ITD ยันเจ้าหนี้แบงก์ปล่อยกู้ หลังประเมินโครงการในมือ

ITD ยันเจ้าหนี้แบงก์ปล่อยกู้ หลังประเมินโครงการในมือ

ITD เร่งแก้ไขวิกฤติสภาพคล่อง พ้นเหตุภายใน 15 วัน ลุ้นปลดป้าย CS ลั่น “เจ้าหนี้กลุ่มแบงก์” เข้าประเมินโครงการในมือแล้ว ยันปล่อยสินเชื่อต่อได้ ล่าสุด รับสินเชื่อบางส่วนแล้ว ย้ำอยู่ระหว่างเจรจาปรับสัญญาใหม่ ยันวงเงินเพียงพอเดินหน้าต่อได้

วานนี้ (9 เม.ย.67) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้จัดประชุม Pubic Presentation ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเพื่อให้พ้นเหตุภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขึ้นเครื่องหมาย CS บนหลักทรัพย์ของบริษัท ตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 2566

แต่กลับไร้เงา “นายเปรมชัย กรรณสูต” กรรมการและประธานบริหารบริษัท ITD นั่งหัวโต๊ะร่วมให้ข้อมูล โดยส่ง “นายชาติชาย ชุติมา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายการเงิน ITD นั่งแทนพร้อมให้ข้อมูล กล่าวว่า สำหรับวงเงินสินเชื่อที่บริษัทเจรจากับกลุ่มธนาคารหลัก เพื่อเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อเป็นมูลค่าเท่าไรนั้น คงไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ แต่ยืนยันว่าเป็นวงเงินที่เพียงพอให้บริษัทสามารถดำเนินโครงการที่อยู่ในมือต่อไปได้จนสำเร็จ

ITD ยันเจ้าหนี้แบงก์ปล่อยกู้ หลังประเมินโครงการในมือ

“ตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่ผ่านมา เจ้าหนี้ที่เป็นกลุ่มธนาคารหลัก ได้เข้ามาศึกษารายละเอียด และประเมินโครงการเชิงลึกว่า โครงการที่เรามีอยู่ในมือ ต้องใช้เงินดำเนินงานอีกเท่าไรถึงจะสามารถดำเนินโครงการได้จนสำเร็จ พร้อมกับให้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติม ให้บริษัทสามารถเข้าประมูลงานใหม่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมในอนาคต พร้อมกับให้เงินไปชำระซัพพลายเออร์ ให้โครงการดำเนินต่อไปได้ และการบริหารจัดการลดต้นทุน เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินหน้าต่อไปได้ด้วยดี" 

นายชาติชาย กล่าวว่า บริษัทยังมีแนวทางการจัดการปัญหาการขาดสภาพคล่อง โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจาข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลัก เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านสินเชื่อทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

ในปัจจุบัน บริษัทได้ทยอยรับสินเชื่อมาบางส่วนแล้ว และคาดว่ากลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลักจะตกลงเรื่องสัญญาการให้สินเชื่อ จนเสร็จสิ้นเรียบร้อยเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบทำงานและระบบควบคุมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพื่อประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน และมีกำไรจากผลการดำเนินงาน โดยมีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน และมีการรายงานผลประจำทุกเดือน และมีแผนการขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อลดภารหนี้ของบริษัท

“เราพยายามดำเนินการเพื่อที่จะดูแลทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้นกู้ กลุ่มธนาคารหลัก กลุ่มซัพพลายเออร์ กลุ่มผู้ถือหุ้น ให้ผ่านพ้นสถานการณ์ช่วงนี้ไป และให้โครงการที่มีอยู่ในมือดำเนินต่อไปได้สำเร็จ ดังนั้นในเวลาอันใกล้น่าจะดำเนินการไปได้ด้วยดี สภาพคล่องบริษัทดีขึ้น และได้ชี้แจ้งกับผู้ถือหุ้นกรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 2566 ในทุกประเด็น ไม่จะเป็นโครงการทวาย ,เงินลงทุนในบริษัท First Dhaka Elevated Expressway (FDEE) , CC26R,คดีเคเบิ้ลใต้น้ำ หรือเหมืองโปแตช อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และส่วนทวายกลุ่มบริษัทได้โต้แย้งการยกเลิกสัญญาดังกล่าว และปัจจุบันกลุ่มบริษัทกำลังรอร่างStatement proposal จากทาง DSEZ MC”

สำหรับ ภาพรวมธุรกิจ และผลการดำเนินงานยังเชื่อในศักยภาพ และโอกาสจะได้รับงานก่อสร้างขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่ทางรัฐ และเอกชนอยู่ระหว่างการประกาศจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เชื่อมั่นหากบริษัทได้รับงานโครงการก่อสร้างจากรัฐ และภาคเอกชนดังกล่าว บริษัทก็จะสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง  

“ยืนยันยังสามารถออกหนังสือค้ำประกันการประมูลงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ตามปกติ ไม่มีปัญหา และบริษัทยังได้วงเงินเพิ่มเติม สำหรับโครงการลงทุนใหม่ที่จะเพิ่มเติม ยังได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มธนาคาร ในการประมูลงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ส่วนนี้จะสร้างรายได้กลับเข้ามา คาดงานประมูลโครงการลงทุนภาครัฐ ใน ปี 2567 และปี 2568 จะออกมามากขึ้น จะทำให้เรามีงาน และรายได้เพิ่มขึ้น”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์