5 กลุ่มหุ้น Domestic รับแรงกดดัน กระแส Digital Wallet ตัดสิทธิ ‘คนรวย’

5 กลุ่มหุ้น Domestic รับแรงกดดัน กระแส Digital Wallet ตัดสิทธิ ‘คนรวย’

ดิจิทัลวอลเล็ตเตรียม 3 แนวทางตัดสิทธิคนรวยออกจากระบบ เพื่อเสนอกรรมการชุดใหญ่สัปดาห์หน้า เป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นที่อาจคาดหวังการเติบโตลดลงได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Domestic อาทิ กลุ่ม โรงพยาบาล, ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, ขนส่ง, อาหาร

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเตรียม 3 แนวทางตัดสิทธิคนรวยออกจากระบบ เพื่อเสนอกรรมการชุดใหญ่สัปดาห์หน้า

  • ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 1 แสนบาทออก
  • ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 5 แสนบาท
  • ให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ยากไร้ตามกลุ่มบัตรคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน

 

นอกจากนี้รัฐบาลเผยให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ทำแอปพลิเคชัน และยกเลิกเงื่อนไข 4 กิโลเมตร ประกาศใช้ระดับอำเภอ คาดเริ่มแจกเงินได้หลังเดือนเมษายน 2567 ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็น Sentiment เชิงลบทั้งจากความคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 มีโอกาสลดลง จากปัจจุบัน ธปท. คาด GDP ปี 2567 เติบโตได้ 4.4% และเป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นที่อาจคาดหวังการเติบโตลดลงได้

โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Domestic อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล, ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, ขนส่ง, อาหาร เป็นต้น

แต่ในอีกมุมอาจช่วยลดความกังวลเรื่องการกู้เงินเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.8% รวมถึงหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ระดับกว่า 90% รวมถึงความกังวลการปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของสถาบันการเงิน หนุนให้ค่าเงินบาทในระยะถัดไปมีโอกาสชะลอการอ่อนค่าได้

ทั้งนี้นักลงทุนติดตามความคืบหน้าประเด็นดิจิทัลวอลเล็ตอย่างใกล้ชิด เพราะกระแสดังกล่าวมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น และปัจจุบันยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจน

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย Digital wallet มีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวใน 2 มิติดังนี้

1.มิติความเป็นไปได้ของโครงการ (Probability) มองว่า เพิ่มขึ้นทั้งจากการตัดลดงบประมาณที่จะใช้ช่วยเหลือในกลุ่มผู้มีรายได้สูงจนทําให้งบประมาณสุดท้ายน่าจะอยู่ที่วงเงินราว 4 แสนล้านบาท จากเดิม 5-6 แสนล้านบาท รวมไปถึงแนวทางการใช้เงินงบประมาณที่อาจจะออกมาในรูปแบบของงบผูกพัน กระจายออกไปหลายปี ปีละเท่าๆ กัน ซึ่งก็จะทําให้ภาระทางการคลังลดหลั่นตามมาด้วย โอกาสที่จะถูกโจมตีจากนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาการก่อหนี้ และการขาดดุลงบประมาณจึงน่าจะถูกลดทอนลงตามลําดับ 

2.มิติผลกระทบ (Impact) มองว่า ลดลงในส่วนมิติของผลกระทบนั้นประเมินว่า จะมีระดับที่ลดลงจากเดิมไม่ว่าจะพิจารณาในฝั่งของผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการเองก็ตาม โดยในฝั่งของผู้บริโภค การตัดความช่วยเหลือผู้มีรายได้สูงออกไป อาจทําให้การจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มคนเหล่านี้ขาดหายไปด้วย ส่วนในฝั่งของผู้ประกอบการนั้น การกระจายเงินงบประมาณออกเป็นงบผูกพัน อาจทําให้การรับรู้รายได้มีความล่าช้า และกระทบกับ Cash cycle ได้

อย่างไรก็ตาม โดยสุทธิแล้ว จึงประเมินผลกระทบไม่ได้มีความแตกต่างจากคาดการณ์เดิมมากนัก และยังคงมองกลุ่มค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้นยังคง Laggard ตลาดอย่างมากในปีนี้ จะเป็น Winner ที่สําคัญจากมาตรการนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม Consumer staple อาทิ CPAXT, CPALL, BJC

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์