ดาวโจนส์รีบาวด์ในกรอบแคบ คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยปีนี้

ดาวโจนส์รีบาวด์ในกรอบแคบ คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยปีนี้

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(2ม.ค.)ดีดตัวขึ้นเล็กน้อย ในการซื้อขายวันแรกของปี 2567 ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 25.50 จุด หรือ 0.07% ปิดที่ 37,715.04 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 ลดลง 27.00 จุด หรือ 0.57% ปิดที่ 4,742.83 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 245.41 จุด หรือ 1.63% ปิดที่ 14,765.94 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐที่ยังคงหดตัวในเดือนธ.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2567 และเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 6 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.50% มากกว่าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75%

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงลงในช่วงแรก โดยถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีใกล้แตะ 4% ในวันนี้

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาดได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงกว่า 3% ของราคาหุ้นบริษัทแอปเปิ้ล อิงค์ หลังบาร์เคลย์สประกาศปรับลดอันดับความน่าลงทุน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับยอดขาย iPhone 15 ที่ชะลอตัว

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 โดยดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 24% และสามารถปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 9 สัปดาห์ก่อนปิดฉากปี 2566 ซึ่งเป็นการทำสถิติช่วงบวกรายสัปดาห์ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547

ตลาดได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนแห่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หลังเงินเฟ้อชะลอตัวลง ขณะที่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย แต่จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจ Market Strategist Survey ของสำนักข่าว CNBC ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะให้ผลตอบแทนในปี 2567 ต่ำกว่าปี 2566

โดยนักวิเคราะห์ 14 รายจากบริษัทชั้นนำคาดว่าดัชนี S&P 500 จะปิดตลาด ณ สิ้นปี 2567 ที่ระดับ 4,881 จุด หรือเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% จากระดับ 4,769.83 จุด ณ สิ้นปี 2566 โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้บริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการลดลง

"ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดที่ตลาดหุ้นจะเผชิญไม่ใช่การที่เฟดหรือธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด แต่เป็นเรื่องของกำไรต่อหุ้นที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง และภาคเอกชนขาดอำนาจในการกำหนดราคา" นายอดัม คริสซาฟูลลี ผู้ก่อตั้งบริษัท Vital Knowledge ระบุในรายงาน

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 12-13 ธ.ค.ที่จะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐในสัปดาห์นี้

สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ในวันพรุ่งนี้ ส่วนวันพฤหัสบดีจะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่วันศุกร์จะมีตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร