My one class จากรายการสู่คลาสเรียนของ JSL

My one class จากรายการสู่คลาสเรียนของ JSL

ชื่อเสียงของ เจเอสแอล มาจากการผลิตรายการโทรทัศน์ หากแต่เมื่อต้องการขยับตัวมาสู่งานด้านการศึกษาพวกเขามีวิธีคิดอย่างไร

_MG_8202 เราคุ้นชินกับชื่อ เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (J S L Global Media Company Limited) เป็นอย่างดี ในฐานะผู้ผลิตรายการเกมโชว์ ควิซโชว์ ทอล์คโชว์ วาไรตี้โชว์ ฯลฯ เพื่อป้อนเข้าสู่สถานีโทรทัศน์มาหลายยุคหลายสมัย

วิก07, 07 โชว์, ยุทธการขยับเหงือก, เจาะใจ,จันทร์พันดาว, กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน ตลอดจนรายการอื่นๆ ล้วนสร้างชื่อในระดับเป็นรายการโทรทัศน์ที่คนไทยเรียกชื่อกันติดปาก และบทบาทของบริษัทที่วางตัวเองเป็น Content Designer ก็น่าจะดำเนินไปตามพล็อตเรื่องเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง พวกเขาเปิดคอร์สออนไลน์ ชื่อ“My one class” ที่หลายคนสงสัยว่าคืออะไรกัน 

จากรายการสู่การเรียน

วัชระ แวววุฒินันท์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด บอกกับ “จุดประกาย”ว่า แม้จะเป็นองค์กรในธุรกิจกิจบันเทิง แต่การให้สาระความรู้คือเป้าหมายขององค์กรมาตลอด และในอดีตก็เคยจัดอบรมโดยใช้จุดแข็งด้านการเป็นองค์กรที่มีความครีเอทีฟมาแล้ว แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เพราะขนาดองค์กรและ ภาระของงานไม่เอื้อต่อการทำในระยะยาว

“แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้คนในยุคนี้ มันทำให้เรามองว่าเป้าหมายของเราเป็นจริงได้ ด้วยการเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การเดินทางมาพบกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนลดข้อจำกัดลง และเมื่อมองถึงจุดแข็ง ความถนัดของเรา ผสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ที่อยากเรียนอะไรได้เร็ว สนุก และนำไปใช้ประโยชน์จริงได้จึงออกมาเป็นโปรเจคนี้ และเราคงไม่ไปสอนทำการตลาด สอนเล่นหุ้น แต่จะคัดเลือกเนื้อหาที่สื่อสารถึงแบรนด์ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงศิลปะบันเทิง ความสร้างสรรค์มากว่า 30 ปี ทั้งนี้เมื่อผู้เรียนได้ยินหลักสูตรและรายชื่อบุคลากร หรือไปค้นหาข้อมูลก็จะมั่นใจได้เลยว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา “

สำหรับคอร์สชุดแรกที่จะเปิดสอนนั้น ประกอบไปด้วย 6 คอร์สเรียนด้วยกัน ได้แก่ คอร์ส “แต่งเพลงแบบดี้นิติพงษ์” สอนโดย “ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” นักแต่งเพลงชื่อดัง คอร์สที่สอง “พูดดี ต้องมีของ” สอนโดย “ตุ้ม-ผุสชา โทณะวณิก” คอร์สที่สาม “การแสดง” สอนโดย “ครูหนิง-พันพัสสา ธูปเทียน” ครูสอนการแสดง ผู้กำกับ และสมาชิกคนไทยเพียงคนเดียวของ“The Actors Studio”สถาบันระดับโลกที่นิวยอร์ก คอร์สที่สี่ “เขียนบท” สอนโดย “ครูบัว-ปริดา มโนมัยพิบูลย์” ครูสอนการเขียนบท ซึ่งได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ คอร์สที่ห้า “ถ่ายภาพด้วย Smart Phone” สอนโดย “แพท ชาน – พัชรินทร์ ไพศาลเสถียรวงศ์” และคอร์สสุดท้าย “Shot film workshop with Nonzee สอนทำหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน”โดย “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร”

วิธีการสะท้อนแบรนด์

การเรียนแบบออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่นเดียวกับที่ของฟรีคุณภาพดีๆ ก็มีอยู่ทั่วทุกมุมในโลกอินเทอร์เน็ต แล้วอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคมองถึงความแตกต่างและจ่ายเงิน

วัชระ ย้ำว่า ไม่ได้หมายความว่าการเรียนในรูปแบบอื่นๆ จะดีน้อยกว่าที่ My one class แต่วิธีการสอนที่นี่จะมีคาแรกเตอร์ที่พิเศษ เพราะทั้งหลักสูตรและทีมงานคัดเลือกมาแล้ว เช่น การแต่งเพลงแบบดี้-นิติพงษ์ ผู้คนก็จะเข้าใจว่ามีมุมมอง มีสไตล์การเขียนเพลงอย่างไร ดังนั้นลักษณะการเรียนจะเป็นการมอบประสบการณ์ และสอนวิธีคิดถึงการให้ได้มาซึ่งสไตล์เพลงแบบดี้-นิติพงษ์

“การทำคอร์สออนไลน์ มันมีการสอนหลายแบบ วิธีการสอนที่ Simple (พื้นฐาน) ที่สุดคือมีชาร์ต แล้วพูดกับกล้อง เสมือนว่าผู้เรียนเป็นนักเรียนที่อยู่ในห้อง แต่เราคำนึงถึงรสชาติการเรียน จึงจำลองห้องเรียน โดยมีนักเรียนในห้องจริงๆ จำนวน 5 คน ซึ่งทั้ง 5 คนนั้นเป็นตัวแทนของผู้เรียนที่มีคาแรกเตอร์ต่างกัน เช่น คนหนึ่งเป็นนักเรียนซึ่งมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว อีกคนเป็นคนพูดตรง อีกคนขี้อาย อีกคนเป็นนักฝัน ซึ่งวิธีเช่นนี้จะทำให้คนดูสนุก และในแต่บทเรียนมีระยะเวลาไม่นานมาก คือ 15-20 นาที ก็จะเวทีให้วิเคราะห์ วิจารณ์ผลงาน ในฐานะคนเสพ ซึ่งความหลากหลายของผู้เรียน และช่องทางในการติดต่อสื่อสารในชุมชนผู้เรียนนี้ จะได้ความกลมกล่อม และมีโอกาสที่ทั้งจะพัฒนาต่อไป”

28058357_173090556748752_6594334803559244354_n  

Content Designer

เมื่อยังมองว่า Content ยังคงสำคัญ หน้าที่หนึ่งของนักออกแบบ Content จึงต้องมองให้ออกว่าเนื้อหาที่ดีควรจะอยู่ ณ ที่ใด ในโอกาสใดได้บ้าง และสำหรับเจเอสแอล พวกเขามองว่า Content แบบสาระความรู้และความบันเทิง (Edutainment) เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งซึ่งกลุ่มคนทำงานยังคงต้องการ ด้วยมองเห็นว่า สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยพัฒนาตัวเอง เป็นความบันเทิงที่มีสาระ สามารถเป็นงานอดิเรกและต่อยอดในอาชีพได้

“ทักษะเหล่านี้สามารถเป็นงานอดิเรก หรือเป็นอาชีพได้ เช่น ทักษะการพูดก็สามารถปรับใช้กับงานได้ หรือการทำหนังสั้นก็จะช่วยในการพรีเซนต์งานให้กับลูกค้า คนเราพอถึงจุดหนึ่งก็อยากพัฒนาตัวเอง และมีไดร์ฟตัวเองให้ไปข้างหน้า องค์กรก็อยากจะพัฒนาบุคลากร เป็นฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนสังคมต่อ ถ้าถามกลุ่มเป้าหมายหลักก็น่าจะเป็นกลุ่มนี้ ส่วนในมุมของผู้เรียนก็จะไม่ชอบอะไรที่เป็นหลักการจ๋า แต่ต้องเสพอย่างมีความสุข สร้างสีสันให้กับชีวิตด้วย หน้าที่ของเราคือทำให้เนื้อหาเหล่านั้นมีเสน่ห์ มีรสชาติในแบบต่างๆกัน เช่น ในอดีตที่เคยทำทั้งรายการโทรทัศน์หลายประเภท ละครเพลง รายการที่มีสาระเข้มๆ”

สำหรับทิศทางเนื้อหาของบริษัทเจ เอส แอล ฯ วัชระ บอกว่า ขอบเขตยังแบ่งเป็นสัดส่วนบันเทิงร้อยละ 60 และสาระบันเทิงอีก ร้อยละ 40 แต่แน่นอนว่า ทั้งในวันนี้และต่อจากนี้จะปรุงมันให้ทำให้มันสอดคล้องกับเทคโนโลยี ของการสื่อสารซึ่งมีหลายแพลตฟอร์ม มีหลายความต้องการทั้งลูกค้า และผู้เสพ

“ยกตัวอย่างคุณจะขายคอนโด จะบอกแค่ว่า มี 1ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่นคงไมได้ แต่ต้องมี Story (เรื่องราว) ว่าต้องขายอย่างไร มีกลยุทธ์และเราสามารถปรุงมันให้กับทุกคนได้ มันจะดีไซน์มาเพื่ออะไรโดยเฉพาะ อย่างตอนนี้เราก็ไม่ได้แค่ทำคอนเทนท์ บนทีวี แต่เราทำให้กับไลน์ หรือโปรดักส์อื่นๆ ในเชิงการตลาดให้กับลูกค้า ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะนี่คือความถนัดของเรา”

นนทรี นิมิตบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของคอร์สออนไลน์ "Short film workshop with Nonzee” สอนทำหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน

  ผมคิดว่ามันน่าสนใจ ในแง่ที่ว่าผู้คนสนใจที่อยากทำภาพยนตร์แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แน่นอนว่าการเรียนเพียงเท่านี้ ไมได้การันตีว่าคุณสร้างงานได้ แต่มันจะช่วยตอบคำถามที่ผมเจอมาตลอดในการเป็นผู้สอนเวิร์คชอปต่างๆว่า การหาไอเดียในการทำหนังเริ่มจากอะไร จากนั้นในคอร์สจะกระตุ้นให้คุณพัฒนาเรื่องเล่า บอกวิธีการเขียนบทเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนก่อนการผลิต ซึ่งผมเรียกมันว่าการถ่ายหนังบนโต๊ะ ซึ่งเราต้องคิดว่าเราต้องทำอย่างไรกับมันบ้าง ตั้งแต่เตรียมเสื้อผ้าหน้าผม จากนั้นจึงสู่ขั้นตอนการถ่าย ขั้นตอนการวิเคราะห์งานแล้วแก้ไขให้ดีขึ้น

คนที่มีทักษะแล้วก็อาจจะเข้าใจง่ายขึ้นในการปฏิบัติ แต่ไม่มีเลยก็จะเริ่มต้นไปพร้อมๆกัน แค่ฟังไปเรื่อยๆ สักชั่วโมงแรก สักคลาสที่ 1 คุณจะเริ่มดูหนังสนุกขึ้น

พัชรินทร์ ไพศาลเสถียรวงศ์  หรือ Pat Chan ผู้สอน “การถ่ายภาพด้วยมือถือแบบมืออาชีพ” ซึ่งผ่านประสบการณ์การถ่ายภาพบุคคลระดับโลกมาแล้วมากมาย อาทิ โดนัลด์ ทรัมป์, บิล คลินตัน, ริชาร์ด แบรนสัน, แอนโธนี รอบบินส์ ฯลฯ โดยเธอได้กลั่นเอาประสบการณ์ 20 ปีของการเป็นช่างภาพมืออาชีพมาประยุกต์ใช้กับโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ถ่ายภาพได้สวยไม่แพ้กล้องใหญ่

"เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันดีมากๆ เขาพัฒนาแข่งกันเรื่องนี้ มันคือ ยุคทองของการถ่ายภาพด้วยตัวเองที่ไหนก็ได้ แต่การจะถ่ายรูปจากมือถือให้สวย เราต้องไม่คิดว่า มันเป็นแค่มือถือ แค่กดๆ ไปก็ได้ เพราะเราจะได้รูปออกมาไม่สวย แต่เราต้องเอาทักษะที่จำเป็นของการถ่ายภาพมาใช้ร่วมด้วย ให้มือถือที่ถืออยู่เป็นเหมือนกล้องตัวนึง

เราสอนตั้งแต่การดูแสงให้เป็น เลือกแบ็คกราวน์ที่เหมาะสม ดูมุมกล้อง จัดองค์ประกอบภาพที่ถูกต้อง บางทีคนไม่ได้มองว่า แดดมันจ้า ตามันหยี แล้วมาบ่นทีหลังว่า ทำไมรูปไม่สวยเลย คนทุกคนถ่ายรูปก็มีแค่อินดอร์กับเอาท์ดอร์ ข้างในกับข้างนอก แสงธรรมชาติซึ่งเราไปจัดไม่ได้ แต่ต้องดูให้เป็น ดูแสงเป็น เลือกแสงที่ดี เลือกดูแบ็คกราวน์ ข้างหลังภาพมีอิทธิพลอย่างไรต่อการถ่ายภาพ แบบไหนถ่ายแล้วจะด้อยหรือจะเด่น ข้อควรระวัง หรือการวางโพซิชั่น กฎสามส่วน Grid 9 ช่อง วางยังไง เอาสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอให้มันอยู่ในมุมที่เป็นจุดตัด รูปมันสวยโดยปริยาย"

แม้สมาร์ทโฟนสมัยนี้จะมีโหมดถ่ายรูปให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พอร์ทเทรต บิวตี้ สปอร์ต ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยได้ใช้ ดังนั้น ในการสอนคอร์สนี้ แพทบอกว่า เลือกใช้แค่โหมดออโต้เท่านั้น โดยยืนยันว่า ใช้โหมดออโต้ถ่ายก็สวยได้ไม่แพ้กล้องใหญ่