‘FETCO’ชง2รูปแบบกองทุนออมหุ้น หวังดึงเงินระยะยาวไหลเข้าตลาดทุน

‘FETCO’ชง2รูปแบบกองทุนออมหุ้น หวังดึงเงินระยะยาวไหลเข้าตลาดทุน

FETCO จ่อเสนอ2 รูปแบบ ตั้งกองทุนออมหุ้นระยะยาว “ต่ออายุSSF แต่ใช้เงื่อนไขLTF -ระยะเวลาสั้นลง" พร้อมชงออกกองทุนธีมการลงทุนใหม่ๆ นายกสมาคมนักวิเคราะห์ ชี้ ดัชนีหุ้นไทยปีนี้ดิ่งมากสุดในโลก 15% เหตุขาดเม็ดเงินลงทุนระยะยาวมาพยุง ดัชนีเชื่อมั่นลงทุนเดือนม.ค.67 วูบ31.5%

ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับปัจจัยลบมากมายทั้งภายนอกและภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน( YTD)ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาถึง 15% มากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว(DM)และตลาดเกิดใหม่(EM) จากผลกระทบบอนด์ยีลด์สหรัฐกลับสู่ขาขึ้นสภาพคล่องในระบบลดลงและสงครามความขัดแย้งระหว่างอิสลาเอลกับกลุ่มฮามาส

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศล่าช้าและผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นไทย ถึงแม้ว่าปัจจัยลบต่างๆที่ผ่านมายังไม่ได้เป็นวิกฤติที่รุนแรงต่อประเทศไทย แต่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงที่สุด เพราะส่วนหนึ่ง “เม็ดเงินลงทุนระยะยาวหายไปจากตลาดหุ้นไทย”

‘FETCO’ชง2รูปแบบกองทุนออมหุ้น หวังดึงเงินระยะยาวไหลเข้าตลาดทุน

ดังนั้นทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) จึงเตรียมเสนอแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงทุนระยะยาวและสนับสนุนการออมระยะยาวเพื่อผลักดันตลาดหุ้นไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) กล่าวว่า ทางเฟทโก้ได้เตรียมนำเสนอรูปแบบกองทุน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงทุนระยะยาว โดยจะเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง)ช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้

สำหรับรูปแบบกองทุนดังกล่าวที่จะนำเสนอมี 2 รูปแบบ คือ1.กองทุนที่เป็นการต่ออายุกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว(SSF)จะสิ้นสุดลงในปี2567 และทบทวนเงื่อนไขกองทุน SSF ให้เข้าถึงผู้ลงทุนง่ายขึ้นซึ่งจะนำเงื่อนไขกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF)ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วนำกลับมาปรับใช้ ทั้งนี้ยังคงมีการให้สิทธิประโยชย์ทางภาษี และจะพิจารณาปรับระยะเวลาการลงทุนให้น้อยกว่า10 ปี อีกทั้งคงจะมีการพิจารณาเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐบาลใหม่ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เช่นกัน 

2.กองทุนสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนระยะยาวที่มีรูปแบบคล้ายกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง(Stabilization )ในอดีต โดยจะจัดตั้งกองทุนใหม่ๆภายใต้ธีมการลงทุนระยะยาวสนับสนุนการสร้างเงินออมระยะยาว เช่นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน(ESG) ,การลงทุนสำหรับเด็กและการศึกษา,การลงทุนสำหรับผู้สูงอายุ

“สำหรับกองทุนรูปแบบแรกเป็นการหารือเพิ่มเตรียมความพร้อมไว้ก่อนที่กองทุนSSFจะหมดอายุในปี2567  ซึ่งหากหารือคลังในรอบแรกผ่านไปได้ด้วยดี หลังจากนั้นจะมีการส่งคณะทำงานดำเนินการผลักดันร่วมกันต่อไปทันที ส่วนกองทุนรูปแบบที่สองทางตลาดทุนสามารถดำเนินการได้ทันทีในปีหน้า เมื่อมีสภาพตลาดที่เหมาะสมและสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่ดีได้ด้วย”

นายไพบูลย์นลินทรางกูรนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน(IAA)กล่าวว่าในปีนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงถึง15% มากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะตลาดหุ้นไทยขาดเม็ดเงินลงทุนระยะยาวมาพยุงดัชนี 

ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยจึงเสนอขอทางกระทรวงการคลังให้มีกองทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมานี้จะเห็นว่าตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ปรับตัวลงแรง ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นอื่นๆปรับตัวลงแรง ก็ยังมีเงินลงทุนระยะยาวของนักลงทุนรายใหญ่ และสถาบันเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนต.ค. 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–31 ต.ค. 2566) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 76.87 ปรับลง 31.5% จากเดือนก่อนหน้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” 

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายกลุ่ม พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง โดยนักลงทุนบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ ทรงตัว

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รองลงมาคือการไหลออกของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามจากนี้ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทอง และน้ำมัน นโยบายการเงินของ FED ที่อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอีกระยะหนึ่งหลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง อีกทั้ง ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุนของรัฐบาลจีน

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 ปี 2566 ความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และโครงการ digital wallet 10,000 บาท ที่อาจล่าช้าไปถึงก.ย. 2567 ซึ่งจะส่งผลต่อประมาณการ GDP ในปีหน้า อัตราหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 90.7% และหนี้สาธารณะที่สูงมากในระดับ 61.7% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่น่าจับตามองจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หลังรัฐบาลประกาศเพิ่มฟรีวีซ่าให้แก่รัสเซีย อินเดีย และไต้หวัน หลังประกาศฟรีวีซ่าจีนและคาซัคสถานเมื่อเดือนก่อน