SBNEXT นำส่งงบ ก.พาณิชย์ไม่ได้ ผถห.ค้าน "กิตติพล ฐานะสิทธิ์" อดกลับนั่ง กก.

SBNEXT นำส่งงบ ก.พาณิชย์ไม่ได้ ผถห.ค้าน "กิตติพล ฐานะสิทธิ์" อดกลับนั่ง กก.

ผลประชุมผู้ถือหุ้น บมจ. สบาย คอนเน็กซ์ เทค (SBNEXT) อึมครึม ผู้เข้าประชุมค้านหัวชนฝาส่งผลวาระสำคัญโดนเบรก บอร์ดปรี่แจงหาทางออก โดยกรณีไม่รับรองงบปี 2566 ยังเร่งกล่อมหวังรอบหน้ายกมือให้ กรรมการที่ไม่ได้กลับมารอตั้งคนใหม่เพิ่ม ส่วนแผนระดมทุนต้องรื้อใหม่ทั้งกระบิ

ดร.คุณัญญา อรรถมงคลชัย เลขานุการบริษัท บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงผลความคืบหน้าจากการดำเนินการเกี่ยวกับมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบโดยระบุว่า

มติที่สำคัญจากการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 13/2567 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 มีดังนี้

1. ความคืบหน้าจากแนวทางการดำเนินงานของมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 เวลา 13.30 น. 

ในวาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติงบแสดงฐานะทางการเงินและงบกำไรขาดทุนประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 นั้น ที่ประชุมมีมติไม่อนุมัติงบแสดงฐานะทางการเงินและงบกำไรขาดทุนประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 

ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ไม่สามารถนำงบแสดงฐานะทางการเงินและงบกำไรขาดทุนประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ไปยื่นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 112 และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม)

บริษัทฯ จะมีความรับผิดตามมาตรา 191 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) โดยจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และบริษัทฯ จะต้องเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อให้พิจารณางบการเงินฉบับดังกล่าว

ส่วนแนวทางการดำเนินการ บริษัทฯ มอบหมายตัวแทนให้ไปสอบถามประเด็นความข้องใจที่อาจไม่มีการสื่อสารที่ชัดเจนจากกรรมการบริษัทที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ถือหุ้นที่มีความเห็นไม่รับรองงบการเงินฉบับดังกล่าว เพื่อเร่งดำเนินการอธิบายและชี้แจงข้อสงสัยของผู้ถือหุ้นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง

วาระที่ 4 พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ มีมติอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการของบริษัทที่ต้องออกจากตำแหน่งตามวาระกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการชุดย่อยอีกวาระหนึ่ง ดังนี้

1.ไม่อนุมัติการแต่งตั้งนายกิตติพล ฐานะสิทธิ์ เป็นกรรมการ กรรมการการลงทุน กรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหาร และกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและออกเสียงลงคะแนน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น เดิมกรรมการบริษัทมีทั้งหมด 9 ท่าน จากการลงมติผู้ถือหุ้นไม่อนุมัติแต่งตั้ง (นายกิตติพล ฐานะสิทธิ์) กลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง ส่งผลทำให้คณะกรรมการบริษัท ณ ปัจจุบันเหลือเพียง 8 ท่าน หากบริษัทต้องการให้มีคณะกรรมการ 9 ท่าน จะต้องนำเสนอเพื่อพิจารณาของอนุมัติจากผู้ถือหุ้น

ส่วนแนวทางการดำเนินการ บริษัทเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อนำเสนอวาระการขอเพิ่มเติมกรรมการบริษัท 1 อัตรา

วาระที่ 5 พิจารณาอนุมัติกำหนดค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการและกรรมการชุดย่อย ประจำปี 2567 โดยมีมติไม่อนุมัติกำหนดค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการและกรรมการชุดย่อยประจำปี 2567 เป็นเงินจำนวนไม่เกิน 6,000,000 บาท และโบนัสกรรมการ กำหนดเกณฑ์ในการจ่ายโบนัสกรรมการในอัตราร้อยละ 1 ถึง 5 ของเงินปันผลจ่ายในปีนั้น ๆ โดยมอบหมายให้ประธานกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาจัดสรรต่อไป 

(อนึ่งเนื่องจากบริษัทเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 พิจารณาอนุมัติงดจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ดังนั้น บริษัทจะไม่จ่ายโบนัสกรรมการประจำปี 2566 และบริษัทจะเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 พิจารณาอนุมัติเกี่ยวกับการจ่ายโบนัสกรรมการประจำปี 2567 ต่อไป (หากมี)) 

ทั้งนี้ เนื่องจากคะแนนเสียงมีจำนวนน้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม จึงถือว่ามติในวาระนี้ไม่ผ่าน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น การจ่ายเบี้ยประชุมคณะกรรมการไม่สามารถจ่ายได้นับตั้งแต่ผู้ถือหุ้นไม่อนุมัติ โดยการจ่ายเบี้ยประชุมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 26 เมษายน 2567 ที่ได้มีการจ่ายให้กับกรรมการบริษัทจะต้องเรียกคืน

ส่วนแนวทางการดำเนินการ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ทำหนังสือแจ้งคณะกรรมการเพื่อเรียกคืนค่าเบี้ยประชุม และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมายตัวแทนให้ไปสอบถามสาเหตุและอธิบายเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้น และเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการ

วาระที่ 6 พิจารณาอนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัทและแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 3. เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัท มีมติไม่อนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัทและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 3. วัตถุประสงค์ของบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัท เนื่องจากคะแนนเสียงมีจำนวนน้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน จึงถือว่ามติในวาระนี้ไม่ผ่าน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น การทำธุรกรรมบางกรณีบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท
1) รับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิด และการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลใด ๆ รวมถึงจำนอง จำนำ รับจำนอง รับจำนำทรัพย์สินใด ๆ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้หรือประกันการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สัญญาให้แก่บุคคลใด ๆ
2) ลงทุนในหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ และหลักทรัพย์อื่นของบริษัทใด ๆ และขายจำหน่าย หรือซื้อกลับคืนมาซึ่งหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือหลักทรัพย์ใด ๆ
3) ฟ้องคดีและสู้คดี เสนอข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ และเข้าทำสัญญาและประนีประนอมยอมความในศาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ส่วนแนวทางการดำเนินการ บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันเรื่องของการแก้ไขวัตถุประสงค์ของบริษัท

วาระที่ 8 พิจารณาอนุมัติลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจำนวน 328 บาท จากทุนจดทะเบียน 923,028,535 บาท เป็นจำนวน 923,028,207 บาท ทั้งนี้การตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจำนวน 328 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ซึ่งคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นปันผล และแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 4. เพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทมีมติไม่อนุมัติลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจำนวน 328 บาท จากทุนจดทะเบียน 923,028,535 บาท เป็น 923,028,207 บาท โดยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย 328 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาทซึ่งคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นปันผล และแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 4. เพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุนจดทะเบียนของบริษัท เนื่องจากคะแนนเสียงมีจำนวนน้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน จึงถือว่ามติในวาระนี้ไม่ผ่าน

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น บริษัทยังคงเหลือการจัดสรรหุ้นปันผล ที่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจำนวน 328 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวมมูลค่า 328 บาท(ตามแบบรายงานผลการขายหลักทรัพย์ต่อตลาดหลักทรัพย์ F53-5)

ส่วนแนวทางการดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการชะลอเรื่องการเพิ่มทุนจึงยังไม่ได้มีการวางแผนเพื่อดำเนินการอย่างไรต่อไป

วาระที่ 11 พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ผู้ถือหุ้นขอเสนอวาระเพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมการ ดังนั้นที่ประชุมจึงขอให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนสำหรับการขอเพิ่มเติมวาระการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการตามที่ผู้ถือหุ้นนำเสนอ ซึ่งการเสนอวาระดังกล่าวจะต้องเสนอโดยผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด 604,358,518 หุ้น

อย่างไรก็ดี จากการลงคะแนนเสียงมีผู้ถือหุ้นเห็นด้วยให้มีการเพิ่มวาระเพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมการ 198,580,155 เสียง คิดเป็นร้อยละ 32.8580 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด ซึ่งผลปรากฏว่าจำนวนหุ้นที่นับรวมกันน้อยกว่าข้อกำหนดจึงไม่สามารถนำเสนอวาระ 11 เพิ่มเติม

โดยแนวทางการดำเนินการ บริษัทมิได้นิ่งนอนใจต่อเจตจำนงของผู้ถือหุ้นที่ได้ทำการเสนอรายชื่อกรรมการบริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดโอกาสให้มีการเสนอรายชื่อกรรมการและพิจารณาผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนต่อไป

อย่างไรก็ดี ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 (ปรากฏตามข่าวที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ เลขที่ SBNEXT.IR. 021/2567 ลงวันที่ 25 เมษายน 2567) เรื่อง แจ้ง (ยกเลิก) วาระเพิ่มทุน จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และแก้ไขวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567

วาระที่ 9 พิจารณาอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท 6,043,585,180 บาท จากทุนจดทะเบียนจำนวน 923,028,207 บาท เป็น 6,966,613,387 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 6,043,585,180 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 4. เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท โดยภายหลังจากการปรับโครงสร้างทุนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่อาจทำให้นโยบายการลงทุนในบริษัทย่อยเปลี่ยนไป ผู้ถือหุ้นรายดังกล่าวต้องการชะลอการลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ด้วยเหตุนี้ ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่มีความกังวลใจและเกิดความไม่มั่นใจต่อการเพิ่มทุนตามวาระที่บริษัทนำเสนอ และเพื่อให้บริษัทฯ ได้มีเวลาเตรียมความพร้อมข้อมูลเพื่อสื่อสารให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงขอถอนวาระที่ 9 ตามที่นำเสนอข้างต้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้น การชะลอการลงทุนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของบริษัท เนื่องจากแผนการเพิ่มทุนมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ชำระคืนเงินกู้และ/หรือเจ้าหนี้การค้า (ประมาณ 300 – 1,000 ล้านบาท)
2. ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงธุรกิจ Vending (ประมาณ 1,500 – 2000 ล้านบาท)
3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ (ส่วนที่เหลือ)

แนวทางการดำเนินการ บริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้สำหรับดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต