าได้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน

จากนั้นอาหย่งเริ่มชักชวนเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงให้หันมาปลูกกล้วยพันธุ์ดังกล่าวในลักษณะ ‘ลูกไร่’ โดยเขาเป็นผู้จัดหากล้าพันธุ์ให้ แนะนำวิธีการเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว และจัดการเรื่องการตลาดให้กับเกษตรกรในเครือข่าย ซึ่งมีทั้งตลาดต่างประเทศอย่าง จีน เวียดนาม ตะวันออกกลาง และตลาดในประเทศ รวมไปถึงการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย

กล้วย_๑๘๐๙๑๑_0006

ถึงอย่างนั้น เขามองว่าความสดใสของการส่งออกกล้วยหอมคาร์เวนดิชอาจไม่ยั่งยืนถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ คล้ายๆ กับความเห็นของนักวิจัยที่มองว่าพืชเศรษฐกิจจะมีการขึ้น-ลงของราคา ถ้าหากกล้วยหอมเขียวคาร์เวนดิชเป็นทางเลือกของพืชเศรษฐกิจจริงๆ การเข้ามาสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ เรื่องการประกันราคาที่เหมาะสมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทว่าในขณะเดียวกันก็ต้องเลือกว่าจะเน้นปริมาณ หรือคุณภาพ

“จริงๆ ตอนนี้ผมอยากให้มีสมาคมกล้วย คนจีนทุกคนที่จะเข้ามาซื้อกล้วยต้องมาติดต่อจุดนี้ คนไทยที่มีกล้วยทุกคนต้องมาติดต่อจุดนี้ จีนก็จะไม่โกง เกษตรกรก็จะไม่เบี้ยว ผมให้โมเดลไปเลยว่าทำอย่างไรจะรู้ว่ากล้วยนี้มาจากสวนใคร

เคยคิดว่าน่าจะใช้รหัสไปรษณีย์ เพราะมันบอกรหัสจังหวัดรหัสอำเภอ แล้วเราต่อท้ายอีก2-3 ตัว เช่น 01 ลุงแก้ว, 02 ลุงคำ, 03 ลุงมา ประทับข้างกล่องเลย ของใครเสียหายเช็คได้ ซึ่งอันนี้ผมคิดเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้เป็นคิวอาร์โค้ดได้ ก็คิดต่อว่าถ้าเอาไปแปะที่กล้วยของเราเลย พอเขาสแกนดูก็เห็นวิวสวน เห็นต้นกล้วยก็จะน่าจะดี” อาหย่งเสนอแนวทางที่จะทำให้กล้วยทุนไทยมีมาตรฐานได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ขณะที่ในอีกมุมหนึ่ง ทีมวิจัยก็เชื่อว่าอิทธิพลจีนในสวนเกษตรย้ายที่จะยังคงอยู่ต่อไปในประเทศแถบนี้ และจะขยายไปยังพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ซึ่งการลงทุนในสวนเกษตรแปลงใหญ่ถือเป็นความได้เปรียบของนักลงทุนจีน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการทั้งเชิงรุกและตั้งรับ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิเช่น

การสร้างกลไกการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน การบังคับใช้กฎหมายพื้นที่สาธารณะอย่างจริงจัง ชดเชยการใช้ทรัพยากรที่ชุมชนเคยเป็นเจ้าของ กำหนดสัดส่วนการจ้างงานท้องถิ่น ตรวจสอบผลกระทบและสารตกค้างในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ พิจารณาเงื่อนไขการลงทุน ตลอดจนสัญญาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหลังเลิกกิจการ

เพื่อให้กล้วยคาร์เวนดิชที่ปลูกบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะโดยนักลงทุนสัญชาติใด หอมหวานสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง