SCB - TTB - TISCO นำแบงก์ ดึงอัตราปันผลพุ่งต่อปี 67

SCB - TTB - TISCO นำแบงก์  ดึงอัตราปันผลพุ่งต่อปี 67

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) วิเคราะห์กลุ่มธนาคารหลังทยอยประกาศเงินปันผลงวดครึ่งปี 2566 ครบทุกธนาคาร ซึ่งภาพรวมอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield)อยู่ในช่วง 3.4% -7% และจะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.67 นี้เป็นต้นไป

โดยมี 7 ธนาคารดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL  ประกาศจ่ายเงินปันผลในครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 5 บาท ส่งผลทำให้รวมทั้งปีอยู่ที่  7 บาท จากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 2 บาท ทำให้ Dividend Yield อยู่ที่ 3.5%  และ Dividend Payout ที่ 32%  กำหนดขึ้นเครื่องหมายรับสิทธิ (XD) 23 เม.ย.2567

       ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK  ประกาศจ่ายเงินปันผลในครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 6 บาท ส่งผลทำให้รวมทั้งปีอยู่ที่  6.5 บาท จากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 0.5 บาท ทำให้ Dividend Yield อยู่ที่ 4.8%  และ Dividend Payout ที่ 37%  กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD  22 เม.ย.2567

       ธนาคารเกียรตินาคินภัทร  จำกัด (มหาชน) หรือ KKP  ประกาศจ่ายเงินปันผลในครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 1.75  บาท ส่งผลทำให้รวมทั้งปีอยู่ที่  3  บาท จากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 1.25 บาท ทำให้ Dividend Yield อยู่ที่ 3.4%  และ Dividend Payout ที่ 47%  กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD 26 เม.ย.2567

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB   ประกาศจ่ายเงินปันผลในครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 0.868 บาท ส่งผลทำให้รวมทั้งปีอยู่ที่  0.868 บาท  ไม่มีการจ่ายปันผลในครึ่งปีแรก  ทำให้ Dividend Yield อยู่ที่ 5.4%  และ Dividend Payout ที่ 33%  กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD 17 เม.ย.2567

        บริษัท เอสซีบี  เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX   ประกาศจ่ายเงินปันผลในครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 7.84 บาท ส่งผลทำให้รวมทั้งปีอยู่ที่  10.34  บาท จากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 2.5 บาท ทำให้ Dividend Yield อยู่ที่ 7.0 %  และ Dividend Payout ที่  80 %  กำหนดขึ้นเครื่องหมายXD 17 เม.ย. 2567

        บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO  ประกาศจ่ายเงินปันผลในครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 5.75 บาท ส่งผลทำให้รวมทั้งปีอยู่ที่  7.75 บาท จากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 2 บาท ทำให้ Dividend Yield อยู่ที่ 5.7 %  และ Dividend Payout ที่ 85 %  กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD 24 เม.ย. 2567

        และธนาคารทีทีบีธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB   ประกาศจ่ายเงินปันผลในครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 0.055 บาท ส่งผลทำให้รวมทั้งปีอยู่ที่  0.105 บาท จากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 0.05 บาท ทำให้ Dividend Yield อยู่ที่ 3.0 %  และ Dividend Payout ที่ 55 %  กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD 17 เม.ย. 2567

SCB - TTB - TISCO นำแบงก์  ดึงอัตราปันผลพุ่งต่อปี 67

ทั้งนี้หากอิงกับปัจจัยเงินปันผลในช่วง 1เดือนข้างหน้า บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักลงทุน SCB มากที่สุดเพราะจากการจ่ายปันผลรอบครึ่งปีหลัง 2566  ที่ 7.0% สูงสุดในกลุ่มธนาคารด้วยกัน

        สำหรับ SCB คาดว่าจะสามารถรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผล (DPR) ไว้ที่ 80% ในระยะสั้นเนื่องจากอัตราส่วนเงินกองทุนที่สูง โดยอยู่ที่ 18% CAR ที่ SCB ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้การจ่ายเงินปันผลสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่ม หลังจากนั้นคาดว่า DPR จะค่อยๆ ลดลงเมื่อ ROE ของธนาคารเกิน 10%

       นอกจากนี้ในมุมมองการลงทุนหุ้นธนาคารมองว่า BBL มีแนวโน้มกำไรเติบโตชัดเจน พร้อมคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ซึ่ง BBL มุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ธุรกิจขนาดใหญ่  จึงมีแนวโน้มกำไรเติบโตดีอย่างชัดเจนจากคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง และการสำรองหนี้สูญที่สูง

        หุ้น KBANK  สำหรับปี 2567 จะชะลอการขยายสินเชื่อ และมุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อที่ดีเพื่อลด credit cost ในปีนี้ โดยธนาคารตั้งเป้า ROE ที่ 10% ภายในปี 2569 ส่วนระยะสั้นราคาหุ้นได้ปัจจัยภาวะการลงทุน (sentiment) เป็นบวกจากการจ่ายปันผลในรอบครึ่งปีหลัง 2566 ที่ 6.00 บาทต่อหุ้นเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์

        ด้าน KKP ยังไร้ปัจจัยบวกระยะสั้นเนื่องจาก credit cost ที่สูง และผลขาดทุนจากยอดขายรถยนต์น่าจะกดดันกำไรในครึ่งปีแรกของปี 2567 หากเห็นสัญญาณคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อเช่าซื้อ และกิจกรรมในตลาดทุนปรับตัวดีขึ้นจึงจะมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้น

        ธนาคาร KTB อิงจากงบประมาณของภาครัฐปี 2567 ที่เริ่มจะเบิกขายได้ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อ KTB ที่โครงสร้างสินเชื่อภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 1 ใน 5 ของสินเชื่อโดยรวม  ด้านราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายบน PBV ปี 2567 ที่ 0.52 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 0.57 เท่า

         อีก 2 ธนาคารคือ TISCO ประเมินจาก NIM ของปี 2567 น่าจะลดลง (Y-Y) ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ credit cost  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (Y-Y) แต่จุดเด่นอยู่ที่ ROE  และ Dividend Yield ที่คาดว่าจะจ่ายสูงในระดับ 8% ต่อปีจะเป็นปัจจัยจำกัด Downside

         และหุ้น  TTB  ที่ว่าได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Shield) ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกำไรสุทธิ จึงมั่นใจว่า TTB มีแนวโน้มกำไร และเงินปันผลเติบโตมากกว่าคู่แข่งในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์