"กองทรัสต์SSTRT" ลุยเพิ่มทุน ตอกย้ำเบอร์1 คลังสินค้าเอกสาร
"กองทรัสต์SSTRT" ลุยเพิ่มทุน ตอกย้ำเบอร์ 1 "คลังสินค้าเอกสาร" แม้จะมีให้บริการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในไทยยังคงมีการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่ควบคู่กันทั้งกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ยังมีการใช้คลังจัดเก็บเอกสารอยู่ค่อนข้างมาก
ในยุคที่ “เทคโนโลยี” กำลังเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมแบบเก่ากลายเป็นแบบใหม่ และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะถูกเทคโนโลยีบริการทาง “เอกสารอิเล็กทรอนิกส์” เข้ามาเป็นทางเลือกบริการทาง “เอกสารกระดาษ” สะท้อนผ่านการเติบโตของ “กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทรัพย์ศรีไทย” (SSTRT) เป็นคลังเอกสารในโครงการคลังเอกสารของ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SST
แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ขั้นตอนธุรกรรมต่างๆ ถูกย่อ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม แต่สำหรับประเทศไทยยังคงมีข้อบังคับทางกฎหมาย และกำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องเก็บเอกสารไว้ เพื่อตรวจสอบหรืออ้างอิงตามที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยเฉพาะ กลุ่มสถาบันทางการเงิน (แบงก์) กลุ่มประกัน กลุ่มค้าปลีก (ห้างสรรพสินค้า) ซึ่งกำหนดให้มีการจัดเก็บเอกสารบางประเภทในรูปแบบต้นฉบับกระดาษ อาทิ เอกสารทางบัญชี เอกสารทางการเงิน เอกสารนิติกรรมต่างๆ และเอกสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางกฎหมายและภาษีอากรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบ กำกับดูแล และสืบค้นตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ภายใต้ระยะเวลาการเก็บรักษาเอกสารอย่างน้อย 5-10 ปี
“เอกชัย ลิ้มศิริวัฒนา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอสที รีท แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทรัพย์ศรีไทย (SSTRT) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 กองทรัสต์ SSTRT จะเดินหน้าการเพิ่มทุนครั้งที่ 1 จำนวน 36.21 ล้านหน่วย ซึ่งการเพิ่มทุนของกองทรัสต์ SSTRT ในครั้งนี้ ! จะเป็นการลงทุนในทรัพย์สินหลักเพิ่มเติมของ SSTRT
โดยหลังจากการลงทุนเพิ่มในครั้งนี้ กองทรัสต์ SSTRT จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คลังเอกสาร งานระบบสาธารณูปโภคและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น เป็น 18 อาคาร จากทรัพย์สิน ณ ปัจจุบัน จำนวน 14 อาคาร ทรัพย์สินใหม่ที่จะเข้าลงทุนเพิ่มเติม ประกอบด้วย ที่ดิน 4 ไร่ 1 งาน 68.9 ตารางวา และ อาคารคลังเอกสาร จำนวน 4 อาคาร มูลค่ารวม 190 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการเข้าลงทุนแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2565 นั้น ซึ่งจะส่งผลให้มีมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์ SSTRT แตะที่ระดับ 1,700 ล้านบาท และยังถือว่าเป็นกองทรัสต์เพียงรายเดียวในประเทศไทยที่เป็นกองทรัสต์ประเภทคลังเอกสาร
สำหรับทรัพย์สินที่กองทรัสต์ SSTRT จะเข้าลงทุนในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. อาคารคลังเอกสารหมายเลข 36 พื้นที่อาคารประมาณ 1,750 ตารางเมตร 2. อาคารคลังเอกสารหมายเลข 37 พื้นที่อาคารประมาณ 1,750 ตารางเมตร 3. อาคารคลังเอกสารหมายเลข 38 พื้นที่อาคารประมาณ 1,750 ตารางเมตร และ4. อาคารคลังเอกสารหมายเลข 39 พื้นที่อาคารประมาณ 1,750 ตารางเมตร
ทั้งนี้ คลังเก็บเอกสารทั้ง 4 อาคาร เป็นอาคารเก็บรักษาเอกสารสำคัญ (Document Storage Services Center) ให้แก่ บริษัท ห้างร้าน และหน่วยราชการต่างๆ เช่น เอกสารทางด้านบัญชี เอกสารทางการเงิน เอกสารด้านนิติกรรม ตลอดจนเอกสารข้อมูลสำคัญอื่น ๆ
“เอกชัย” บอกต่อว่า “ศักยภาพและจุดเด่น” ของคลังเก็บเอกสารของ SST คือ การนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้ง ระบบการจัดเก็บเอกสารอัตโนมัติ AS/RS ที่ทันสมัย มีการจัดเก็บเอกสารในอาคารศูนย์เก็บเอกสารขนาดใหญ่ มีระบบระบายอากาศภายในคลังเอกสารที่ดี มีชั้นสำหรับวางและจัดเก็บเอกสารเป็นชั้นเหล็กสำเร็จรูปแข็งแรงและทนทาน สะดวกต่อการจัดเก็บและดูแล
รวมทั้ง มีระบบการควบคุมการจัดเก็บด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีรหัสบาร์โค้ดที่สามารถค้นหาเอกสารได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาและให้บริการ มีบริการนำส่งเอกสารที่ต้องการใช้ตรวจสอบได้รวดเร็ว ตลอดจนมีระบบควบคุมดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงด้วยกล้องวงจรปิด มีระบบการตรวจสอบเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล และป้องกันอัคคีภัย
สำหรับ แนวโน้มของคลังเอกสารยังคงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้ประจำเข้ามาให้กับบริษัท และยังคงมีแนวโน้มความต้องการคลังเก็บเอกสารจากผู้ประกอบการต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยทรัพย์สินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ ทาง SST จะเป็นผู้เช่าเหมาทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมด มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 10 ปี และมีสิทธิต่อสัญญาเช่าอีกคราวละ 3 ปี และที่สำคัญทรัพย์สินที่จะลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้เป็นประเภท Freehold 100%
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต SST ยังมีพื้นที่คลังเอกสารอีก 4 หลัง หากกองทรัสต์ SSTRT ต้องการจะลงทุนเพิ่มเติมได้ และยังมีที่ดินรอการพัฒนาไว้อีก 17 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาการพัฒนาเป็นคลังจัดเก็บเอกสารส่วนหนึ่ง และเป็นคลังสินค้าอีกส่วนหนึ่ง
“แม้จะมีให้บริการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในไทยยังคงมีการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่ควบคู่กันทั้งกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ยังมีการใช้คลังจัดเก็บเอกสารอยู่ค่อนข้างมาก”
ท้ายสุด “เอกชัย” ฝากไว้ว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้สร้าง “ผลตอบแทน” สม่ำเสมอให้ผู้ลงทุนในช่วงภาวะตลาดผันผวน โดยได้มีประมาณการจ่ายประโยชน์ตอบแทน หลังการลงทุนในทรัพย์สินหลักเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ประมาณ 0.41บาท/หน่วย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.65 ถึง วันที่ 30 พ.ย. 66 คิดเป็นอัตราจ่ายประโยชน์ตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ที่เฉลี่ย 7%