LiFE Theatre’s RX3  ความไร้เพศไม่เกี่ยงวัยแห่งสายใยพี่น้อง

LiFE Theatre’s RX3  ความไร้เพศไม่เกี่ยงวัยแห่งสายใยพี่น้อง

เมื่อบทละครอเมริกัน Rosemary with Ginger (1996) ของ Edward Allan Baker ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของ "พันพัสสา ธูปเทียน" เกิดเป็น RX3: Rose/mary with Roong&Rocket ในสองเวอร์ชั่น Thai Women version และ American Queer version

กลเม็ดการตลาด ลด-แลก-แจก-แถม นี่ใช้ได้ในทุกวงการจริง ๆ แม้แต่วงการละครเวทีก็มี promotion แบบซื้อบัตรหนึ่งใบได้ดูถึงสองรอบหรือสองเรื่อง

อย่างงานล่าสุดของคณะละคร LiFE Theatre ชื่อ RX3: Rose/mary with Roong&Rocket ฝีมือการกำกับโดย พันพัสสา ธูปเทียน ที่นำเอาบทละครอเมริกันตัวละครคู่องก์เดียวจบเรื่อง Rosemary with Ginger (1996) ของ Edward Allan Baker มาถ่ายทอดให้ได้ดูถึงสอง version ในการแสดงแต่ละรอบ นั่นคือ Thai Women version และ American Queer version จัดแสดงที่ BlueBox Studio, M Theatre ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ระหว่างวันที่ 1-13 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยผู้ชมจะต้องลุ้นกันเองในแต่ละรอบว่าจะได้ชม version ใดก่อน

เนื้อหาของบทละครต้นฉบับ Rosemary with Ginger (1996) ของ Edward Allan Baker เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองศรีพี่น้องหญิงอเมริกันที่กลับมาพบกัน ณ คาเฟ่ที่กำลังจะปิดตัวของ Ginger น้องสาว

DSC01029

ภาพโดย นภัสรพี สุนทรธินนันทน์ 

เมื่อสาวเปรี้ยว Rosemary เดินทางมาพบเธอในสภาพกำลังเมามาย ในขณะที่ Ginger กำลังเตรียมกรอกใบสมัครแม่ดีเด่นแห่งเดือนให้มารดาของทั้งคู่ ซึ่งการพบกันครั้งนี้ก็นำไปสู่การหวนระลึกถึงความหลัง และการปะทะปะทั่งจากเรื่องราวสะเทือนใจว่า Rosemary และ Ginger เคยมีมูลเหตุให้บาดหมางกันประการใดบ้าง

เนื้อหาของบทละครต้นฉบับ Rosemary with Ginger (1996)
ของ Edward Allan Baker เล่าถึงความสัมพันธ์
ระหว่างสองศรีพี่น้องหญิงอเมริกันที่กลับมาพบกัน
ณ คาเฟ่ที่กำลังจะปิดตัวของ Ginger น้องสาว

และสำหรับรอบที่ผู้เขียนได้ไปดูเมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน เราก็ได้ชมฉบับ American Queer version ที่ปรับเนื้อหาเรื่องราวให้ตัวละครกลายเป็นชายรักชาย แล้วจึงจะต่อด้วย Thai Women version ที่ปรับสถานที่ให้กลายเป็นร้านอาหารย่านอู่ตะเภา เมื่อปี พ.ศ. 2528 และเปลี่ยนบริบทให้เป็นประเทศไทย ซึ่งก็ต้องสารภาพว่าผู้เขียนเองไม่เคยดูละครเรื่องนี้และไม่สามารถหาบทละครต้นฉบับมาศึกษาก่อน จึงต้องเริ่มรับรู้เรื่องราวจากฉบับ American Queer version เป็นครั้งแรก

ละครฉบับ American Queer version ได้นักแสดงเจนเวที อภิรักษ์ ชัยปัญหา มารับบทเป็น Rosemary กะเทยผู้พี่ร่างยักษ์ และ สทาศัย พงศ์หิรัญ รับบทเป็น Rocket ชายเกย์ (หรืออาจจะเป็นไบ) ที่แต่งงานกับผู้หญิงและมีลูก ซึ่งใน version นี้ เราจะเห็นเจตนาในการคงวัฒนธรรมอเมริกันเอาไว้อย่างเห็นได้ชัด ทั้งในส่วนของการแปลบทและการถ่ายทอดบริบทต่าง ๆ

หรือแม้แต่ฉากหลัง Peter Pan Diner และการใช้เพลง Like a Virgin (1984) ของ Madonna เป็นเพลงนำ ซึ่งอาจจะให้กลิ่นนมเนยที่ดูสังเคราะห์ไม่เป็นธรรมชาติอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อตัวละครจะต้องถ่ายทอดเรื่องราวเป็นภาษาไทย โดยมีการดัดแปลงใหญ่ ๆ อยู่ที่วิถีเพศของตัวละคร

DSC01146

ภาพโดย นภัสรพี สุนทรธินนันทน์ 

แต่ด้วยเนื้อหาเรื่องราวสำคัญที่ยังเกี่ยวข้องกับการแต่งงาน การมีลูก ไปจนถึงสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตร ทำให้ละครฉบับ American Queer version นี้ มีส่วนที่ตามเรื่องยากอยู่เหมือนกันว่าความสัมพันธ์ของ Rosemary กับ Rocket กับคู่รักแต่ละรายของพวกเขามีนัยยะไปในทางใด

โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่ต่างก็มีบุตรที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขด้วยเหมือนกัน  อภิรักษ์ ชัยปัญหา ถ่ายทอดตัวละคร Rosemary ออกมาในลักษณะเปราะบางและพร้อมที่จะ ‘พัง’ ได้ตลอดเวลา กับสภาพจิตใจที่เจอมรสุมชีวิตมาจนอ่อนล้า ทว่ายังต้องแสร้งทำตัวเข้มแข็งด้วยการบอกตัวเองกับทุกคนว่า ‘ยังไหวอยู่’

ในขณะที่ สทาศัย พงศ์หิรัญ ก็นำเสนอความหมิ่นเหม่ด้านบุคลิกและรสนิยมเพศของ Rocket ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้บุคลิกอันสุขุมนิ่งลึก  สะท้อนความเลื่อนไหลแห่งเพศสภาพที่ชวนให้เชื่อได้ แม้ว่าเขาจะเป็นตัวละครที่ยังต้องการการอธิบายจากบทที่พยายามแปลและดัดแปลงมามากที่สุด

DSC01081

ภาพโดย นภัสรพี สุนทรธินนันทน์ 

หลังจบการแสดงฉบับ American Queer version พักครึ่งกัน 15 นาที แล้วมาต่อด้วยฉบับ Thai Women version ในทันที เนื้อหาเรื่องราวด้านครอบครัวของตัวละครที่เคยหลุกหลิกกำกวมใน version ก่อนหน้าก็กระจ่างชัดขึ้นเมื่อตัวละครกลับมาเป็นเพศหญิงดังเดิม ซึ่งในฉบับนี้ก็มีนักร้องนักแสดงดัง นรินทร ณ บางช้าง มารับบทเป็น ‘โรส’ พี่สาวและ ราศรี ดิศกุล ณ อยุธยา มาชิมลางงานละครเวทีรับบทเป็น ‘รุ้ง’ น้องสาวเป็นเรื่องแรก

ซึ่งบทละครก็ได้ปรับบริบทมาเป็นร้านอาหารรองรับกองทัพทหารอเมริกันจีไอในอู่ตะเภา เล่าด้วยรายละเอียดยุคสมัยในปี พ.ศ. 2528 และเปลี่ยนมาใช้เพลง ‘ห่างหน่อยถอยนิด’ (พ.ศ. 2529) ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ มาเป็นเพลงนำ ด้วยบทดัดแปลงที่เต็มไปด้วยมุกจำเพาะแห่งยุค 1980s ทั้งหนูวัลลียอดกตัญญู เด็กฮาร์ด วงเรนโบว์ ที่ผู้ชมวัย 40up คงจะต้องสะดุ้งกันเลยทีเดียว

DSCF1178

ภาพโดย นภัสรพี สุนทรธินนันทน์ 

นรินทร ณ บางช้าง ถ่ายทอดตัวละคร โรส ด้วยบุคลิกมาดมั่นก๋ากั่นแต่งตัวเปรี้ยวจี๊ดชวนให้นึกถึงตัวละคร ‘บุญรอด’ จากนิยาย ‘ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด’ (พ.ศ. 2524) ของ ‘โบตั๋น’ ได้เลยทีเดียว แต่จากที่เคยแอบห่วงว่า นรินทร จะมาในลีลาเล่นใหญ่แบบละครเวทีโรงยักษ์ที่เธอเคยแสดงหรือไม่ ทว่าใน RX3 นี้เธอกลับถ่ายทอดตัวละครได้อย่างละเอียดละเมียด แข็งกร้าวอย่างมีบุคลิกภายใน และมีจังหวะจะโคนในการแสดงที่ชัดและแม่นเป๊ะยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

กระทั่งแม้ในช่วงดราม่าสาดใส่อารมณ์เธอก็ยังดูดีงาม สร้างความสะเทือนให้ผู้ชมได้ ต่อให้ตัวละครที่เธอเล่นจะไม่น่ารักเอาเลย

นรินทร ณ บางช้าง ถ่ายทอดตัวละคร โรส
ด้วยบุคลิกมาดมั่นก๋ากั่นแต่งตัวเปรี้ยวจี๊ด
ชวนให้นึกถึงตัวละคร ‘บุญรอด’
จากนิยาย ‘ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด’

ในขณะที่ ราศรี ดิศกุล ณ อยุธยา กับบท ‘รุ้ง’ ในละครเวทีเรื่องแรก ก็ต้องนับถือเลยว่า เธอสามารถปะทะปะทั่งประกบคู่กับ character ระดับแม่เหล็กอย่าง ‘โรส’ ของ นรินทร ได้แบบขิงก็ราข่าก็แรงโดยปราศจากอาการเสแสร้งแกล้งทำ ติดอยู่เพียงอย่างเดียวคือบุคลิกท่าทางของเธอออกจะดูเป็นหญิงมั่น independent แห่งยุคมิลเลนเนียมไปสักหน่อย เพราะถ้าเกิดทันจริง ๆ (กระแอมเบา ๆ แบบอาย ๆ) จะรู้เลยว่าผู้หญิงในยุค 1980s ไม่ได้มีท่าทีคล่องแคล่วปราดเปรียวเยี่ยงนั้น และมักจะต้องซ่อนความหวานเอาไว้เสมอ

DSCF1365

ภาพโดย นภัสรพี สุนทรธินนันทน์ 

ไม่ว่าการดัดแปลงบทละครทั้งสอง version นี้อาจจะมีอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้การถ่ายทอดอาจยังไม่ถึงระดับไหลลื่น แต่เมื่อถึงช่วงที่ต้องเล่าด้วยลูกซึ้งมันก็ยังทำเอาเราแอบสะอื้นไปด้วยเหมือนกันในทั้งสอง version  โดยเฉพาะเมื่อคนดูรู้สึกผูกพันกับตัวละครเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว

แม้จากโครงสร้างของบทหลาย ๆ จังหวะอาจดูจงใจเรียกน้ำตาจากคนดูแบบซึ่งหน้า ๆ อยู่บ้าง แต่ก็ต้องอ้าง credit ให้นักแสดงทั้งสี่รายด้วยเหมือนกันที่สุดท้ายก็สามารถทำให้เราเอาใจช่วยพวกเขาได้ ซึ่งก็ถือเป็นความสำเร็จของละครเวทีแนวดราม่า ที่ต้องนำพาคนดูไปสู่จุดหมายของเรื่องกันด้วย ‘ใจ’  โดยไม่สามารถเสแสร้งอะไรได้เลย