‘กูรู’ เปิดหุ้นเด่นรับ ‘แลนด์บริดจ์’ กลุ่มรับเหมา - นิคมอุตฯ - ขนส่ง - การเงิน

‘กูรู’ เปิดหุ้นเด่นรับ ‘แลนด์บริดจ์’ กลุ่มรับเหมา - นิคมอุตฯ - ขนส่ง - การเงิน

‘กูรู’ เปิดหุ้นเด่นรับ ‘แลนด์บริดจ์’ ยกให้ ‘กลุ่มรับเหมา - นิคมอุตฯ - ขนส่ง - การเงิน’ ชี้หากทำได้จริงเป็นเรื่องที่ดี ช่วยลดระยะเวลาขนส่งที่ไม่ต้องไปอ้อม หนุนเศรษฐกิจโต

โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือที่รู้จักกันดีว่า เป็นโครงการ “แลนด์บริดจ์” (LandBridge) ซึ่งเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล “เศรษฐา” โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้ามาผลักดันการย่นระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้า และเข้ามาลดต้นทุนขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือว่าเป็น “อภิมหาโปรเจกต์ยักษ์” ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างสูงถึง “ระดับ 1 ล้านล้านบาท”

ดังนั้น จึงเกิดคำถามที่ตามมาว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงไหม !? เนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์ต้องใช้ระยะเวลาลงทุนค่อนข้างยาวนาน และสิ่งสำคัญเม็ดเงินลงทุนสูงมาก !! “กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามมุมมองจาก “เหล่ากูรู” หากโครงการเกิดขึ้นจริงอุตสาหกรรมไหน ? ได้ประโยชน์จากโครงการอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าวมาให้ฟัง โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า โครงการแลนด์บริดจ์ถือว่าเป็นโครงการที่ดี !! หากเกิดขึ้นได้จริง คาดว่าน่าหนุนหลายอุตสาหกรรมได้ประโยชน์ “นิคมอุตสาหกรรม - รับเหมาก่อสร้าง - ขนส่ง - การเงิน”

"รัฐศักดิ์ พิริยะอนนท์" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย มีมุมมองว่า โครงการแลนด์บริดจ์ดังกล่าวได้มีการพูดถึงมานานในหลายรัฐบาล แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นได้จริง ดังนั้น หากรัฐบาลนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงแล้ว ประเมินว่าหลายอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ เช่น “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม” (Industrial estate) ซึ่งหุ้นเด่นยกให้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA สะท้อนผ่านบริษัทอาจเข้าไปซื้อที่ดิน และพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงโครงการดังกล่าว เพื่อรองรับ Industrial Hub แห่งใหม่ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ “การค้าขายและการขนส่งสินค้า” 

รวมถึง “กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง” (Construction contractor) เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD , บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC โดยมองจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนก่อสร้างท่าเรือ และเส้นทางระบบรางเพื่อเชื่อมระบบการขนส่งเข้าสู่ตัวเมืองหรือประเทศเพื่อนบ้าน

และ “กลุ่มขนส่ง” (Logistic) เช่น บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III , บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE และ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL ที่มองว่าจะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการให้บริการขนส่งสินค้า อีกทั้ง คาดว่ามีโอกาสที่จะมี “ความต้องการ” (ดีมานด์) ลงทุนในรถบรรทุก และการขนส่งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ “กลุ่มการเงิน” ได้ประโยชน์ เช่น บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI และ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ASK ที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อทางการเงินสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์

"ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ‌กล่าวว่า มองว่าการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นโครงการเข้ามากระตุ้นการลงทุนครั้งใหม่ และจะส่งผล “เชิงบวก” ต่อธุรกิจรับเหมา-ก่อสร้าง , โลจิสติกส์ และธุรกิจในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการดังกล่าวทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้  

