JKN เผย 23 เม.ย.นี้ ศาลนัดฟังคําสั่งฟื้นฟู คาด ม.ค.68 เริ่มดำเนินการตามแผน

JKN เผย 23 เม.ย.นี้ ศาลนัดฟังคําสั่งฟื้นฟู คาด ม.ค.68 เริ่มดำเนินการตามแผน

JKN เปิดไทม์ไลน์แก้ไขฟื้นฟูกิจการ โดย 23 เม.ย.67 นี้ ศาลนัดฟังคําสั่งฟื้นฟู และตั้งผู้ทําแผน ส่วนขั้นตอนดำเนินการตามแผนคาดเป็นม.ค.68 ปีหน้า

นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า สืบเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ขึ้นเครื่องหมาย CB และ CS บนหลักทรัพย์ของบริษัท เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านธุรกิจ อีกทั้งผู้สอบบัญชีออกงบ และไม่แสดงความเห็นแบบปกตินั้น บริษัทมีแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. การพิจารณาคดีของศาลล้มละลายกลาง มีความคืบหน้าดังนี้

- บริษัท ยื่นคําร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 โดยศาล รับคําร้องฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 และบริษัท เข้าสู่สภาวะการพักชําระหนี้ทั้งหมดของบริษัท (Automatic Stay) ไปจนกว่าศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

- กําหนดการของศาลในครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 จําเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 5 มีนาคม 2567 เนื่องจากทนายของฝ่ายบริษัท ป่วยไม่สามารถมาศาลได้

- วันที่ 5 มีนาคม 2567 ศาลได้ไต่สวนพยานทุกฝ่าย คดีเสร็จการไต่สวน

- ศาลนัดวันฟังคําสั่งในวันที่ 23 เมษายน 2567

2. การเตรียมแผนฟื้นฟูกิจการ มีความคืบหน้าดังนี้

- ทีมที่ปรึกษากฎหมายได้ดําเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของศาลในการพิจารณารับคําร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งได้ดําเนินการมาถึงขั้นตอนที่ 5 แล้ว (จาก 12 ขั้นตอน)

- ด้านแผนธุรกิจ และแผนการเงินอยู่ในระหว่างการจัดทําซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทันเวลาที่จะนําเสนอต่อศาล

- ในการเตรียมแผนฟื้นฟูฯ บริษัทได้แบ่งการทํางานออกเป็น 2 ส่วน

- ส่วนที่ 1 การดําเนินธุรกิจในประเทศ โดยมี 2 ธุรกิจหลักคือ Commerce และ Content ซึ่งจะใช้กระแสเงินสดในปัจจุบัน ประกอบกับการลดขนาดองค์กรให้เหลือเพียง 40 คน และเน้นการว่าจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ จึงทําให้มีกระแสเงินสดเพียงพอ

- ส่วนที่ 2 การดําเนินธุรกิจในต่างประเทศ คือ Miss Universe ซึ่งในข้อตกลง ทางผู้ซื้อ คือLegacy Holding Group USA Inc. (“LHG”) จะเป็นผู้จัดหาเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)ในการทํางานทั้งหมด ดังนั้น บริษัท จึงไม่ต้องใช้เงินในการสนับสนุนงานแต่อย่างใด

 

 

3. การปรับโครงสร้างธุรกิจ และองค์กร มีความคืบหน้าดังนี้

- โครงสร้างธุรกิจ : ดําเนินงานตามแผน 3 C คือ Content, Commerce และ Contest บริษัทได้เตรียมแผนงาน และประมาณการรายได้ในอนาคตเพื่อบรรจุเข้าแผนฟื้นฟูฯ เพื่อเสนอต่อศาลได้พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ จะมีแหล่งรายได้ที่สําคัญจากธุรกิจบริหารจัดการลิขสิทธิ์นางงามจักรวาล ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเภทรายได้ (BASIC 10) ได้แก่

1) Franchise Fee รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ในการจัดประกวดที่เรียกเก็บจากแต่ละประเทศในการจัดประกวดนางงามเพื่อหาตัวแทนเข้าร่วมประกวด Miss Universe, 2) Hosting Fee รายได้จากค่า License ที่เรียกเก็บจากประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประกวด 3) Production Fee รายได้จากการรับจ้างผลิตงานประกวด 4) Sponsorship Fee รายได้ที่เกิดจากผู้สนับสนุนการจัดการประกวด

5) Licensing & Merchandising Fee รายได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการ หรือให้สิทธิผลิตสินค้าหรือบริการภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าต่างๆ ของ MUO 6) Broadcast Fee รายได้จากการให้ License ในการเผยแพร่สัญญาณการจัดการประกวดในแต่ละประเทศ 7) Program & Fo rmat fees รายได้จากการให้สิทธิในการผลิตรายการ 8) Talent Management fee (รายได้จากการบริหารจัดการงานจ้างและงานบันเทิงที่เป็นผู้ครองตําแหน่ง 9) Ticket Sales รายได้จากการจําหน่ายบัตรเข้าชมการประกวดทั้งงาน Event และ 10) Travel Packages รายได้จากการดําเนินธุรกิจท่องเที่ยว

- โครงสร้างองค์กร : เตรียมการยุติธุรกิจที่ขาดทุน เตรียมขายธุรกิจที่ยังพอมีมูลค่า เตรียมการว่าบริษัทใดจะปิด และบริษัทใดจะดําเนินธุรกิจต่อ เพื่อนําเสนอต่อศาลพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ การขายหุ้น MUO ในสัดส่วนร้อยละ 50 ให้แก่ LHG นั้น เนื่องจาก ในการสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโลกสิ่งที่มีความจําเป็น และสําคัญเป็นอย่างยิ่งคือ ประสบการณ์ ฐานทุน และฐานธุรกิจ ตลอดจนสายสัมพันธ์ (Connection) โดยการดําเนินธุรกิจของ MUO นั้น จําเป็นต้องมีผู้ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่ง LHG มีความเหมาะสม มีศักยภาพทั้งทางด้านฐานะการเงิน รวมถึง International Connection ที่จะช่วยทําให้ MUO มุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ภายใน 5 ปีได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีแม้จะทําให้บริษัท มีสัดส่วนการถือหุ้นลดลง แต่ขนาดของธุรกิจที่จะใหญ่ขึ้นภายใต้การร่วมมือครั้งนี้ บริษัทเชื่อว่ามีความคุ้มค่า

สำหรับขั้นตอน และกรอบระยะเวลาโดยประมาณ

1. บริษัทยื่นคําร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาล (8 พฤศจิกายน 2566)

2. ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง และเข้าสู่สภาวะ Automatic Stay จนกว่าศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น (9 พฤศจิกายน 2566)

3. ศาลจัดส่งคําร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ (พฤศจิกายน 2566)

4. ศาลนัดไต่สวนคําร้องการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ (29 มกราคม 2567 : เลื่อน)

4.1 ศาลไต่สวนคําร้องการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ (5 มีนาคม 2567)

5. ศาลนัดฟังคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทําแผน (23 เมษายน 2567)

6. ประกาศคําสั่งศาล และแต่งตั้งผู้ทําแผนในหนังสือพิมพ์ และราชกิจจานุเบกษา (ประมาณพฤษภาคม 2567)

7. เจ้าหนี้ดําเนินการยื่นคําร้องขอรับชําระหนี้ (ประมาณมิถุนายน 2567)

8. ผู้ทําแผนจัดทําแผนฟื้นฟูภายใน 3 เดือนนับจากวันโฆษณาคําสั่งตั้งผู้ทําแผน (ประมาณกันยายน 2567)

9. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นําส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ (ประมาณตุลาคม 2567)

10. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้ลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการ (ประมาณพฤศจิกายน 2567)

11. ศาลล้มละลายกลางพิจารณาคําสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ (ประมาณธันวาคม 2567)

12. ผู้บริหารแผนเริ่มดําเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ (ประมาณมกราคม 2568)

หมายเหตุ : กรอบระยะเวลาดําเนินการเป็นการประมาณการเบื้องต้น ภายใต้สมมติฐานที่ดีที่สุดและภายใต้กรณีที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ยืนยันว่า บริษัทฯ มีเจตนาที่ดีในการชําระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท จะช่วยให้บริษัท แก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับ และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้ง บริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกําไรจากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์