วีรกรรมสุดแสบของพลเมืองเน็ตเพื่อตอบโต้ทางการจีน

วีรกรรมสุดแสบของพลเมืองเน็ตเพื่อตอบโต้ทางการจีน

เมื่อชาวจีนถูกปิดกั้นการแสดงออกบนโลกออนไลน์​ โดยไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหนก็มักถูกทางการสอดส่องและสั่งแบนไปเรื่อย แต่ชาวเน็ตก็หาแคร์ไม่.. พวกเขาทำยังไง ตามมาดูกัน

ใครๆ ก็รู้ว่า กำแพงไซเบอร์ของรัฐบาลจีนนั้นเข้มงวดและแข็งแกร่งขนาดไหน..

จำได้ไหมที่อยู่ดีๆ เจ้าหมีพูห์ก็ดังระเบิด แต่ไม่ใช่ในฐานะการ์ตูนขวัญใจเด็กๆ แต่เพราะมันถูกชาวจีนนำมาแทนค่า เมื่อพูดถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยนำมาล้อเลียนจนกลายเป็นประเด็น และทำให้อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ วินนี่ เดอะ พูห์ ถูกลบเกลี้ยง

เช่นกันกับเรื่องอื่นๆ บนโลกออนไลน์ ที่พูดผิดหูเมื่อไหร่เป็นถูกลบ ส่วนจะลบชั่วคราว ถาวร หรือถึงขั้นหายสาบสูญเลยหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่แต้มบุญกรรมที่ทำไว้ 

อย่างล่าสุดที่เซย์กู๊ดบายจากจักรวาล ‘เว่ยโป๋’ ไปอีกราย ก็คือ แอคเคานท์ 女权之声 (Feminist Voices) ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีมาตลอด โดยมียอดผู้ติดตามสูงถึง 180,000 รายก็เป็นอีกเจ้าที่ลาจาก ถึงขั้นมีกลุ่มผู้หญิงแต่งตัวในทำนองยอดมนุษย์ห้าสีออกมาจัดฉากทำหลุมศพไว้อาลัยแด่แอคเคานท์ที่หายไป

แม้จะไม่ได้รับเหตุผลที่ชัดเจนของการถูกแบนจากทางการ บอกเพียงว่า แอคเคานท์นี้ได้ทำการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมาย โดยไม่ได้ระบุลงลึกว่า เป็นเรื่องไหนอย่างไร แต่โพสต์สุดท้ายอันเนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคมที่ผ่านมา คือ การเรียกร้อง ระดมพลังผู้หญิงเพื่อต่อต้านการคุกคามทางเพศ รวมถึงแสดงพลังต่อต้านโฆษณาที่แสดงถึงการเหยียดเพศ

หลังจากโพสต์ไปไม่นาน แอคเคานท์ดังกล่าวก็หายไป และตามด้วยกรุ๊ปแชทของ Feminist Voices ในแอพพลิเคชั่น WeChat ที่ถูกปิดตามไปในไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนั้น

ชาวเน็ตเรียกการปิดกั้นและสอดส่องอย่างสุดขั้วของทางการจีนว่า ‘River Crab’ หรือ ปูแม่น้ำ (河蟹)
ที่ใช้หลักคำพ้องเสียงฟังคล้ายกับคำว่า 和谐 หรือ ความกลมเกลียว 
ที่ทางการมักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสอดส่องพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของประชาชน

ZdZEBJAA

หรืออย่างก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นข่าวครึกโครมก็คือ กระแส #MeToo ที่ระบาดมาถึงประเทศจีน เมื่อมีอดีตนักศึกษาแพทย์รายหนึ่งออกมาแฉว่า ตัวเธอเคยถูกอาจารย์ล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากนั้นก็เกิดกระแสตามมาอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาก็คือ แฮชแท็ก #MeToo ถูกบล็อกไปตามระเบียบ

นี่คือตัวอย่างความพยายามมากมายหลายครั้งของทางการจีนเพื่อจะสอดส่องความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ของชาวจีนอย่างใกล้ชิด โดยชาวเน็ตเรียกการปิดกั้นและสอดส่องอย่างสุดขั้วของทางการจีนว่า ‘River Crab’ หรือ ปูแม่น้ำ (河蟹) ที่ใช้หลักคำพ้องเสียงฟังคล้ายกับคำว่า 和谐 หรือ ความกลมเกลียว ที่ทางการมักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสอดส่องพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของประชาชน

มุกการเลี่ยงไปใช้แสลงที่เกิดจากคำพ้องเสียงคือทางออกยอดนิยมของพลเมืองเน็ตชาวจีนที่ใช้เพื่อแสดงออกทางความคิดทางสังคมและการเมือง