ทั้งนี้ หากดูตามไทม์ไลน์ของการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ตั้งแต่เดือนพ.ย.2566 จนถึงครึ่งปีแรกปี 2567 จะเป็นการโรดโชว์นักลงทุน ศึกษาความเหมาะสม (EIA) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และในช่วงครึ่งหลังปี 2567 เป็นการเตรียมความพร้อมในการออกกฎหมาย และในปี 2568 เปิดประมูล

โดยประเมินกลุ่มหุ้นที่จะได้ประโยชน์ “เชิงบวก” ลำดับแรกคือ กลุ่มได้รับประโยชน์จากการลงทุนก่อสร้าง และรับเหมาก่อสร้าง เช่น CK , STEC, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC และกลุ่มโลจิสติกส์ เช่น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ที่ได้ประโยชน์จากงานข้ามฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน และ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันท่าเรือ และธุรกิจภาคใต้ที่จะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจน้ำ เช่น บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC

ดังนั้น แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการแลนด์บริดจ์ สามารถลงทุนระยะสั้น หรือ เทรดดิ้งตามกรอบไทม์ไลน์ของการพัฒนาโครงการ มองว่ารอบแรกนักลงทุนสามารถเข้าเทรดดิ้งได้ ในช่วงโรดโชว์นักลงทุนต่างชาติ ที่จะเริ่ม พ.ย.2566 นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อเซนทิเมนต์ เชิงบวกหนุน และปัจจัยบวกดังกล่าวน่าจะช่วยหนุน “ดัชนีตลาดหุ้นไทย” ช่วงปลายปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นตามไปพร้อมด้วย แต่หลังจากนั้นอาจจะต้องหาจังหวะขายทำกำไร และเข้าเทรดดิ้งอีกรอบเมื่อใกล้มีประมูลโครงการต่างๆ ในปี 2568

"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นการเชื่อมกันระหว่างสองฟากระหว่างอ่าวไทย และ ทะเลอันดามัน แบบไร้รอยต่อ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องเข้ามาดูในเรื่องของงบประมาณการลงทุน เนื่องจากค่อนข้างมีเม็ดเงินที่ค่อนข้างสูงมาก เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าโครงการนโยบายของภาครัฐมีเม็ดเงินสูงทั้งนั้น แต่หากทำได้จริงในโครงการแลนด์บริดจ์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะว่า จะช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งที่ไม่ต้องไปอ้อมโซนด้านล่าง แต่คงอาจจะมีการบริหารเม็ดเงินให้ดี เพราะเป็นโปรเจกต์ใหญ่มาก

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ก่อนคาดว่าเป็น “หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่” ขณะที่ “กลุ่มโลจิสติกส์” จะได้รับอานิสงส์ทางอ้อม ซึ่งจะเป็นอีกเฟสถัดมาที่จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่  และใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น หุ้นกลุ่มต่างๆ อาจจะทยอยรับประโยชน์ตามช่วงระยะเวลาของเฟสนั้นๆ

“ในระยะยาว หากโปรเจกต์เสร็จ จะเห็นได้ว่ามีการขนส่งได้มากขึ้นถือว่าเป็นผลบวก แต่ก็ต้องยอมรับว่าใช้งบประมาณลงทุนค่อนข้างมาก”

“วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาลเศรษฐา หากทำได้จริงเชื่อว่าจะเป็นผลดี ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต แต่อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวค่อนข้างที่จะใช้เม็ดเงินค่อนข้างมาก ซึ่งคาดว่าภาครัฐคงไม่ได้เข้ามาลงทุนเอง แต่อาจจะเป็นการหาภาคเอกชนเข้ามา ซึ่งจะคล้ายคลึงสัมปทาน เพราะถือว่าเป็นโครงการในระยะยาว ขณะเดียวกันอาจจะมีการดึงต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการขนส่งทางเรือ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าวคือ “หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง” ที่จะได้รับประโยชน์ก่อน และหลังจากนั้นเมื่อมีโครงการเกิดขึ้นอาจจะมีหุ้นกลุ่มอื่นๆ ได้รับประโยชน์ตามมา เพราะโครงการดังกล่าวเป็นโครงการในระยะยาว และเป็นการลงทุนต่อเนื่อง 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์