"อุทัย" ในใจฉัน

"อุทัย" ในใจฉัน

ไปกินปลา แรด ชิมขนมปังไส้สังขยา ชมผ้างาม ล่องแม่น้ำสะแกกรัง ที่เมืองเล็กๆ อุทัยธานี

 

อุทัยธานีเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่ฉันไม่เคยแวะเวียนไปเที่ยวเลย และครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ได้สัมผัสบรรยากาศเมืองนี้

ว่ากันว่า เมืองเล็กๆ มักจะมีเสน่ห์ที่ความเรียบง่าย ไม่ฉูดฉาด และส่วนใหญ่เงียบ

เป็นที่น่าภูมิใจสำหรับคนเมืองอุทัยธานี เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงโปรดเมืองเล็กๆ ที่ดูเรียบง่าย ทรงสร้างพระตำหนักแบบพอเพียงริมแม่น้ำ เนื้อที่ 300 ตารางวา ที่ตำบลอุทัยใหม่ อ.เมือง เนื่องจากมีพระสหายสนิทสมัยเรียนจุฬาฯ อยู่ที่นั่น

 

-1-

ว่ากันว่า เมืองดั้งเดิมอุทัยธานีตั้งอยู่บนที่ดอน ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน จึงไม่สามารถติดต่อทางเรือ ดังนั้นชาวเมืองจึงต้องขนข้าวบรรทุกเกวียนมาลงที่แม่น้ำ ทำให้พ่อค้าพากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวที่ริมแม่น้ำ จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่า“สะแกกรัง” เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสะแก

ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงพาล่องแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลผ่านตัวเมืองอุทัยธานี จะไหลไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท

2ล่องแม่น้ำสะแกกรัง       เรือสะแกกรังริเวอร์ครู๊ส พาพวกเราล่องไปตามสายน้ำเนิบช้า เพื่อชมทัศนียภาพสองข้างทาง 

      ไกด์ประจำเรือ บอกว่า ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติจะชอบล่องเรือในแม่น้ำสะแกกรังมากกว่านักท่องเที่ยวไทย และที่ขาดไม่ได้คือ แวะซื้อปลาแรดรมควันที่แพแม่แต๋ว ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านรมควันจากขี้เลื้อยกาบมะพร้าว ทำให้ปลาแรดรมควันสามารถสร้างมูลค่าได้ถึงกิโลกรัมละ 1,800 บาท

เมื่อแวะซื้อปลาแรดรมควันแล้ว เรือก็ล่องผ่านวัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์ วัดแห่งนี้สร้างตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มณฑปแปดเหลี่ยม รูปทรงตะวันตก ทั้งโดดเด่นและสง่างาม สมัยที่รัชกาลที่ 5 เสด็จพระพาสหัวเมืองเหนือครั้งที่ 2 เมื่อปีพ.ศ. 2449 ทรงแวะชมวัดแห่งนี้ด้วย ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 5 องค์ ผนังทั้ง 4 ด้านในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม เสียดายว่า เรือไม่ได้แวะให้เข้าไปชมภายในพระอุโบสถ

บริเวณริมน้ำที่เรือล่องผ่าน บา่งแห่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ อย่างบ้านหลวงวิจิตรวาทการ ท่านเป็นลูกหลานคนจีนที่ยากจน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งพระตำหนักของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยือนอุทัยธานี คุณยายวงเดือน คนอุทัยธานี มักจะมาแอบมองพระองค์ จนเมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง ก็ทรงโปรดให้เข้าเฝ้าทุกครั้งที่เสด็จมา คุณยายถึงกับน้ำตาไหลด้วยความปลื้มปีติ และคุณยายเสียชีวิตเมื่อปี 2558 ได้ถวายที่ดินให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สิบล้านหกแสนบาทสร้างเป็นศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอาชีพ และแหล่งเรียนรู้และการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชนและเยาวชนในจังหวัดอุทัยธานี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับสั่งให้คนทำงานในศูนย์วงเดือน ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรแบบง่ายๆ โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่าย อาทิ ยางรถ กระป๋องพลาสติก นำมาเป็นภาชนะปลูกผักหลากหลาย และมีการดัดแปลงขวดพลาสติกนำมาปลูกผัก โดยคิดนวัตกรรมใช้น้ำน้อย แม้จะมีพื้นที่ไม่เยอะ แต่มีมอเตอร์ไซค์มารับผักไปขายทุกวัน

-2-

ฉันเองก็เพิ่งรู้ว่า อุทัยธานีมีเกาะ...

เกาะเทโพ เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในอุทัยธานี อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง เป็นอีกสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชอบมาปั่นจักรยาน ใช้ชีวิตชิลล์ๆ ปั่นไป ชมสวนไป เนื่องจากบรรยากาศสองข้างทางเป็นป่าไผ่ ไร่ข้าวโพด และทุ่งนาที่สงบร่มรื่น ที่นี่มีเสื่อลำแพนจากการใช้ต้นไผ่สาน

มาที่นี่ต้องขึ้น เขาสะแกกรัง หรือที่เรียกว่า เขาแก้ว สามารถนำรถยนต์ขึ้นไปบนเขาได้เลย  ถ้าอยากออกกำลังกาย ก็ลองเดินไต่บันได 449 ขั้นขึ้นไป

เขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดสังกัสรัตนคีรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.2443 ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นอีกสถานที่ที่ชาวเมืองให้ความเคารพ และเป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองอุทัยธานี 

นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ว่ากันว่าย้ายมาจากวัดจันทาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 และมีระฆังใบใหญ่ แต่ต้องใช้คนสองคนแบกไม้ตีระฆัง ดังนั้นถ้ามาคนเดียวก็หมดสิทธิตีระฆัง แต่เรามาเป็นหมู่คณะ จึงได้ยินเสียงระฆังดังก้องกังวาล

หากอยากดูเมืองเล็กๆ น่ารัก ต้องออกเดิน ถ้ามาวันเสาร์ก็มีถนนคนเดิน ตรอกโรงยา สามารถแวะมาดูอาคารเก่าแก่ และบ้านโบราณแบบจีนๆ ดื่มกาแฟ ลิ้มรสอาหารต่างๆ 

แต่ครั้งนี้เรามาไม่ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ จึงมีโอกาสแค่แวะไปร้านฮกแซตึ๊ง ร้านยาจีนดั้งเดิมอายุกว่าร้อยปี สมัยก่อนคนอุทัยธานีไม่สบายต้องแวะมาหาหมอที่ร้านนี้ และคนจีนที่มาค้าขายในอุทัยธานีก็ มักจะแวะมาพักพิงอาศัย แต่ตอนนี้เหลือเพียงตำนาน ปิดตัวไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ จะเปิดให้ชมเฉพาะคนที่ติดต่อเข้ามา

เสงี่ยม ทายาทร้านยาจีนฮกแซตึ๊ง บอกว่า บางครั้งไม่อยากเปิดให้ชม เพราะคนที่มาเยือนบางคน แอบหยิบสิ่งของในร้านไป และบางครั้งอยากถ่ายภาพ ก็ย้ายสิ่งของที่ตั้งไว้ 

แต่อย่างไรก็ตาม เธอก็เอื้ออาทรสำหรับคนรักของเก่า ถ้าอยากดู ต้องติดต่อเข้ามา เพราะไม่ได้เปิดบ้านให้ชม

ร้านยาฮกแซตึ๊ง เหลือเพียงตำนาน

-3-

สำหรับคนที่ชอบผ้าทอ เมืองอุทัยมีผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่งในอ.บ้านไร่ สืบทอดมานานกว่าร้อยปีจากชาวลาวครั่งและลาวเวียงที่อพยพมาอยู่เมืองไทย ลูกหลานรุ่นปัจจุบันที่เป็นป้าๆ ยายๆ ยังคงอนุรักษ์ผ้าทอที่มีความละเอียดของลวดลาย และวิธีการย้อมจากวัสดุธรรมชาติที่สืบทอดมานาน 200-300 ปีและแทบจะหาไม่ได้แล้วในเวียงจันทน์

     ปกติแล้วแม่บ้านตำบลบ้านผาทั่งจะทอด้วยกี่พื้นบ้าน มีทั้งลวดลายกลีบบัว ลายช่อฟ้า ลายขอหลวงน้อย และลายขอหลวงใหญ่ ฯลฯ ที่โดดเด่นต่างจากที่อื่นคือ มีเชิงชายผ้าเป็นผ้าตีนจก ลวดลายโบราณ

อย่างผ้าทอลายดาวไหล ว่ากันว่า ปู่ย่าตายายพวกเขา เห็นดาวตก ก็ได้แรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ลายผ้าออกมาเป็นรูปดาวเรียงต่อกันเป็นเส้น แต่งแต้มด้วยลายกลีบบัว ลวดลายนี้มีคนสั่งจองอยู่เรื่อยๆ และที่โดดเด่นกว่านั้น คงเป็นชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์ ที่สตรีโบราณเวลาจะแต่งงานจะต้องถักทอผ้าด้วยมือทุกอย่าง ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีใครทำแล้ว

แต่ก็ยังมีคนทอชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์อยู่ไม่กี่คน ชุดนี้ประกอบด้วย หมอนขวานใบใหญ่ ผ้าคลุมเตียง ผ้าหน้ามุ้งหมอนข้างสองใบ และหมอนเหลี่ยมหนุนศรีษะสองใบ 

ทั้งชุด รวมๆ แล้วราคาหนึ่งแสนกว่าบาท ต้องสั่งล่วงหน้าเป็นปีๆ เพราะคนทอสามารถทำได้ปีละชุดเดียว โดยงานชุดนี้ได้รางวัลจากยูเนสโก้ให้เป็นที่ 1 ของโลก

ดังนั้นคนที่มาที่ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง ส่วนใหญ่เป็นคนที่ชอบผ้าลายโบราณและตั้งใจท่ี่จะซื้ัอ เพราะราคาเริ่มต้นตั้งแต่สามพันบาทขึ้นไป

ไหนๆ ก็เดินทางมาถึงอุทัยธานี ก็ต้องลองแวะชมต้นไม้ยักษ์ ที่บ้านสะนำ ชาวบ้านในพื้นที่เรียก ต้นเซียง อายุกว่าสามร้อยปี ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าหมาก ถ้าจะโอบรอบต้นไม้ต้องใช้คนประมาณ 30-40 คน และต้นไม้ใหญ่ต้นนี้ยังเป็นศูนย์กลางของคนในชุมชน 

ว่ากันว่า เมื่อก่อนก็มีต้นเซียงอยู่เยอะ แต่ถูกโค่นและตัดไป ปัจจุบันจึงเหลือเพียงต้นเดียว

  ขนมปังไส้สังขยา ของอร่อยเมืองอุทัยธานี

-4-

     ส่วนวิถีการกินอนอยู่ เมืองอุทัยธานีไม่ค่อยมีภัตตาคารอาหารจีน เพราะคนอุทัยชอบที่จะทำอาหารกินที่บ้าน มีความสุขง่ายๆ กับการกินการอยู่

ว่ากันว่า คนมาเที่ยวอุทัยธานี ต้องสั่งปลาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ปลาแรด ปลาชนิดนี้เลี้ยงในกระชัง ในลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง 

และพวกเราก็ได้กินปลาแรดทุกมื้อ ถ้าไม่ต้มยำ ก็ปลาทอดใส่มะม่วงหอมซอยเปรี้ยวๆ อร่อยจนนึกถึงหน้าปลาแรด มีคนบอกว่า หน้างุ้มๆ  เกล็ดหนา เนื้อนุ่ม แน่น และหวาน จนถึงกับจดลิขสิทธิ์ให้เป็นปลาอร่อยเมืองอุทัย และปลาแรดชนิดนี้ได้รับความนิยมมาก จนต้องจัดเทศกาลกินปลาแรดในเดือนกรกฎาคมของทุกปี

อีกอย่างที่ต้องแนะนำ เมื่อมาถึงเมืองอุทัย ก็คือ ขนมปังไส้สังขยา มีอยู่ 4 ร้านให้เลือก อร่อยเหมือนกัน เพียงแต่หวานน้อย หวานมาก หวานมัน

ถ้าเป็นร้านเก่าสุด ต้องร้านขนมไพพรรณ ส่วนร้านแม่ป่วยลั้ง มีทั้งไส้สังขยาใบเตย และสังขยาชาไทย  นอกจากนี้ยังมีร้านเก่าอีกแห่งคือ ร้านสิริกุล เบเกอรี่ ส่วนตั้งซ่งเชียง เป็นขนมปังไส้ สังขยา รสหวานน้อย 

นอกจากขนมหวาน ยาหอม ยาดม ยาหม่อม ตราทับทิม อยู่ที่เมืองอุทัยนี่เอง เราก็ได้แวะไปซื้อที่ร้านวิรัติพานิช คนที่ดูแลกิจการเป็นรุ่นลูก ทายาทรุ่นที่ 2 แล้ว

ยาหอมยี่ห้อนี้เป็นของดีคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากหมอปรุงยา ร่ำเรียนมาทางการแพทย์แผนจีน ส่วนประกอบในยาหอมจึงมีทั้งสมุนไพรไทย-จีน ที่ให้กลิ่นหอมสดชื่น อาทิ โกฐสอ จันทน์เทศ เปลือกอบเชย กานพลู กฤษณาเนื้อไม้ ผิวส้มเขียว ชะเอมเทศ

ลองแวะมาเที่ยวสิ

.................

(การเดินทาง)

อุทัยธานีห่างจากกรุงเทพประมาณ 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง เป็นเมืองเล็กๆ เงียบมีธรรมชาติ ป่าเขาสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ อาทิ วัดท่าซุง ,แม่น้ำสะแกกรัง,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และชุมชนเก่าตรอกโรงยา ฯลฯ

 ตลาดนัดซาวให้ อ.บ้านไร่ เปิดตลาดเฉพาะเสาร์อาทิตย์ เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าทำมือจากชุมชน ส่วนถนนคนเดินตรอกโรงยา เปิดทุกเย็นวันเสาร์

-ล่องเรือ แม่น้ำสะแกกรัง มีเรือสะแกกรังริเวอร์ครู๊ส ติดต่อที่คุณหน่อง 0871975115

 -ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง อ.บ้านไร่ ติดต่อที่เบอร์ 0892709683 และ083 3165128