ล่องใต้ไปเป็น ‘ฮิปสตูล’

ล่องใต้ไปเป็น ‘ฮิปสตูล’

ฮิปสเตอร์หลบไป ฮิปสตูลมาแล้ว!

เหนือจรดใต้...เทรนด์การท่องเที่ยวโดยชุมชนกำลังบูม แต่จะมีสักกี่แห่งที่ชุมชนเข้มแข็งจนสร้างการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวพวกเขาเอง แทบไม่ต้องให้ใครเข้ามาแทรกแซงจนของดีที่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

            หลังจากที่อุทยานธรณีสตูลได้รับเลือกจากองค์การสหประชาชาติให้เป็น ‘อุทยานธรณีโลก’ (UNESCO Global Geoparks) แห่งแรกของประเทศไทย จังหวัดสตูลก็ดูจะเนื้อหอมเป็นพิเศษ

            การประกาศรับรองของยูเนสโกครั้งนั้นทำให้จาก 193 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 140 แห่งใน 38 ประเทศ ที่มีอุทยานธรณีโลก จำกัดวงเข้ามาที่อาเซียน มีเพียง 8 แห่ง คือ มาเลเซียมี 1 แห่ง เวียดนามมี 2 แห่ง อินโดนีเซียมี 4 แห่ง และประเทศไทยมี 1 แห่งคือที่สตูลนี่เอง ส่วนแชมป์ประเทศที่มีอุทยานธรณีโลกมากที่สุดก็ต้องยกให้พี่จีน

            ความสำคัญระดับโลกแบบนี้สมควรอย่างยิ่งที่จะยินดี แต่ก่อนหน้านี้ที่สตูลมีกลุ่มคนตั้งใจสร้างสรรค์การท่องเที่ยวด้วยการส่งเสริมของดีที่มีอยู่ในพื้นที่ กระทั่งสิ่งที่พวกเขาพยายามทำมาตลอดกลายเป็นรากฐาน และต้องยกเครดิตให้ด้วยว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สตูลได้รับสถานะอันทรงเกียรติ

36498706_1825099364215534_3238762102642442240_o

จับมือไว้...โตไปด้วยกัน

            จากการรวมตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลป่าชายเลน จัดทำแนวเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่งสู่ทะเล ตั้งหน่วยอนุรักษ์ควบคุมพวกทำประมงอวนลากอวนรุนในเขต 3,000 เมตร กลุ่มอนุรักษ์ฯ ทำงานได้ระยะหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ประมงจับปลากะตักจากทะเลตะวันออกหลั่งไหลเข้ามายังสตูล เกิดความเสียหายหนัก ชาวประมงท้องถิ่นพยายามผลักดันให้ประมงผิดกฎหมายออกไปจากทะเลสตูล

            ขั้นต่อมาหลังจากทะเลสตูลถูกย่ำยี คือการฟื้นฟู อย่างบริเวณอ่าวปากบารา กลุ่มอนุรักษ์ฯ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทุกชนิดจำนวนมหาศาล ทำอย่างนั้นด้วยความเชื่อมั่นว่าทะเลสตูลจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นมา จนชาวบ้านตั้งหลักได้ ตั้งเป็นกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก

36436181_1825099294215541_8623346714553614336_o

            ในยุคนั้น ชุมชนบ่อเจ็ดลูก ยังเป็นเพียงเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่ง ถนนหนทางไม่ดี การคมนาคมหลักคือเรือจากปากบาราเท่านั้น แต่หลังจากถนนเข้าถึงคนนอกเริ่มเข้ามาที่บ่อเจ็ดลูก เพราะบรรยากาศเงียบสงบ สวยงาม ทว่าหลังจากนั้นกลับบานปลายเป็นการเข้ามามั่วสุมเสพยา มีขโมยขโจรเข้ามา ทั้งวัวทั้งมะพร้าวของชาวบ้านถูกลักหายหมด ซ้ำร้ายการท่องเที่ยวแบบไร้จิตสำนึกยังทำลายชุมชนแห่งนี้อย่างหนักหน่วง

            “คนบ่อเจ็ดลูกจะต้องนั่งดูเขาไปตลอดชีวิตหรือ เป็นคำถามที่สะกิดใจคนหลายคน เราจึงต้องหาแนวทางทำอะไรสักอย่างเพื่อหาส่วนแบ่งจากการท่องเที่ยวบ้าง ช่วงนั้นเราจึงทำเรื่องประมง ประจวบเหมาะกับมีงานวิจัยท้องถิ่นของ สกว. ตอนนั้นประมาณปี 2546 ก็รวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาบ้านเรา ตอนนั้นเราเขียนโครงการเข้าไปชื่อว่า โครงการศึกษาศักยภาพของชุมชนเพื่อการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก จนได้อนุมัติปี 2547 หลังจากนั้นทั้งพี่เลี้ยง ทั้งชาวบ้าน ก็เรียนรู้พร้อมกัน” บังยู - ยูหนา หลงสมัน นักวิจัยโครงการการจัดการท่องเที่ยว ชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก จ.สตูล ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. เล่าให้ฟัง

36412413_1825099437548860_6531317227558273024_o

            นอกจากนี้บังยูบอกอีกว่าสิ่งที่ได้จากงานวิจัย มากกว่าที่คิด อันดับแรกคือการสำรวจพบว่ามีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนมากมาย ได้พลิกฟื้นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ได้มานั่งเล่าเรื่องราวความเป็นบ่อเจ็ดลูก ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้วยแววตาเปี่ยมสุข สิ่งที่เล่ามาได้รับการขัดเกลาด้วยกระบวนการงานวิจัย กระทั่งได้ชุดข้อมูลประวัติศาสตร์, ตำนาน, ภูมิปัญญา, อาชีพ และแหล่งท่องเที่ยว

            งานวิจัยดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างจริงจัง มีทั้งดูงานที่แม่กลางหลวง แม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาความเหมือนที่แตกต่าง แม่กลางหลวงเป็นแบบ long stay ส่วนแม่กำปองเป็นแบบ home stay ด้วยวัฒนธรรมมุสลิมไม่เอื้อให้คนต่างศาสนาค้างแรมในบ้าน จึงต้องทบทวนอย่างหนัก ระดมสมองกันในหมู่ชาวบ้านจนได้ข้อสรุปว่าจะเดินตามแนวทางของแม่กำปอง

เที่ยวสบาย สไตล์ฮิปสตูล

            สายลมกับแสงแดดเป็นสองอย่างที่เวลาลงใต้มายังดินแดนแห่งท้องทะเลต้องอยากเจอ คิดสิว่าถ้าสายลมเย็นฉ่ำมาพร้อมแสงแดดซึ่งช่วยให้บรรยากาศสดใส วันนั้นจะเที่ยวสนุกแค่ไหน

            สำหรับการท่องเที่ยวที่ชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก จ.สตูล ควรเริ่มที่ โบราณสถานบ่อเจ็ดลูก เพื่อเห็นที่มาที่ไปของชุมชนนี้

            โบณาณสถานบ่อเจ็ดลูก หรือที่ภาษามาลายูเรียกว่า ‘ลากาตูโยะ’ มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า คนกลุ่มแรกที่เข้าไปอาศัยอยู่เป็นพวกชาวเลหรือชาวน้ำที่อพยพมาจากเกาะซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่งออกไป ขณะที่อพยพมาอยู่นั้น พวกเขาได้ขุดบ่อน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ แต่ปรากฏว่าไม่มีน้ำออกมาเลย พวกเขาพยายามขุดบ่อแล้วบ่อเล่าก็ไม่มีน้ำใช้ จนกระทั่งถึงบ่อที่เจ็ดจึงมีน้ำออกมา ปัจจุบันบ่อทั้งเจ็ดลูกยังมีปรากฏให้เห็น เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ‘บ้านบ่อเจ็ดลูก’

36425019_1825099680882169_3103421232104603648_o

            บ่อน้ำทั้งเจ็ดลูก ถูกก่ออิฐประสานคอนกรีตบุผังบ่อไว้และมีลานซีเมนต์โดยรอบของบ่อ บ่อน้ำมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 0.53 – 1.52 เมตร มีความลึกจากขอบปากบ่อประมาณ 1.5 – 2.16 เมตร มีน้ำแช่ขังตลอดปี ข้อมูลระบุว่าน้ำในบ่อมีค่าการนำไฟฟ้าจำเพาะระหว่าง 303 – 417 μs/cm ขณะที่น้ำบริเวณขอบป่าชายเลนที่อยู่ใกล้กับแหล่งมีค่าการนำไฟฟ้าจำเพาะ 3,880 μs/cm ซึ่งมีค่าความแตกต่างกันมาก ซึ่งค่ายิ่งสูงหมายถึงน้ำยิ่งเค็ม

            หลังจากนั้น เรือของชาวบ้านจะพาไปยัง สันหลังมังกร หรือทะเลแหวกจนเกิดเป็นดอนทราย แม้ตรงนี้ไม่มีตำนานแต่ธรรมชาติสรรสร้างไว้อย่างน่ามหัศจรรย์ เมื่อถึงเวลาน้ำลงสันดอนทรายนวลละเอียดจะโผล่จากน้ำเป็นแนวยาว แทบจะเป็นทางเดินจากเกาะสู่เกาะเลยทีเดียว

            เรือจะจอดเทียบใกล้สันหลังมังกร ให้นักท่องเที่ยวเดินลุยน้ำไปบนนั้น เนื้อทรายนุ่มเท้าชวนให้ต้องเดินเล่นแล้วถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ภาพที่ได้จะเหมือนกำลังยืนอยู่กลางทะเล

36367584_1825099450882192_4931786409125085184_o

            อีกจุดที่ล่องเรือไปใกล้ๆ กัน คือ ผาใช้หนี้ หรือ หน้าผาหลุดหนี้ แหงนมองขึ้นไปเป็นหน้าผาหินปูนสูงชัน เมื่อมองดูด้วยตาว่าสวยแล้ว พอได้ยินตำนานของที่นี่ก็น่าทึ่ง...

            เมื่อนานมาแล้วมีชายหนุ่มติดกาแฟอย่างหนัก ติดชนิดที่ว่าไม่มีปัญญาจ่ายค่ากาแฟได้ เถ้าแก่เจ้าของร้านจึงพูดทีเล่นทีจริงว่า “ถ้านายแน่จริง ขึ้นไปบนหน้าผาแล้วกระโดดลงมา นายจะหลุดหนี้” ด้วยความเป็นหนุ่มไฟแรงจึงรับคำท้า โดยขอของสองสิ่งติดตัวไปด้วย คือ กริช และใบจากที่เย็บเป็นผืน

            หลังจากนั้นเขาขึ้นไปบนยอดผา ตามตำนานเล่าว่าช่วงนั้นเป็นช่วงมรสุม ชายหนุ่มจึงนำจากมาทำปีกแล้วกระโดดช่วงที่ลมพัดแรง ผลลัพธ์คือชายหนุ่มไปตกไกลถึงอีกอ่าวหนึ่งในท่านั่งขัดสมาธิ ชาวบ้านเรียกว่า อ่าวตะโละซีหลา (ซีหลา แปลว่า ท่าขัดสมาธิ) ไกลจากผาประมาณ 400-500 เมตร ชายหนุ่มไม่ตายและหลุดหนี้จนเกิดเป็นที่มาของผาใช้หนี้

            อีกจุดหนึ่งที่มีเรื่องราวเล่าขาน หินตาหินยาย เกี่ยวกับชายหนุ่มชาวไทยคนหนึ่งที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ไปหลงรักและแต่งงานกับเศรษฐีนีต่างชาติ หลังจากนั้นชายหนุ่มคิดถึงพ่อแม่ที่ประเทศไทย วันหนึ่งจึงชวนภรรยาโล้สำเภามาพร้อมกับเป็ดไก่เต็มลำเรือกลับมาไทย เมื่อพ่อแม่ของฝ่ายชายรู้ข่าวว่าลูกจะมาหาจึงเตรียมไก่ย่างแล้วแจวเรือเก่าบุโรทั่งไปรับลูกที่เรือสำเภาลำใหญ่ เมื่อลูกเห็นพ่อแม่เป็นคนยากจนจึงบอกภรรยาว่านี่ไม่ใช่พ่อแม่ของเขา

            ด้วยคำพูดนั้น ผู้เป็นพ่อจึงสาปแช่งให้เรือสำเภาจม หลังจากพ่อแม่แจวเรือกลับมาด้วยความชอกช้ำใจ คืนนั้นเกิดมรสุมใหญ่จนเรือสำเภาลำนั้นอับปาง สองสามีภรรยาจึงเกาะกระดานไม้ลอยคอมาจนถึงบริเวณทะเลแหวก มีชาวประมงรุนเคยรุนกุ้ง ชื่อ โต๊ะจาไหม เจอสองคนนี้ลอยคอมาในสภาพเปลือยกาย ด้วยความที่โต๊ะจาไหมมีวิชาอาคมก็หยั่งรู้ว่าสองคนนี้ไม่ดี จึงสาปแช่งว่า “พวกเจ้าห้ามเข้ามาในบ่อเจ็ดลูก จงอยู่ที่นี่เถิด” จนกลายเป็นหินตาหินยาย อุปมาอุปมัยให้คนรุ่นหลังตระหนักว่าคนไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ต้องถูกลงโทษ

            จากนั้นล่องเรือบนฝืนน้ำใสราวกระจกไปยัง ถ้ำลอดพบรัก เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘อุกาฟ้าเหลือง’ เมื่อสมัยก่อน เป็นฉากที่พระเอก-นางเอกพบกัน โดยสื่อถึงการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากพายเรือคายัคลอดช่องหินอันสวยงามน่าตื่นเต้นแล้ว เมื่อแหงนมองหน้าขึ้นไปบนผาหิน จะเห็นโพรงถ้ำ ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำโจรสลัด มีความเป็นมาในสามยุค ยุคแรกคือสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีการปล้นสะดม ยุคที่สองมีโจรสลัด และยุคที่สามมีเรือสินค้าหนีภาษี ถ้ำนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือฝนตกก็ไม่เปียก ห่างไกลจากชายฝั่ง ทำให้ทั้งสามยุคที่ว่า ถ้ำนี้กลายเป็นที่ซุกซ่อนทรัพย์สมบัติมากมาย

36365582_1825099487548855_4245710897357520896_o

สตูลกาลครั้งหนึ่ง

            ความเป็นดินแดนดึกดำบรรพ์ ทำให้สตูลมีทรัพยากรทางธรณีหลายแห่งสวยงามจนกระทั่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดตระการตา บางแห่งถูกบรรจุให้เป็นหมุดหมายของคนที่ต้องการมาย้อนอดีตสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

            อย่าง เกาะเขาใหญ่ เป็นเกาะหินปูนกลางทะเล อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ห่างจากชายฝั่งบริเวณที่ทำการอุทยานประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากท่าเรือปากบารา เพียงแค่ประมาณ 3-5 กิโลเมตรเท่านั้น

            ส่วนอีกแห่งที่ต้องยกให้เป็นจุดห้ามพลาดของการมาเยือนอุทยานธรณีโลก คือ ปราสาทหินพันยอด สิ่งมหัศจรรย์สุดอันซีนที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นจากการกัดเซาะหินของน้ำฝน จนกลายเป็นแท่งหินแหลมรูปร่างสวยงามแปลกตาคล้ายกับยอดปราสาทในเทพนิยาย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าปราสาทหินพันยอด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ธรณีวิทยา พบฟอสซิลอายุมากกว่า 480 ล้านปีบริเวณนี้ ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เป็นไปในลักษณะเชิงอนุรักษ์

36384655_1825099617548842_2066213916047835136_o

            ส่วน เขาโต๊ะหงาย นับเป็นจุดที่มีกิมมิคยกระดับความน่าสนใจจากเดิมซึ่งมากอยู่แล้ว ให้เป็นทวีคูณ เขาลูกนี้ตั้งอยู่ลูกเดียวโดดๆ มีพื้นที่ประมาณ 600×300 ตารางเมตร ด้านเหนือจรดพื้นที่ราบ ส่วนด้านใต้เป็นลักษณะของหัวแหลมผาชันยื่นออกไปในทะเล ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอ่าวที่เป็นหาดทรายโค้งเว้าเข้าไปในแผ่นดินและเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีลักษณะเป็นผาชันติดทะเลทางด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านตะวันออก มีสะพานเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเลียบไปตามชายฝั่งผาชันด้านตะวันออก แล้วโค้งไปทางตะวันตกผ่านเขตรอยต่อระหว่างหินปูนสีเทากับหินทรายสีแดง

            แม้จะไม่มีหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ แต่จากการเปรียบเทียบลำดับชั้นหิน กล่าวได้ว่า หินปูนสีเทานั้นเป็นหินปูนกลุ่มหินทุ่งสูงยุคออร์โดวิเชียน ส่วนหินทรายสีแดงนั้นเป็นหินทรายกลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียน โดยระนาบสัมผัสระหว่างกลุ่มหินทั้งสองนั้นเป็นระนาบรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันออก และจากการที่ชั้นหินทรายสีแดงมีการวางตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมเอียงเท 22 องศาแล้วค่อยๆ เพิ่มการเอียงเทมากขึ้นๆ จนอยู่ในแนวตั้งฉากที่บริเวณด้านใต้ของระนาบรอยเลื่อนนั้นเกิดเป็นรอยเลื่อนปกติ และหากนักท่องเที่ยวเดินบนสะพานจากด้านหินปูนสีเทาข้ามระนาบรอยเลื่อนไปยังด้านหินทรายสีแดง ก็เปรียบเสมือนกำลังมีอายุมากขึ้นจากยุคออร์โดวิเชียนไปเป็นยุคแคมเบรียนโดยผ่านระนาบรอยเลื่อนที่ถือว่าเป็น ‘เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย’

            ความเจ๋งระดับโลกของสตูลคงไม่ต้องกล่าวถึงอะไรมากมาย แต่ความเก๋ เท่ ของทุกสถานที่ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและเรื่องราวอันน่าสนใจ ทำให้ไม่ว่าใครได้มาก็ต้องกลายเป็น ‘ฮิปสตูล’ สุดคูลแน่นอน

36446276_1825099587548845_9126856347822850048_o