4 แนวทางบริหารพอร์ตหุ้นกู้ให้สบายใจ .. ลดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

4 แนวทางบริหารพอร์ตหุ้นกู้ให้สบายใจ .. ลดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

4 แนวทางบริหารพอร์ตหุ้นกู้ให้สบายใจ ลดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ แม้หุ้นกู้เอกเชนเป็นการลงทุนที่มีความผันผวนด้านราคาต่ำ แต่ก็อาจจะแลกมาด้วยความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องบริหารจัดการในส่วนนี้ให้ดี

การผิดนัดชำระหนี้สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นมักจะนำมาซึ่งความเสียหายให้กับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลที่แม้จะมีการกระจายการลงทุนแล้ว แต่ระดับของการกระจายการลงทุนก็ยังทำได้จำกัดเมื่อเทียบกับนักลงทุนสถาบัน ทำให้มักจะมีปัญหาตามมาได้ โดยในปี 2566 นับได้ว่าเป็นปีที่มีการผิดนัดชำระหนี้หลายกรณีและสั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุนไม่น้อย เนื่องจากเป็นการผิดนัดในกลุ่มที่อาจจะเรียกได้ว่ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นทุนเดิม .. ทำให้เกิดคำถามถึงหุ้นกู้เอกชนอีกจำนวน 890,908 ล้านบาท (ข้อมูลจาก สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย) ที่จะครบกำหนดในปีนี้ ว่าจะบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต่างๆ จะสามารถ Rollover หนี้ก้อนนี้ออกไปได้อีกหรือไม่ ซึ่งหากปัญหาการขาดความเชื่อมั่นลุกลามเป็นวงกว้าง และทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ต่างๆ ขาดสภาพคล่องก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างรุนแรงด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านับตั้งแต่ต้นปี ความกังวลดังกล่าวจะลดลง สะท้อนจากผลของการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนทั่วไปในช่วงต้นปีที่ยังคงได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งอาจจะช่วยให้ความเสี่ยงลดลง แต่บทเรียนในช่วงที่ผ่านมานับเป็นบทเรียนที่ดีไม่น้อยสำหรับกลุ่มที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน โดยวันนี้ลองกลับมาทบทวนสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้และหลักการในการบริหารพอร์ตหุ้นกู้กันครับ ..

หากพิจารณากรณีทั่วๆ ไป ถึงสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้ อาจจะพอแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 6 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ (1) มีปัญหาการบริหารสภาพคล่องระยะสั้น ไม่ว่าจะเกิดจากการดำเนินงานที่ผิดพลาด ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทำให้ขาดกระแสเงินสดในระยะสั้น จนนำมาซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ในท้ายที่สุด แม้ผลประกอบการโดยรวมจะยังดีอยู่ แต่การขาดสภาพคล่องระยะสั้นบ่อยครั้งจะนำมาซึ่งการล้มละลายได้ (2) การลงทุนจนเกินตัว โดยอาศัยการลงทุนและเม็ดเงินจากการกู้ยืม ไม่ว่าจะผ่านสถาบันการเงินหรือประชาชนทั่วไปทำให้มีระดับหนี้ที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์หรือสัดส่วนทุน โดยเมื่อผลลัพท์ของการลงทุนไม่เป็นไปตามคาด ก็จะทำให้เกิดปัญหาหนี้สินและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอย่างสม่ำเสมอตามมา และยิ่งเป็นการซ้ำเติมผลลัพท์ที่ไม่เป็นไปอย่างหวังด้วย 

(3) ผลการดำเนินงานตกต่ำอันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการปรับตัวและทิศทางธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (4) เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทอย่างรุนแรงและฉับพลัน เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ภัยธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงปัญหาเฉพาะต่างๆ ด้วย เช่น ผู้บริหารมีปัญหาระหว่างกัน (5) นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในกิจการ ทำให้ไม่สามารถ Rollover หนี้คงค้างที่มีอยู่ออกไปได้ และสุดท้ายที่ดูเหมือนมักจะเกิดขึ้นกับการผิดนัดชำระหนี้ในบ้านเรา คือ (6) การทุจริต คอรัปชั่น ตกแต่งงบการเงินต่างๆ รวมถึงการปั่นหุ้นด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าสามารถเกิดขึ้นจากได้จากหลากหลายปัจจัยทั้งสั้นและยาว มีแนวโน้มหรือฉับพลัน ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ด้วย

ในฐานะนักลงทุนสิ่งที่พอจะทำได้ คือ (1) การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในมุมของอายุของตราสาร อุตสาหกรรม อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) รวมถึงขนาดของการลงทุนด้วย ซึ่งสำหรับนักลงทุนรายบุคคล สิ่งเหล่านี้ก็จะต้องตามมาด้วยเรื่องของการบริหารจัดการให้ดี (2) การติดตามฐานะการลงทุน และทิศทางผลประกอบการของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้นั้นไม่ใช่การลงทุนที่เมื่อลงทุนแล้วจะนั่งรอจนครบกำหนดในอีกหลายปีข้างหน้าได้เสมอไป การติดตามทิศทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของผู้ออกหุ้นกู้นับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนด้วย โดยมิติที่พิจารณานั้นจะแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นสามัญ ซึ่งเราจะต้องเน้นไปที่สภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้คืนของบริษัทเป็นหลัก หากใช่การเติบโตของผลประกอบการเพียงอย่างเดียว ในส่วนนี้สามารถพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ รวมถึงเรื่องของการพิจารณาแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมควบคู่กันไป 

(3) หากพบว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภาพรวมของเศรษฐกิจ หรือ ผลการดำเนินงานที่แย่งลง นักลงทุนสามารถนำหุ้นกู้ไปขายในตลาดรอง (Secondary Market) ได้ เพื่อลดความเสี่ยงลง โดยอาจไม่ต้องรอให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงอย่างเดียวเสมอไป และ (4) การพิจารณาประเด็นด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) และแนวคิดในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) ประกอบด้วย โดยด้านนี้สามารถพิจารณาจากแหล่งข้อมูลภายนอก รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลโดยตรงของผู้ประกอบการด้วย นอกจากนั้นเรื่องของรายงานผู้สอบบัญชีก็เป็นอีกส่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้

การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้นั้นไม่เชื่อเรื่องแปลกใหม่ เนื่องจากการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจนั้นมีความเสี่ยงเสมอ แต่การบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนในหุ้นกู้ที่ดี ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ อาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ในกรณีที่ผลลัพท์ของการลงทุนเกิดผิดพลาดขึ้นมา.. ตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้เอกเชนนั้นเป็นการลงทุนที่โดยรวมมีความผันผวนด้านราคาต่ำ แต่ก็อาจจะแลกมาด้วยความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องบริหารจัดการในส่วนนี้ให้ดีครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด