'วอร์เรน บัฟเฟตต์' จุดกระแสหุ้นญี่ปุ่น ดัน 3 หุ้นน้ำดีพุ่งออลไทม์ไฮ

'วอร์เรน บัฟเฟตต์' จุดกระแสหุ้นญี่ปุ่น  ดัน 3 หุ้นน้ำดีพุ่งออลไทม์ไฮ

'วอร์เรน บัฟเฟตต์' จุดกระแสหุ้นญี่ปุ่น ผ่านจดหมายผู้ถือหุ้น ดัน 3 หุ้นญี่ปุ่นน้ำดีพุ่ง 'ออลไทม์ไฮ' พร้อมกับ ดัชนี Nikkei 225 ทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

หลังจากที่ "วอร์เรน บัฟเฟตต์" Warren Buffett  ร่อนจดหมายถึงผู้ถือหุ้น เบิร์กเชียร์ ส่วนหนึ่งในนั้นมีการเอ่ยถึง"หุ้นญี่ปุ่น" ก็ทำให้ราคาของหุ้นที่ บัฟเฟตต์ เข้าลงทุนทั้ง 3 ตัว ทำราคานิวไฮ แตะระดับสูงสุดใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.67) จากความเห็นเชิงบวกของบัฟเฟตต์ รวมถึงผลกำไรที่แข็งแกร่งของหุ้นน้ำดีทั้ง 3 ตัว โดยหุ้นทั้ง 3 ตัวนั้น คือ

  • มิตซูบิชิ (Mitsubishi Corp.)
  • มิตซุย(Mitsui & Co.) เพิ่มขึ้นมากถึง 3% ใน
  • ซูมิโตโม (Sumitomo Corp. ) เพิ่มขึ้นถึง 1%

ในระหว่างการซื้อขาย ซึ่งทั้งหมดนี้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ขณะที่ ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนมากถึง 17% นับตั้งแต่ต้นปี 2567 และพุ่งขึ้นมากว่า 40% ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จนดัชนี Nikkei 225 ทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ในปีที่แล้ว เบิร์กเชียร์ ใช้ 1.6 ล้านล้านเยน หรือราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อหุ้นประมาณ 9% ในบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่น 5 แห่ง ได้แก่

  • อิโตชู (Itochu)
  • มารูเบนิ (Marubeni)
  • มิตซูบิชิ (Mitsubishi)
  • มิตซุยแอนด์คัมปะนี (Mitsui & Co)
  • ซูมิโตโม (Sumitomo) หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มบริษัทเทรดดิ้ง “Sogo Shosha”

ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการค้า และเศรษฐกิจในญี่ปุ่น เพราะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศมากมาย รวมถึงพลังงาน เทคโนโลยี และการผลิต

 

นับตั้งแต่สิ้นปี 2566 หุ้นญี่ปุ่นหลายตัว ถือว่าทำผลงานได้อย่างโดดเด่น เช่น หุ้นมิตซูบิชิ พุ่งขึ้น 46%  พร้อมด้วยมิตซุยเพิ่มขึ้น 24% และซูมิโตโมเพิ่มขึ้น 17% ด้าน Itochu และ Marubeni ซึ่งเป็นบริษัทการค้าชั้นนำอีกสองแห่งของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 15% และ 14% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อวานนี้ ได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากจดหมายประจำปีของบัฟเฟตต์ ถึงผู้ถือหุ้นของเบิร์กเชียร์ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สะท้อนว่าบัฟเฟตต์แสดงความหวังว่าการลงทุนในกองทุนของเขา ในหุ้นญี่ปุ่น "อาจนำไปสู่โอกาส" ในการเป็นพันธมิตรกับบริษัทขนาดใหญ่ 5 แห่ง ที่บัฟเฟตต์มองว่ามีการจัดการที่ดี

ทั้งนี้ หุ้นญี่ปุ่นทั้ง 5 ตัว โชว์ฟอร์มที่โดดเด่นจนสามารถดึงดูดนักลงทุน ก่อนที่จดหมายผู้ถือหุ้นของบัฟเฟตต์จะออกมาเสียอีก โดยพิจารณาจากพื้นฐานรายได้ และการปรับปรุงประสิทธิภาพเงินทุน ของมิตซูบิชิ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถึงแผนการซื้อคืนหุ้นมูลค่าสูงถึง 500 พันล้านเยน หรือราว 3.32 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นมากกว่า 10% ในวันถัดมา

โยชิฮิโกะ ทาเบอิ (Yoshihiko Tabei) จาก Naito Securities กล่าวว่า นักลงทุนในตลาดต่างจับตาดูผลประกอบการทั้งปีของบริษัทมิตซูบิชิที่มีเสถียรภาพ และนักลงทุนจำนวนมากเชื่อมั่นว่ามิตซูบิชิสามารถทำได้ดีกว่าการคาดการณ์

หลังจากที่หน่วยงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่น กำลังกดดันบริษัทต่างๆ ทบทวนการใช้เงินทุน และการยกเลิกการถือหุ้นไขว้ อาจผลักดันบริษัทต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพเงินทุนของพวกเขา มองหาวิธีดำเนินการเพื่อยกเครื่องธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าองค์กร ท่ามกลางกระแสการกดดันจากตลาดหลักทรัพย์ให้บริษัทปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการ

อ้างอิง nikkei

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์