หุ้น SINGER ปิดเช้านี้ร่วง 5.63% โบรกหั่นกำไรปีนี้ - แนะขาย หวั่น NPL พุ่ง

หุ้น SINGER ปิดเช้านี้ร่วง 5.63% โบรกหั่นกำไรปีนี้ - แนะขาย หวั่น NPL พุ่ง

หุ้น SINGER ปิดเช้านี้ ร่วง 5.63%  ด้าน บล.เคจีไอ หั่นกำไร - ราคาเป้าหมายปีนี้ลง พร้อมแนะขายจากเดิมถือ หวั่นสำรองเพิ่ม - คาดสินเชื่อปีนี้โตลดลง

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เช้าวันนี้  (2 พ.ค.) ผันผวน โดยช่วงเปิดตลาดปรับตัวลดลง ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14.60 บาท (10.11 น.) และมาปิดตลาดช่วงเช้าที่ 13.40 บาท ลดลง 0.80 บาท หรือ 5.63% 

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ SINGER วันนี้ ระบุว่า จากที่  SINGER แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ได้ลาออกจากตำแหน่ง และบริษัทได้แต่งตั้ง นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ (CEO ของ J-Mobile) เป็น CEO คนใหม่ของ SINGER 

ทั้งนี้ นายกิตติพงศ์ ถือเป็นผู้บริหารสำคัญที่นำพา SINGER พลิกฟื้นสถานการณ์จากขาดทุนเป็นการฟื้นตัว  โดยฝ่ายวิจัยมองว่าสถานการณ์นี้ดูไม่ปกติ เพราะ SINGER กำลังเผชิญกับปัญหา NPL ก้อนใหญ่จากธุรกิจสินเชื่อลิสซิ่ง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดำเนินการจากบริษัทลูก (SGC) 

ดังนั้น การลาออกของผู้บริหารคนสำคัญจึงเป็นสัญญาณลบต่อแนวโน้มผลประกอบการในระยะสั้น และทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

โดย SINGER ถูกวางกลยุทธ์ให้เป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับ J-Mobile โดยยอดขายในปี 2565 ของ SINGER เกือบ 1 พันล้านบาท (หรือประมาณ 36% ของยอดขายรวม) เป็นการขายสินค้า IT ที่มาจาก J-Mobile นอกจากนี้ JMART (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER) ก็พยายามจะผลักดันให้ SINGERเป็นกลไกหลักสำหรับธุรกิจการปล่อยขยายสินเชื่อผู้บริโภคบนฐานลูกค้าของ BRR 

สำหรับการเปลี่ยนตัวผู้บริหารรอบล่าสุดนี้อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าธุรกิจในอนาคตของ SINGER จะเน้นไปหาสินค้า IT จากJ-Mobile ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สินค้าจะกระจุกตัว และความเสี่ยงด้านการตั้งสำรอง เพราะการปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้า IT มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงการแก้ NPL ทำให้เกิดความกังวลกับ คชจ.สำรองฯ และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ NPL ที่แท้จริงของ SINGER พุ่งสูงขึ้นอย่างมากใน 4Q65

โดย NPL ratio อยู่ที่ประมาณ 11-12% (หากนับรวม NPA ที่บันทึกเป็นสินค้าคงคลังด้วย) ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีการจัดชั้นลูกค้าที่อ่อนไหวบางรายเป็นสินเชื่อที่ปกติ (performing loan) อยู่ใน 4Q65 แต่เราคิดว่าลูกค้าเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็น NPL ในไตรมาส 1 ปี 2566 และกระทบ คชจ.สำรองฯ และคชจ.การด้อยค่าของสินทรัพย์ก้อนใหญ่ 

ดังนั้น เราจึงปรับเพิ่มสมมติฐาน c คชจ.สำรองฯใน 1Q66 เป็น 8% (จาก 5.6% ใน 4Q65)และในปี 2566 เป็น 6% (จาก 2.5% ในปี 2565) โดยปรับลดกำไรปี 2566 ลง53% จาก 1)คชจ.สำรองฯ (credit cost) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2566 และ 4% ในปี 2567 จากเดิมปีนี้ 3% และปีหน้า 2.5%  2) การปรับลดอัตราการเติบโตของยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นลดลง 20% ปีนี้ และปีหน้าโต 10% (จากเดิมที่ลดลง 5% ปีนี้ และปีหน้า โต10%) 3) การปรับลดอัตราการเติบโตขอสินเชื่อเป็น 6% ปีนี้ ส่วนปีหน้าโต 5% (จากเดิมที่ปีนี้ ลดลง 5% ส่วนปีหน้าโต 10%) 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากมี NPL เกิดใหม่จำนวนมาก และมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร เราจึงคิดว่า SINGER น่าจะต้องใช้เวลาสักระยะในการล้างงบดุล และฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคตจึงปรับ ลดราคาเป้าหมายปีนี้  เหลือ 11.60 บาท ลดลงจาก 24 บาท และแนะปรับลดคำแนะนำจากถือเป็นขาย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์