สำรวจ 11 หุ้นกลุ่มแบงก์ รับอานิสงส์ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย อัพไซด์เหลืออื้อ

สำรวจ 11 หุ้นกลุ่มแบงก์ รับอานิสงส์ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย อัพไซด์เหลืออื้อ

สำรวจหุ้นกลุ่มธนาคาร 11 หลักทรัพย์ หลัง กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่ต้นปีผลตอบแทนราคา ผลตอบแทนราคา หุ้น TTB มีความโดดเด่น +21.99% ขณะที่อัพไซด์ หุ้น SCB เหลือมากสุด 28.79%

หุ้นกลุ่มแบงก์ ยังคงเป็นหุ้นกลุ่มพิมพ์นิยมของนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง  และยิ่งในช่วงนี้ถูกจับตามากขึ้นหลังกนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% เป็น 2.50% สูงสุดในรอบ 10 ปี รวมไปถึงในช่วงต่อจากนี้ กำลังจะเข้าสู่ช่วงรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของหุ้นกลุ่มแบงก์ ซึ่งนักวิเคราะหลักทรัพย์หลายสำนัก ยังให้น้ำหนักในเชิง บวก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 

วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด FSS บริษัทในเครือ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า หลังจากที่กนง.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ คาดว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่ทว่าในปีหน้าอาจมีโอกาสแช่อัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ไปตลอดทั้งปีหน้า 

เพราะฉะนั้นในแง่ของผลประกอบการกลุ่มแบงก์น่าจะยังอยู่ในโมเมนตัมที่เป็นบวกในช่วงครึ่งหลังและต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หากเศรษฐกิจปีของไทยมีการฟื้นตัวได้ดีตามที่ตลาดประเมิน อาจจะเห็นกำไรกลุ่มธนาคารโตได้อยู่ และคิดว่า เป็นเซกเตอร์หลักที่นักลงทุนน่าจะมีอยู่ในพอร์ต และหุ้นกลุ่ม Domestic Play เป็นหลัก 

ส่วนหุ้นที่แนะนำ ยังคงให้น้ำหนักไปที่หุ้น BBL กับ TTB สาเหตุเพราะว่า หากดูที่ BBL ฐานกลุ่มลูกค้าจะเป็น Corporate ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นจะได้ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด รวมถึง NPL ไม่ได้มี concern เหมือนกับแบงก์อื่น ที่อาจจะมีรายย่อยเยอะ และ SMEs ขณะที่ TTB มีความใกล้เคียงกับ BBL นอกจากนี้ยัง TTB ยังมีภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมากว่า BBL หากนักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในขณะนี้สามารถเข้าได้ เพราะมองว่า Valuation ของกลุ่มแบงก์ยังไม่แพง 

ธนวัฒน์ รื่นบันเทิง หัวหน้านักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มแบงก์งบไตรมาส 3/66 คาดว่าจะออกมาดี หลังจากที่แบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการเห็นบางธนาคารมีการสำรองขึ้นมาบ้าง แต่ในแง่การลงทุนงบธนาคารค่อนข้างดี ซึ่งมาจาก NIM (Net Interest Margin) ที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่แบงก์ชาติมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

“หลังจากที่แบงก์ชาติมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดว่าน่าจะมีการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นคาดว่า กำไรไตรมาส 3/66 น่าจะเข้าใกล้จุดพีคแล้วเช่นกัน ดังนั้นหากนักลงทุนจะเข้ามาถือหุ้นกลุ่มแบงก์ในขณะนี้ อาจจะไม่ได้เสน่ห์เท่ากับครึ่งของปีนี้”  

อย่างไรก็ตาม แนะนำนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ หากนักลงทุนมีแล้วและต้องการซื้อเพิ่ม มองว่า SCB กับ BBL มีความน่าสนใจ สาเหตุที่ SCB น่าที่จะเข้าไปลงทุนเนื่องจากก่อนหน้านี้ราคาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก และลงมาอีกจากการตั้งสำรองที่จะเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ต้องไปดูอีกทีว่า SCB จะมีการปรับเพิ่มสำรองขึ้นอีกจริงหรือไม่ ซึ่งหากมีการตั้งสำรองน้อย หรือไม่มีการตั้งสำรองอย่างที่ตลาดคาด หุ้น SCB มีโอกาสที่จะรีบาวน์ได้ ขณะเดียวกัน SCB เป็นหนึ่งหลักทรัพย์ในกลุ่มแบงก์ที่สามารถให้ปันผลได้ค่อนข้างสูงถึง 7% 

ส่วน BBL ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเป็นช่วงขาขึ้น และช่วงครึ่งแรกของปี 66 กำไรค่อนข้างดีมาก จึงคาดว่าในครึ่งหลังกำไรก็จะปรับตัวดีขึ้นได้ต่อ เนื่องจากว่า BBL ไม่ได้มีปัญหาการตั้งสำรองเหมือนกับแบงก์อื่น ๆ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับได้ดีกว่าแบงก์อื่นเช่นกัน และที่สำคัญธุรกิจที่ไปลงทุนยังต่างประเทศดูเหมือนจะทำได้ค่อนข้างดี 

สำหรับหุ้น กลุ่มธนาคาร 11 หลักทรัพย์ ในช่วงตั้งแต่ต้นปีผลตอบแทนราคาหลักทรัพย์ใดมีความโดดเด่น ขณะที่อัพไซด์นั้นยังเหลือกันเท่าไร (อ้างอิงข้อมูลจาก setsmart และ settrade)

สำรวจ 11 หุ้นกลุ่มแบงก์ รับอานิสงส์ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย อัพไซด์เหลืออื้อ

1.บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB

  • มาร์เก็ตแคป 345,128.50 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ -4.21%
  • ราคาเป้าหมายที่  130.72 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 101.50 บาท
  • Upside 28.79%

2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB

  • มาร์เก็ตแคป 265,545.16 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อน YTD ที่ +7.34% 
  • ราคาเป้าหมายที่  22.82 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 18.90 บาท
  • Upside 20.74%

3.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY

  • มาร์เก็ตแคป 229,867.56 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ +1.63%
  • ราคาเป้าหมายที่ 36.38 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 30.25 บาท
  • Upside 20.26%

4.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK

  • มาร์เก็ตแคป 298,535.28 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ -14.58% 
  • ราคาเป้าหมายที่ 149.25 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 126.00 บาท
  • Upside 18.45%

5.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP

  • มาร์เก็ตแคป 46,783.00 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ -25.08%
  • ราคาเป้าหมายที่ 63.83 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 55.00 บาท
  • Upside 16.05%

6.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL

  • มาร์เก็ตแคป 319,731.18 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ +13.18% 
  • ราคาเป้าหมายที่  193.26 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 167.00 บาท
  • Upside 15.72%

7.บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP

  • มาร์เก็ตแคป 52,430.20 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อน YTD ที่ +17.65%
  • ราคาเป้าหมายที่  57.64 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 50.25 บาท
  • Upside 14.71%

8.บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO

  • มาร์เก็ตแคป 79,063.76 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ -0.50% 
  • ราคาเป้าหมายที่  110.00 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 98.25 บาท
  • Upside 11.96%

9.ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB

  • มาร์เก็ตแคป 166,608.78 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อน YTD ที่ +21.99% 
  • ราคาเป้าหมายที่  1.77 บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 1.71 บาท
  • Upside 3.51%

10.บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG

  • มาร์เก็ตแคป 21,607.33 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ -17.07%
  • ราคาเป้าหมายที่ - บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 1.03 บาท
  • Upside - %

11.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT

  • มาร์เก็ตแคป 23,679.14 ล้านบาท 
  • ผลตอบแทนราคาย้อนหลัง YTD ที่ -18.07%
  • ราคาเป้าหมายที่ - บาท 
  • ราคา ณ 2 ต.ค.66 ปิดที่ 0.67 บาท
  • Upside -%