“ข้อมูลภายใน รู้แล้วต้องระวัง! ไม่นำไปใช้แบบไม่ผิดกฎหมาย”

“ข้อมูลภายใน รู้แล้วต้องระวัง! ไม่นำไปใช้แบบไม่ผิดกฎหมาย”

การนำ “ข้อมูลภายใน” ไปใช้ในทางมิชอบ หรือมีการซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลภายในที่ล่วงรู้มา เพราะอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย

ตามที่สัญญากันไว้ในตอนที่แล้วนะครับว่า ครั้งนี้เราจะมาคุยกันเรื่องการนำ “ข้อมูลภายใน” ไปใช้ในทางมิชอบ หรือมีการซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลภายในที่ล่วงรู้มา (Insider Trading) เพราะอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ก.ล.ต. มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนและผู้เกี่ยวข้องความผิด Insider Trading มาเป็นระยะ ๆ ทั้งการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง และทางอาญาโดยการกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพราะนอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แล้ว ยังเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ

ก่อนอื่นมาทบทวนกันสักนิดว่า “ข้อมูลภายใน” นั้นหมายถึงข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ ดังนั้น ข้อมูลที่เข้าข่ายเป็น “ข้อมูลภายใน” จะเป็นไปได้หลายประเภท เช่น ผลการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นกำไรหรือขาดทุน รายได้ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การเข้าทำสัญญาหรือได้มาซึ่งโครงการขนาดใหญ่ การประกาศจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุนหรือลดทุน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีที่สำคัญ

สำหรับ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีบทบัญญัติเพื่อจะคุ้มครองประชาชนโดยการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย จึงได้กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในอาจเกิดได้ใน 2 ลักษณะ คือ การซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (รวมทั้งเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์นั้น) และ การเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น 

ขณะที่ “ผู้กระทำผิด” สามารถเป็นบุคคลใด ๆ ก็ได้ซึ่งได้รับรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในและนำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลอื่น หรือเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ไว้เพื่อคาดหวังกำไรในกรณีข้อมูลภายในนั้นจะเป็นผลเชิงบวกต่อราคาหลักทรัพย์ และการขายเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนในกรณีข้อมูลภายในนั้นจะเป็นผลเชิงลบต่อราคาหลักทรัพย์ 

ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นผู้บริหารบริษัท XYZ ที่รู้ว่าบริษัทกำลังมีการเจรจาซื้อกิจการบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ เผลอไปบอกข้อมูลนี้กับ นาย ข. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในงานเลี้ยง เมื่อ นาย ข. รู้ข้อมูลนี้แล้วไปบอก นางสาว ค. แล้วทั้ง นาย ข. และ นางสาว ค. รีบไปซื้อหุ้นบริษัท XYZ และหลังจากนั้นไม่กี่วันบริษัท XYZ แจ้งการลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อกิจการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในกรณีนี้ นอกจาก นาย ก. จะเข้าข่ายเปิดเผยข้อมูลภายในแก่ นาย ข. แล้ว นาย ข. ก็เข้าก็เข้าข่ายเปิดเผยข้อมูลภายในแก่นางสาว ค. ด้วย นอกจากนี้ นาย ข และ นางสาว ค. เข้าข่ายมีความผิดจากการซื้อหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์บนข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยทั่วไป เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนที่ไม่ได้มีข้อมูลนั้น

นอกจากนี้ กฎหมายมีบทสันนิษฐานว่า กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงพนักงานและบุคคลที่อยู่ในฐานะที่สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือคนใกล้ชิดที่มีการซื้อขายที่ผิดปกติวิสัยจากที่เคยทำ ก็จะถูกพิจารณาไว้ก่อนว่าเป็นผู้ที่รู้และครอบครองข้อมูลภายใน หากบุคคลดังกล่าวมีการเปิดเผยหรือซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงที่มีข้อมูลภายใน อาจเป็นความผิด ซึ่งจะต้องมีหน้าที่ไปพิสูจน์ว่าไม่ได้นำข้อมูลภายในไปเปิดเผยหรือซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน อย่างไรก็ดี กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นที่ไม่เป็นการกระทำความผิด เช่น การปฏิบัติตามกฎหมาย คำสั่งศาล ตามภาระผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำไว้ก่อนที่จะรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และการกระทำที่มิได้เป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อาจเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนจากการใช้ข้อมูลภายในหรือไม่นั้น ก.ล.ต. พิจารณาจากรายละเอียด หลักฐาน ข้อเท็จจริงประกอบเป็นรายกรณีไป และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานตามสิทธิอันพึงมี จากนั้นรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านด้วยความรอบคอบและรัดกุม โดยมีกระบวนการพิจารณาที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีความรอบคอบ รัดกุม เชื่อถือได้ และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งมีการบริหารจัดการข้อมูลภายใน เพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของกรรมการและผู้บริหารบริษัท (ตามกฎหมายมีข้อสันนิษฐานว่ากรรมการและผู้บริหารเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน) โดยกำหนดนโยบายและวิธีการดูแลกรรมการและผู้บริหารเพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ โดยเฉพาะการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงอย่างน้อย 1 เดือนก่อนที่งบการเงินของบริษัทจะเผยแพร่ต่อสาธารณะชน (blackout period) และเปิดเผยนโยบายนั้นไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และนอกจากมีนโยบายดังกล่าวแล้ว บริษัทจดทะเบียนควรมีมาตรการในการติดตามดูแลการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดอีกด้วย เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าจะไม่มีการเอาเปรียบจากผู้ที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน การซื้อขายหลักทรัพย์มีความเป็นธรรมต่อผู้ลงทุนทุกคน

ในท้ายนี้ ผมขอย้ำเตือนอีกครั้งนะครับ การที่กรรมการและผู้บริหารไม่เข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง blackout period นั้น เป็นการปฏิบัติตามแนวทางที่ดีแล้วครับ อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่นอกช่วง blackout period แต่หากกรรมการและผู้บริหารมีข้อมูลภายในที่ตนเองได้รู้หรือครอบครองอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ๆ ได้อยู่ดี เนื่องจากเป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่นในการซื้อขายเช่นกันครับ