ต่างชาติขายหุ้นไทยไม่หยุด ผิดหวัง‘กำไรบจ.’ต่ำคาดอื้อ  

ต่างชาติขายหุ้นไทยไม่หยุด ผิดหวัง‘กำไรบจ.’ต่ำคาดอื้อ  

‘ต่างชาติ’ ขายหุ้นไทยไม่หยุด ล่าสุดวานนี้ทิ้งอีก 3.39 พันล้าน ส่งผลยอดทั้งเดือนก.พ.สูงถึง 4.35 หมื่นล้าน เหตุผิดหวังผลดำเนินงานต่ำคาด 41% หนักสุดในภูมิภาค ทิ้งกลุ่มปิโตร-พลังงานมากสุด จับตาแรงขายเริ่มชะลอ หลังเงินบาทอ่อนทรงตัวระดับ 35 ต่อดอลลาร์ 

นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้ ( 28 ก.พ.2566) ขายสุทธิอีก 3,396.52 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งเดือนก.พ. มียอดขายสุทธิรวม 43,511.25 ล้านบาท ด้านนักวิเคราะห์ประเมินแรงขายยังคงมีต่อเนื่อง แต่เม็ดเงินที่ขายออกเริ่มชะลอตัว      

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เดือนม.ค.2565 ถึง ม.ค.2566 รวม 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเข้าซื้อสุทธิในหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เฮลท์แคร์ อสังหาริมทรัพย์ ไอซีที พลังงาน และ คอมเมิร์ซ

สะท้อนผ่านยอดถือครองหุ้นในกลุ่มเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้น โดยอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 12.2% เฮลท์แคร์ เพิ่มขึ้น 8.5% อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 3.3% ไอทีซี 3.2% พลังงานเพิ่มขึ้น 1.8% และ คอมเมิร์ช เพิ่มขึ้น 2.1% ทำให้นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 3.7% แตะระดับ 31%

อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติเริ่มเทขายสุทธิหุ้นไทยอย่างหนักในเดือนก.พ.2566 โดยมียอดรวมกว่า 43,511 ล้านบาท เป็นการเทขายในกลุ่มหุ้นปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงาน ซึ่งส่วนตัวไม่แปลกใจที่ขายหนักใน 2 กลุ่มดังกล่าว  เพราะตลาดหุ้นอินโดนีเซียในช่วงต้นปีที่นักลงทุนต่างชาติขายหนัก ก็เป็นกลุ่มปิโตรเคมีเช่นกัน  เนื่องจากมีส่วนหุ้นกลุ่มพลังงาน และสินค้าคอมโมดิตี้ที่สูง

สำหรับหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ คือ บมจ.บ้านปู (BANPU) เพราะสัดส่วนการถือครองลดลงสูงสุด 2.5%  , บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ลดลง 1.9% ,บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล(MTC) ลดลง 1.4%,บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) ลดลง1.3 %, บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ลดลง  1.3%  , ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 1.3% , บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC)ลดลง 1.1%  ,บมจ.  ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)ลดลง 1.10%  ,บมจ.  เงินติดล้อ (TIDLOR) ลดลง 1.0% 

 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (ฺBLA)ลดลง 0.9% , บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ลดลง 0.8% , บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา(CPN) ลดลง 0.6% บมจ.  เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ลดลง 0.5%, บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 0.4% , บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ลดลง 0.4% บมจ.  แอสเสท เวิรด์ คอร์ป( AWC)ลดลง 0.3% ,บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)ลดลง 0.3%,บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง(SCGP) ลดลง 0.2%, บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ลดลง 0.2% , บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ลดลง0.2%,บมจ.ปตท.(PTT)ลดลง 0.2%บมจ.  ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) ลดลง 0.2% , บมจ.บัตรกรุงไทย(KTC)  ลดลง 0.1% และบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  0.1%

    นายสรพล กล่าวว่า  ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ที่ประกาศออกมาแล้ว 391 บริษัท จาก 654 บริษัท(บลูมเบิร์ก) พบว่ามีบริษัทกำไรสุทธิไตรมาส4ปี 2565 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์สูงถึง 41%  ซึ่งสูงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อว่าจะต่ำคาดมากขนาดนี้ และต่ำคาดสูงสุดในภูมิภาค    อย่างกลุ่มพลังงาน ไฟแนนซ์  เฉลี่ยต่ำคาด 15-20% และอีกส่วนมาจากความไม่มั่นใจการเติบโตของเศรษฐกิจ และปัจจัยทางการเมืองในอนาคต 

     ส่วนหุ้นที่ต่างชาติถือครองมากสุดใน 2 ช่วงนี้ คือบมจ. โอสถสภา(OSP) ,บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ,บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO),บมจ. คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (CBG) โดยไม่นับ JMART  TRUE และDTAC เพราะมีการโอนหุ้นบิ๊กล็อต

      นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า  เชื่อว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติจากนี้จะลดลง เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 35 บาท ทำให้มีกำไรจากค่าเงินน้อยแล้ว ซึ่งจุดที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติหยุดขายหุ้นไทย มี2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกค่าเงินบาททรงตัวที่ระดับ 35 บาท จากปัจจุบันที่ยังผันผวน   

        ส่วนอีกปัจจัยคือหลังจากที่นักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรบจ.ปีนี้เสร็จ หลังจากผลดำเนินงานไตรมาส4ปี 2565 ที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งคาดว่าจะปรับประมาณการณ์เสร็จในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมี.ค. 2566  ส่งผลให้ต้องปรับลดเป้าหมายดัชนีปีนี้ลดลงเช่นกัน ส่วนจะพลิกกลับมาซื้อมูลค่าสูงๆ อาจต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าลงทุนอีกรอบ 

      “แรงขายของต่างชาติจะยังไม่หยุด แต่จะเบาลง ซึ่งมี 2 จุดที่จะทำให้ต่างชาติหยุดขาย คือค่าเงินบาทนิ่งที่35 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากปรับประมาณการกำไรปีนี้เสร็จแล้ว  ทำให้ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิเบาๆ ซึ่งจะไม่มากเพราะต้องใช้เวลาสร้างความมั่นใจลงทุน ”      

อย่างไรก็การปรับลดประมาณการกำไรบจ.ปีนี้ของบล.เอเซีย พลัส คาดว่าจะปรับตัวลงมาก จากก่อนหน้าที่คาดว่ากำไรบจ.ปีนี้จะอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท