การลงทุนในหุ้นกู้ ความเสี่ยงและประเด็นเพิ่มเติมที่ควรพิจารณา

การลงทุนในหุ้นกู้ ความเสี่ยงและประเด็นเพิ่มเติมที่ควรพิจารณา

ดูเหมือนว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเกิดกรณีของการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ของผู้ออกหุ้นกู้หลายกรณีจนทำให้นักลงทุนเป็นจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนไป และเกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะนี้

โดยนอกจากผลเสียหายที่ตามมา นักลงทุนในกลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงมากไม่ได้ เช่น ในกลุ่มผู้ลงทุนวัยใกล้เกษียณ หรือเป็นส่วนของเงินลงทุนที่นักลงทุนไม่อยากสูญเสียไป แต่เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา ทำให้ผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้นั้นดูจะส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าเพียงการสูญเสียเงินต้นไป และหลายครั้งมักจะเป็นสัดส่วนใหญ่หรือมีนัยสำคัญของเงินลงทุนทั้งหมดของนักลงทุน ทำให้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น ..

หลักการพื้นฐานและประเด็นสำคัญในการพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นกู้นั้นประกอบไปด้วย 5 ส่วน ได้แก่ (1) อันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating ที่สะท้อนโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ พิจารณาจากสถานะทางการเงินของผู้ออกเป็นหลัก (2) ประเภทของหุ้นกู้ โดยแต่ละประเภทของหุ้นกู้ก็จะมีความเสี่ยง รวมถึงลำดับของการได้รับเงินคืนที่แตกต่างกัน เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) หุ้นกู้มีหลักทรัพย์คำประกัน (Secured Bond) หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) เป็นต้น (3) ธุรกิจและแนวโน้มอุตสาหกรรมของผู้ออกหุ้นกู้ เช่น การพิจารณาธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ว่าอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทใด มีแนวโน้มเป็นอย่างไร และมีความเสี่ยงด้านธุรกิจอะไรบ้าง มีแนวโน้มเป็นอย่างไร

(4) อายุของหุ้นกู้ โดยยิ่งหุ้นกู้ที่มีอายุยาวก็อาจจะมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องสูง และ (5) ประเด็นอื่นๆ เช่น ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นใคร โดยหลักการทั้ง 5 นั้นนักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจาณาก่อนลงทุนเป็นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน โดยองค์ประกอบพื้นฐานทั้ง 5 ส่วนนั้นจำเป็นจะต้องให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมด้วย .. นอกจากนี้ยังจำเป็นจะต้องพิจารณ่าส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมอีก

หลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการกระจายความเสี่ยงของการลงทุน โดยเราน่าจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าการลงทุนในหุ้นกู้เองก็มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถมองข้ามได้ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งความเสี่ยงด้านนี้จะเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก แต่เมื่อเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก (Tail Risk) ซึ่งด้วยความที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนี่เอง

ทำให้นักลงทุนมักจะประเมินความเสี่ยงด้านนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง (ข้อมูลความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สามารถประเมินในเบื้องต้นได้ จากข้อมูลสถิติย้อนหลัง (Historical Default) ข้อมูลประเมินโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ (Probability of Default) หรือ ข้อมูล Transition Matrix เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินความเสี่ยง เผื่อการบริหารการลงทุนได้ โดยข้อมูลสามารถติดตามได้จากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA) โดยการลงทุนในหุ้นกู้ นักลงทุนจำเป็นจะต้องกระจายความเสี่ยงให้ดี อย่าลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือแม้แต่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นสัดส่วนจำนวนมากของเงินลงทุน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด จะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมของการลงทุน

 

นอกจากนี้ อาจพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยการลงทุนในตราสารหนี้ยังมีทางเลือกในการลงทุนในลักษณะอื่นๆ ได้แก่ การลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงไปยังบอนด์หลายๆ รุ่นได้มากกว่า หรือแม้แต่เป็นบอนด์ต่างประเทศที่จะช่วยลดความเสี่ยงบางอย่างลง แต่แน่นอนว่าจะมีข้อที่ต้องพิจารณาและระมัดระวังแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องของผลตอบแทนคาดหวัง การตีราคา (Mark-to-market)

รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ และยังมีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในลักษณะใกล้เคียงกันต่างๆ เช่น การลงทุนในกลุ่มหุ้นกู้อนุพันธ์ เป็นต้น แต่ทางเลือกในการลงทุนทั้งสองนั้นให้ผลลัพธ์ ข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งนักลงทุนจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนให้รอบคอบเหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ แต่การกระจายการลงทุนไปยังรูปแบบอื่นๆ ก็จะช่วยลดในเรื่องของ Tail Risk ลงได้

สุดท้ายนี้ การผิดนัดชำระหนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น .. อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ (Default) เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ตามข้อกำหนดของ คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 เป็นต้นมา กำหนดให้หุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปและผู้ลงทุนรายใหญ่จำเป็นจะต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) ซึ่งมักจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ที่จะเป็นตัวแทนที่จะคอยติดตามให้ผู้ออกหุ้นกู้ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิต่างๆ รวมถึงการเรียกร้องให้ชำระหนี้ หรือบังคับหลักประกันหากเป็นหุ้นกู้แบบมีหลักประกัน เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลกับนักลงทุน รวมถึงเป็นตัวแทนในการฟ้องศาลทั้งกรณีของศาลแพ่งเพื่อเรียกหนี้คืน หรือศาลล้มละลายในกรณีที่ผู้ออกล้มละลายหรือฟื้นฟูกิจการ

ทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงเสมอ แต่จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่นักลงทุนได้รับนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการชดเชยความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกรับเสมอ ทำให้จำเป็นจะต้องระมัดระวังการลงทุนทุกอย่างให้ดีและรอบคอบ รู้เท่าทันก่อนลงทุน และบริหารจัดการความเสี่ยงรวมถึงติดตามความการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ตัวบริษัทผู้ออกตราสาร หรือแม้แต่ความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดอย่างสม่ำเสมอครับ ..

หมายเหตุ:บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด