กฎหมายจ้างงาน "ให้โอกาส" หรือ "ทำลาย" คนพิการ

กฎหมายจ้างงาน "ให้โอกาส" หรือ "ทำลาย" คนพิการ

ชวนมองกฎหมายจ้างงานคนพิการที่จริงๆ แล้วน่าจะเป็นช่องทางการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนพิการ แต่จริงๆ แล้วกลับเป็นช่องโหว่ของการคอรัปชั่นขนาดใหญ่

ถึงคนพิการในประเทศไทยได้รับสิทธิตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และยังมีกองทุนที่จะช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น อันเป็นเจตนารมย์ของกฎหมาย พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งงบประมาณสวัสดิการจากรัฐ และกองทุนต่างๆ

รวมกัน ประเทศไทยต้องสนับสนุนคนพิการ หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นประชากรประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรรวม 

20180105121600508

ผู้เขียนอยากให้คนพิการ และผู้เกี่ยวข้องกับคนพิการ เช่น ผู้ดูแลคนพิการ ญาติ เพื่อนๆ ได้ตระหนักว่า รัฐบาลยังต้องดูแลคนอีก 97 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้ว คนพิการมีสิทธิ์มากมาย พวกเราควรที่จะปฏิบัติ อย่างเข้มข้น ไม่ให้ใครมาละเมิดสิทธิคนพิการ มาเอาเปรียบ อย่าไปร่วมมือเพราะเห็นแก่เงินส่วนต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ หรือผมเรียกว่า “เศษเงิน” ทำให้เกิดการคอรัปชั่น โกงสิทธิคนพิการ อย่างไม่เกรงกลัวฟ้าดิน 

ไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย บทลงโทษ พวกนี้ไม่กลัวกันแน่นอน ชาติหน้าจะเป็นอย่างไรไม่สน สนแต่ชาตินี้ต้องสุขสบาย มีบ้านหลังใหญ่ มีรถหรูๆ ไว้ขับ ที่ต้องเกริ่นกันแรงๆ ไว้ก่อน เพราะอีกหลายตอนต่อจากนี้ สิทธิคนพิการจะพัวพันกับการคอรัปชั่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในความเป็นจริงของสถานการณ์ปัจจุบัน

ในอดีตก่อนปี 2550 ประเทศไทยยังไม่มีพรบ.ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีมาตรา 33-34-35-36 เป็นหลักกล่าวรวมเรียกกันง่ายๆ ว่า “กฎหมายการจ้างงานคนพิการ” กำหนดไว้ดังนี้

ตาม มาตรา 33 หากสถานประกอบการใดมีพนักงานถึง 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ1 คนหากไม่จ้างคนพิการแล้ว ตาม มาตรา 34 ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ในปัจจุบัน) มีมูลค่า 365 วัน คูณด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท = รวมทั้งสิ้น 109,500 บาท (หนึ่งแสนเก้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) จนทำให้ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินสะสมถึง 1.2 หมื่นล้านบาท

สถานประกอบการหลายแห่งจำนวนมาก ต้องการส่งเสริมอาชีพคนพิการ จึงเลือกใช้ มาตรา 35 การจัดสัมปทาน และช่วยเหลืออื่นใด 7 หัวข้อ ได้แก่ การให้สัมปทาน การให้ใช้พื้นที่ การจ้างเหมาบริการ การฝึกอบรม การจัดให้มีล่ามภาษมือ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลืออื่นใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ

หากสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 33-34-35 หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน ละเลย ตาม มาตรา 36 ให้มีการอายัดทรัพย์สินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 พร้อมดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด (7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี)

inclusion-2731339_1920

เมื่อเราได้ทราบอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่ามีกฎหมายช่วยส่งเสริมด้านอาชีพคนพิการอย่างมาก จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จำนวนรวมที่สถานประกอบการต้องรับคนพิการมีจำนวน 6 หมื่นคน หน่วยงานภาครัฐที่ต้องรับคนพิการ จำนวน 2.5 หมื่นคน รวมทั้งสิ้นประมาณ 8.5 หมื่นคน สำหรับหน่วยงานภาครัฐหากไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้ ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเน้นไปที่สถานประกอบการเอกชนเป็นหลัก

ภาพรวมของสิทธิคนพิการที่จะได้รับโอกาสในการทำงานหรือได้รับการส่งเสริมอาชีพนั้น แบ่งเป็น มาตรา 33 จำนวนประมาณ 2.5 หมื่นตำแหน่งงาน และทางเลือกอื่นใดตามมาตรา 35 จำนวน 2.5 หมื่นคน ทำให้มีสถานประกอบการจ่ายเงินสมทบกองทุนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1 พันล้านบาท จากสิทธิคนพิการที่ไม่ได้รับโอกาสจำนวน 1 หมื่นคน 

ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่ากองทุนฯ นี้มีอัตราเงินสมทบเข้ามามากด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะยึดที่ฐานเงินอัตราจ้างรายวันตั้งแต่แรก ซึ่งต่างจากกองทุนที่ใกล้เคียงกัน คือ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีที่มาจากเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกัน หากสถานประกอบการมีจำนวนพนักงานถึง 100 คน ต้องอบรมฝึกฝนพัฒนาฝีมือแรงงานของตนเองให้ได้จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพนักงาน

หากไม่อบรม ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายหัว แต่กองทุนนี้ไม่ได้กำหนดการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินอัตราจ้างรายวัน แต่คิดเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวแทน ทำให้มีเงินกองทุนประมาณ 900 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้เขียนขอนำเสนอมุมมองที่อาจจะแตกต่างไปจากการมองในเชิงบวกฝ่ายเดียว โดยมีข้อคิดเห็นว่า คนพิการในประเทศไทยได้รับโอกาสความช่วยเหลือมากมายเป็นทุนจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอดีตมีคนพิการระดับหัวกระทิที่มีความสามารถมีผลงานได้รับการยอมรับจากนานาชาติหลายท่าน เป็นผู้ผลักดัน 

แต่ทำไมคนพิการของเรายังไม่หลุดพ้นที่จะเป็นภาระของประเทศในหลายๆ มิติ 

20180621182805179

ส่วนใหญ่อาจจะเกิดจากฐานรากของประชากรรวมของเราก็ยังยากจนอยู่ก็เป็นได้ ปัญหาสำคัญหนึ่ง คือ คนพิการและผู้เกี่ยวข้องกับคนพิการไม่มีความรู้ในรายละเอียดของกฎหมาย จึงทำให้ไม่ทราบสิทธิ์ต่างๆ เมื่อไม่ทราบสิทธิ์ ก็โดนผู้ที่มีความรู้และต้องการแสวงประโยชน์อันมิชอบ มาหลอกลวง เข้าสู่กระบวนการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ โกงสิทธิ์ ยักยอกส่วนต่างของสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งได้ยกตัวอย่างแทรกไปในบทความตอนที่ผ่านๆ มา

รายละเอียดต่อจากนี้ไป ผู้เขียนขอแนะนำทั้งด้านบวก และลบไปพร้อมๆ กัน เริ่มจากมาตรา 33 การจ้างงานคนพิการ จากตัวเลขประเมินของผู้เขียนเองนั้น จากข้อมูลข้างต้นที่มีคนพิการได้ทำงานราว 2.5 หมื่นคน คนพิการน่าจะมีโอกาสได้ทำงานประมาณ 2 หมื่นคนเท่านั้น อีกกว่า 5 พันคน อยู่บ้านเฉยๆ โดยผ่านนายหน้า และรับเงินส่วนต่าง ระหว่าง 500 บาท ถึง 6 พันบาท 

แน่นอนว่า ถ้าได้รับเงินค่าจ้างแบบรายเดือนเต็ม ควรได้รับเดือนละ 9,125 บาท (109,500 บาท/12 เดือน = 9,125 บาทต่อเดือน) เหตุใดถึงได้รับน้อยสุด 500 บาท ก็เพราะเป็นคนพิการรากหญ้า ไม่รู้เรื่องสิทธิ์การจ้างงาน ได้ 500 ถือว่ามากแล้วเพราะได้ฟรีๆ 

กรณีใกล้ตัวผู้เขียนเป็นคุณลุงอายุ 60 ปี ไม่รู้เรื่องรู้แต่ว่ามีการส่งประกันสังคมให้ด้วย ได้รับเดือนละ 2 พันบาท อีกกรณีที่เคยมาร้องเรียนได้รับ 4 พันบาท

สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ตัวกลางที่ดีไม่มี มีแต่ผู้นำคนพิการที่มีความรู้เอาเปรียบคนพิการด้วยกันเอง ข้าราชการบางคนก็มองว่า คนพิการร่วมมือ สถานประกอบการที่แก้ปัญหาผิดๆ ก็เลือกทางออกผิดกฎหมาย เผลอๆ เจ้าของบริษัทตัวจริงไม่รู้ กลายเป็นคอรัปชั่นซ้ำซ้อนกันเองในองค์กรเอกชน 

ปัญหาเรื่องนี้แก้ไขไม่ยาก ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอาเงิน 1.2 หมื่นล้านที่มี ตั้ง “กลุ่มงานลับจับผิดคอรัปชั่น” ขึ้นมาสัก 5 คน เงินเดือนพร้อมค่าใช้จ่ายในการเดินทางและทำงานสักปีละไม่เกิน 2 ล้านบาท ก็ได้ข้อมูลโกงทั้งระบบ คอรัปชั่นวงเงินพันล้านแล้ว ส่วนสถานประกอบการถ้าใส่ใจออกสำรวจสักนิด ก็จะพบรูรั่วคอรัปชั่นนี้แน่นอนเช่นกัน

หรือว่า ข้าราชการบางรายรู้เห็นเป็นใจ กับสถานประกอบการที่อ้างแต่ว่าไม่มีทางออก เพราะทางออกมีอยู่แล้วคือ มาตรา 34 จ่ายเงินสมทบกองทุนฯ 

ถ้าต้องคอรัปชั่น อย่าทำดีกว่า อย่าปล่อยเรื่องให้ต้องแดงออกมาเหมือนกรณีโกงเงินคนไร้ที่พึ่ง เลยนะครับ

0000

จุดประกายนำเสนอคอลัมน์พิเศษนักทุพลภาพมืออาชีพจากปลายปากกาของ นักทุพลภาพมืออาชีพตัวจริงอย่าง ปรีดา ลิ้มนนทกุล นักขับเคลื่อนสิทธิเพื่อคนพิการ และความเท่าเทียมกันในสังคม จะมาร่วมแบ่งปันความรู้เรื่องสิทธิ และความเท่าเทียมของผู้พิการ เพื่อสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่การลบความไม่รู้ อคติ ที่มีต่อสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ที่วันอังคาร กลางเดือน และสิ้นเดือน กับ 12 เรื่องราวเกี่ยวกับผู้พิการที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน