‘บัฟเฟตต์’ ลุยเก็บหุ้นนอกสหรัฐ หลังพบหุ้นยอดเยี่ยมในราคา ‘เยี่ยมยอด’ อื้อ

‘บัฟเฟตต์’ ลุยเก็บหุ้นนอกสหรัฐ หลังพบหุ้นยอดเยี่ยมในราคา ‘เยี่ยมยอด’ อื้อ

เปิดกลยุทธ์ขยายพอร์ตไปลงทุนตลาดทุนต่างประเทศแบบ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” พร้อมแนะบริษัทที่ “ยอดเยี่ยม” ในราคา “เยี่ยมยอด” มีอยู่มากมายในตลาดหุ้นต่างชาติ

Key Points

  • นักลงทุนจำนวนมากชอบลงทุนเพียงในตลาดหุ้นของประเทศตัวเอง 
  • ตลาดหุ้นสหรัฐเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี และคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
  • หุ้นคุณภาพสูงนอกสหรัฐมีราคาถูกกว่าดัชนี S&P 500 
  • วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีแผนลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มเติมเพราะราคาถูก และคุณภาพดี

เนอ ไคซาร์ (Nir Kaissar) คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) และผู้ก่อตั้งยูนิสัน แอดไวเซอร์ส (Unison Advisors) บริษัทบริหารอสังหาริมทรัพย์สัญชาติอเมริกัน แสดงความคิดเห็นผ่านบทความ “Buffett Shows Investors How to Broaden Their Horizons” บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เป็นที่ทราบกันดีว่านักลงทุนจำนวนมากมีอคติที่ชอบลงทุนในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง และนักลงทุนชาวสหรัฐก็มีอคติไม่ต่างจากนักลงทุนประเทศอื่น ทว่าสิ่งที่แตกต่างคือ ตลาดหุ้นสหรัฐเติบโตดีจนเป็นที่อิจฉาของนักลงทุนจากต่างประเทศ 

 

โดยนักลงทุนชื่อดังอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) และจอห์น โบเกิล (John Bogle) ผู้ล่วงลับก็ได้เรียกร้องให้นักลงทุนสหรัฐเก็บเงินไว้ที่บ้านเกิดมานานแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะสหรัฐอเมริกาได้รับการขนานนามอย่างกว้างขวางว่าเป็นที่เก็บเงินที่ปลอดภัยมากที่สุดในโลก (The World’s Safe Haven) ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐมีความ “มั่นคง” และ “คุณภาพสูงสุด” ดังนั้นหากคุณเป็นนักลงทุนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ (อย่างที่บัฟเฟตต์และโบเกิล กล่าวไว้) คุณจะไปลงทุนที่อื่นทำไมกันเล่า

แต่ถึงอย่างนั้น บัฟเฟตต์ก็ไม่ใช่คนที่ไม่เคยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเลย ที่สำคัญเขากลับทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากตลาดหุ้นเหล่านั้น ในฐานะนักลงทุนรุ่นน้องเราก็ควรเรียนรู้ดูเขาเป็นแบบอย่าง

ผู้เขียนมองว่าบริษัทในสหรัฐสมควรได้รับ “การเยินยอ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการรักษาคุณภาพซึ่งดัชนีตลาดหุ้นจำนวนมากก็ยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น โดยคุณภาพที่กล่าวถึงนั้นก็คือ ความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับสูงซึ่งสามารถวัดได้จากวิธีการทางบัญชี เช่น อัตรากำไร (Profit Margin) ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on Equity) หรือผลตอบแทนจากเงินทุน (Return on Capital) ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา หากพิจารณาทั้งสามมาตรวัดนี้ ดัชนี S&P 500 มีความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับสูงกว่าดัชนี MSCI World ex USA และดัชนี MSCI Emerging Markets (ซึ่งเป็น 2 ดัชนีที่รวมกันแล้วครอบคลุมภาพรวมตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่อยู่นอกสหรัฐ)

อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้หมายความว่าสหรัฐผูกขาดบริษัทที่ทำกำไรสูง ทว่าในความเป็นจริง ผู้เขียนลองจัดอันดับบริษัทประมาณ 10,000 แห่งไว้ในดัชนี Bloomberg World Large, Mid & Small Cap Index จากระดับสูงไปยังระดับต่ำสุด โดยพิจารณาจากอัตรากำไรประจำปีที่รายงานล่าสุด และแน่นอนว่าผลลัพธ์คือ โดย 100 อันดับแรกล้วนเป็นบริษัทจากสหรัฐทั้งสิ้น ทว่าทั้งหมดก็คิดเป็นเพียง 15% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเท่านั้น

‘บัฟเฟตต์’ ลุยเก็บหุ้นนอกสหรัฐ หลังพบหุ้นยอดเยี่ยมในราคา ‘เยี่ยมยอด’ อื้อ

ทั้งนี้ ผู้เขียนลองใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับ ผลตอบแทนต่อทุน และผลตอบแทนจากทุน หากพิจารณาจากผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น บริษัทในสหรัฐจะมีสัดส่วนทั้งหมด 36 ตำแหน่งจากบริษัทใน 100 อันดับแรก และหากพิจารณาจากผลตอบแทนจากเงินทุน มีเพียง 14 บริษัทของสหรัฐเท่านั้นที่ติดโผ 

นอกจากนี้เพื่อข้อมูลที่น่าสนใจมากขึ้น ผู้เขียนลองจัดอันดับ 100 บริษัทแรกอีกครั้งโดยใช้ มาตรวัดทั้ง 3 ผสมกัน ผลปรากฏว่า สหรัฐอเมริกาก็ยังติดโผใน 18 อันดับแรกอยู่ดี

จริงอยู่ นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาหรือทรัพยากรมากพอที่จะค้นหาหุ้นนับพันตัว และเลือกตัวที่ทำกำไรได้มากที่สุด ทว่าคุณก็ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ เพราะในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “กองทุนดัชนีต้นทุนต่ำ” ที่คอยทำภารกิจนั้นให้คุณแล้ว โดยกองทุนเหล่านั้นจะคอยดูแลจัดการบริษัทที่มีคุณภาพสูงสุดผ่านการพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรตามสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งมักจะจัดพอร์ตการลงทุนตามภูมิภาค ทำให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้ว่าต้องการจะจัดสรรเงินจำนวนเท่าใดให้กับหุ้นในสหรัฐ หรือหุ้นในประเทศอื่นๆ 

จุดเด่นของวิธีการที่ผู้เขียนกล่าวมาก็คือ หากประเมินราคาหุ้นจากการเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน เช่น สินทรัพย์ ยอดขาย รายได้ และกระแสเงินสด จะเห็นว่าหุ้นคุณภาพสูงนอกสหรัฐมีราคาถูกกว่าดัชนี S&P 500 เสียอีก ขณะเดียวกัน แม้หุ้นเหล่านั้นจะราคาถูกแต่ก็ยังมีความสามารถในการทำกำไรที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าเกณฑ์ ตัวอย่างเช่นดัชนี S&P 500 ซื้อขายอยู่ที่ 19 เท่าของรายได้ปีที่แล้ว ส่วนดัชนี MSCI World ex USA Quality และ MSCI Emerging Markets Quality Index  ซื้อขายอยู่ที่ 15 เท่า และ 13 เท่า ตามลำดับ

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในอดีต บัฟเฟตต์เริ่มต้นจากการเป็นนักลงทุนที่เน้นมูลค่าสูงขั้นสุด (A Deep Value Investor) แต่ในที่สุดเขาก็หันไปหาการลงทุนเน้นคุณภาพ (Quality) แทน เหมือนคำกล่าวของเขาที่ว่า “การซื้อหุ้นบริษัทที่ยอดเยี่ยมด้วยราคาที่ยุติธรรม ดีกว่าการซื้อหุ้นบริษัทที่ยุติธรรมในราคาที่ยอดเยี่ยม” และถึงอย่างนั้น ด้วยความที่ตลาดหุ้นสหรัฐมีมูลค่ามหาศาลมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว บัฟเฟตต์จึงประสบปัญหาในการหาบริษัทในสหรัฐที่ราคาดี ภายใต้เงินสดจำนวน 1.3 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.29 ล้านล้านบาท) ของเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway Inc.

ทั้งหมดอาจอธิบายถึงวิวัฒนาการอีกอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์ นั่นคือ การตามล่าหาบริษัทที่ยอดเยี่ยมในต่างแดน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบัฟเฟตต์อยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อเจรจาด้านการลงทุนในบริษัทเทรดบ้าน 5 แห่ง รวมทั้งยังมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้บริษัทในญี่ปุ่นเหล่านั้นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับเบิร์กเชียร์ด้วย

‘บัฟเฟตต์’ ลุยเก็บหุ้นนอกสหรัฐ หลังพบหุ้นยอดเยี่ยมในราคา ‘เยี่ยมยอด’ อื้อ

โดยผู้เขียนบอกเลยว่านี่ไม่ใช่การเข้ารุกตลาดต่างประเทศครั้งแรกของบัฟเฟตต์ เพราะในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้ลงทุนใน ปิโตรไชน่า (PetroChina) บริษัทพลังงานของจีน, ปอสโก (Posco) ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลี, เทสโก้ (Tesco) ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหราชอาณาจักร, ซาโนฟี-อเวนตีส (Sanofi-Aventis) บริษัทยายักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส และบริษัทประกันในยุโรปอย่างมิวนิก รี (Munich Re) และสวิส รี (Swiss Re)  รวมทั้งเขายังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอีกว่าเขามีแผนลงทุนในญี่ปุ่นเพิ่มเติมอีก

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์