อย่างเช่น เมื่อ #MeToo ถูกห้ามใช้ หนุ่มสาวไซเบอร์จึงหันไปติดแฮชแท็ก #RiceBunny หรือไม่ก็ใส่อีโมติคอนรูป ชามข้าว และ กระต่ายน้อยแทน นั่นก็เพราะคำว่า ข้าว และ กระต่าย ออกเสียงในภาษาจีนว่า mi และ tu ก็หมายถึง Me Too ได้นั่นเอง

รู้จักเจ้าสัตว์อัลปาก้าหน้าตาทึ่มๆ กันไหม
นี่ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แทนค่าของคำว่า ‘fuck your mother’ 操你妈 
ที่ถูกห้ามใช้เพราะมันแสนจะหยาบคาย 

หรือถ้าจะให้งงหนักกว่านั้น รู้จักเจ้าสัตว์อัลปาก้าหน้าตาทึ่มๆ กันไหม นี่ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แทนค่าของคำว่า ‘fuck your mother’ 操你妈 ที่ถูกห้ามใช้เพราะมันแสนจะหยาบคาย โดยเฉพาะเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เปรียบตัวเองเป็นเสมือน “แม่” ของชาวจีนทุกๆ คน ฉะนั้นการด่าถึงแม่แบบนี้ มันระคายหูสิ้นดีในมุมมองของทางการ 

แม้คำนี้จะถูกแบนไป แต่ก็หาได้สะเทือนใจชาวเน็ต เพราะพวกเขาหันไปใช้คำว่า 草泥马 (Grass Mud Horse) ที่ออกเสียงได้ความหมายคล้ายกัน พร้อมหยิบเอาเจ้าตัวอัลปาก้ามาเป็นสัญลักษณ์แทน

..แม้ความหมายไม่ได้ แต่เสียงที่ออกไป คงสาแก่ใจสุดๆ เมื่อใช้มันในการแสดงจุดยืนต่อต้านการเซ็นเซอร์ทุกรูขุมขนของทางการจีน

 

ที่สำคัญ พวกเขาจริงจังถึงขั้นก่อตั้งให้ทุกวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นวัน Grass Mud Horse Day ซึ่งคงสะเทือนใจผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไม่น้อยเพราะมันดันตรงกับวันเกิดพรรคเสียด้วย

eNR6v5ET

ส่วนสายโมเอะก็มา โดยถ้าใครเห็นตัวการ์ตูนหญิงสาวน่ารักอุ้มตุ๊กตากระต่าย แต่งชุดเครื่องแบบสีเขียว สวมหมวกสีเขียวประดับด้วยรูปปูสีแดง ส่วนที่แขนเสื้อมีปลอกแขนเขียนตัวจีนแปลได้ว่า “ระเบียบวินัย” นั้น ขอให้รู้ไว้ว่า นี่คือการแสดงออกเพื่อต่อต้านการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตอย่างหนักของทางการจีน โดยเฉพาะการติดตั้งโปรแกรม Green Dam Youth Escort ที่มีโลโก้เป็นเจ้ากระต่ายน่ารักไว้ในคอมพิวเตอร์ตามโรงเรียนและเน็ตคาเฟ่ทั้งหมด รวมถึงในคอมพิวเตอร์บางยี่ห้อก็ติดตั้งโปรแกรมนี้ให้แบบไม่ต้องร้องขอ 

WqV2adMk

แม้ทางการจะอ้างว่า ติดตั้งโปรแกรมนี้เพื่อคัดกรองภาพลามกอนาจารและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่เราก็รู้กันดีอยู่ว่า ในอีกทางหนึ่ง มันก็คือการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ทางการไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ รวมถึงคอยจับตาดูว่าประชาชนใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไรบ้างนั่นเอง มันจึงเป็นที่มาของตัวการ์ตูนสุดคาวาอี้อย่าง Green Dam Girl ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียนโปรแกรมนี้ยังไงล่ะ..

แม้สิ่งที่พลเมืองเน็ตชาวจีนพยายามทำอยู่ตอนนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแวดวงออนไลน์ระดับโลก ที่ช่วยกันครีเอทวิธีการสื่อสาร ไม่ว่าจะใส่รูป ติดแฮชแท็ก แปะอีโมจิ หรือจะนำภาพมาเล่นเป็นมีมต่างๆ แต่สำหรับชาวจีนแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องทำเอาเท่ หรือเป็นกิมมิคสนุกๆ แต่เพราะมันคือช่องทางเดียวที่พวกเขาจะสามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการบอกแก่โลกภายนอกให้ได้รับรู้

มันก็ไม่ต่างอะไรกับเกม ‘แมวจับหนู’ ที่แม้เจ้าหนูจะสามารถแก้เผ็ดให้แมวได้เจ็บแสบกันบ้าง แต่ที่สุดแล้ว ก็ฝั่งหนูที่แหละที่ต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนอยู่ร่ำไป