เปิดแผนระดมทุน 'หุ้น NAM' เร่งต่อยอดธุรกิจ ก้าวสู่เวทีระดับโลก
นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น หรือ NAM หุ้นน้องใหม่ กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โชว์จุดเด่นเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก เดินหน้าสร้างการเติบโตครั้งใหม่พร้อมพันธมิตร ต่อยอดสู่เวทีระดับโลก
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ถือเป็นหนึ่งใน "เมกะเทรนด์" ของทั่วโลก ยิ่งประชาชนมีอายุยืนยาวมากขึ้น การแพทย์และเครื่องมือแพทย์ก็ถูกยกระดับให้สูงขึ้น ซึ่งมีอัตราการเติบโตควบคู่กันไป และหนึ่งในธุรกิจที่ถือเป็น "จิกซอว์สำคัญ" คงต้องยกให้ บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM
ปัจจุบัน NAM ประกอบธุรกิจผลิต นำเข้า จำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์ในระดับปราศจากเชื้อในโรงพยาบาล และสถานพยาบาลตามมาตรฐานสาธารณสุข รวมถึงผลิตและจำหน่ายน้ำยา วัสดุสิ้นเปลืองสำหรับใช้ร่วมกับเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1. กลุ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ (SM) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 62.54% 2. กลุ่มผลิตและจำหน่ายวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (CS) คิดเป็น 19.56% 3. กลุ่มงานให้บริการ (SV) คิดเป็น 17.65% และอื่นๆ คิดเป็น 0.25% (งวด 6 เดือน ปี 66)
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของ NAM ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) โดยเฉพาะเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) เพราะกระบวนการทำความสะอาดเครื่องมือการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานนั้น นับเป็นขั้นตอนสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากลทั่วโลก
NAM กำลังจะเข้าระดมทุนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 181 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25.86% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้ว มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 0.50 บาท โดยคาดจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ภายในไตรมาส 4 ปี 2566
ด้วย "จุดเด่น" ของ NAM มีฐานลูกค้าสำคัญเป็นโรงพยาบาลและหน่วยงานองค์กรทางด้านสาธารณสุขกว่า 1,200 แห่ง ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานสากลระดับเดียวกับยุโรปและสหรัฐมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า 50 ปี
นายวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ ไม่เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ รวมทั้งมาตรฐานของบริษัทฯ จะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถดึงดูด "พันธมิตรใหม่" เพื่อเข้ามาต่อยอดธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็น "ผู้นำ" ในอุตสาหกรรมผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์กลุ่มงานปราศจากเชื้อในประเทศไทย พร้อมต่อยอดขยายธุรกิจกับพันธมิตรไปสู่ระดับโลก
"ยกตัวอย่างกรณีที่บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. (PTT) เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 15% (ตัวเลข ณ หลังขาย IPO) ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้บริษัทฯ มองภาพใหม่ของการแพทย์ที่ต้องการเติบโตระดับโลก (Global) มากกว่าก่อนหน้าที่มองการเติบโตในประเทศไทยที่รอลูกค้าเข้ามาซื้อ แต่มาวันนี้ต้องการนำสินค้าออกไปขายตลาดข้างนอก"
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การเข้าระดมทุนนับเป็นก้าวสำคัญเพื่อสร้างเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนผ่านเงินระดมทุนนำไปขยายธุรกิจ ประกอบด้วย 1. โครงการขยายโรงงานแห่งใหม่ 2. โครงการลงทุนพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ 3. โครงการลงทุนหรือร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ หรือมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และ 4. เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เนื่องจากในปัจจุบันมีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่โรงพยาบาล อาทิ ห้องทดลอง, คลินิก, ห้องปฏิบัติการทั้งคนและสัตว์, ผู้บริการทางการแพทย์ และกลุ่มลูกค้าระดับครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าว บริษัทฯ ยังไม่เคยเข้าไปนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ
"เรามีเป้าหมายสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ต่อยอดนวัตกรรมจากการคิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ"
วิโรจน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ภาพรวมการแข่งขันใน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากการนำเข้าเครื่องมือแพทย์มีราคาสูง แต่ด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ที่สามารถผลิตและนำเสนอด้วยราคาที่ต่ำกว่าผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ประเภทที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche)
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ประกอบด้วย 1. อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 2. จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น 3. ผู้ประกอบการโรงพยาบาลมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง 4.กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรในประเทศไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5. ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด และเข็มฉีดยา เป็นต้น และ 6. นโยบายสนับสนุนจากรัฐในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวนี้ ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์โดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้น
วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราตั้งเป้าการเติบโตจากการขยายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกิจการใหม่ หรือความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต เพื่อมุ่งเน้นการขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการสร้างรากฐานรองรับการเติบโตในอนาคต