PHG ‘รพ.เอกชน’ แถวหน้าย่านรังสิต ลุยระดมทุนต่อยอดธุรกิจรับการเติบโต

PHG ‘รพ.เอกชน’ แถวหน้าย่านรังสิต ลุยระดมทุนต่อยอดธุรกิจรับการเติบโต

"แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป" เร่งพันธกิจสร้างการเติบโตครั้งใหญ่ ! รุกขยายอาคาร-ลานจอดรถ "จุดขาย" ไอพีโอน้องใหม่ ในราคาหุ้นละ 21 บาท คาดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก 6 ก.ค. 66

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธุรกิจโรงพยาบาล” อัตราการเติบโตจะไม่ได้ “หวือหวา”... แต่ลักษณะของการเติบโตจะค่อนข้างมีความสม่ำเสมอและมีความมั่นคง แม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกและในประเทศชะลอตัวก็ตาม ทว่าสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับทุกคนหันมาตระหนัก และให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพมากยิ่งขึ้น ! โดยเฉพาะหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 

และหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลอย่าง บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG ธุรกิจหลักคือ การให้บริการทางการแพทย์ภายใต้ “กลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต” ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกว่า 36 ปี พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบริการทางการแพทย์ทั่วไปและเฉพาะทางกว่า 20 สาขา

กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเร่งสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ! ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 54 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 21 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาท คิดเป็น 18% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด และคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) วันที่ 6 ก.ค. 2566 

PHG เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ภายใต้โรงพยาบาลจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2.โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 และ 3.โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต โดยสามารถรองรับผู้รับบริการทางการแพทย์จากคนในจังหวัดกรุงเทพตอนเหนือ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง โดยให้บริการทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป กลุ่มลูกค้าภายใต้สวัสดิการภาครัฐ และลูกค้าชาวต่างชาติ 

ณ ปัจจุบันกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต มีจำนวนเตียงจดทะเบียนรวมทั้งหมดจำนวน 270 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลแพทย์รังสิต โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 และ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต จำนวน 155 เตียง จำนวน 59 เตียง และจำนวน 56 เตียง ตามลำดับ

ด้วย “จุดเด่น” ของ PHG คือ จาก “ศักยภาพ” ทางธุรกิจที่ระดับสูง และด้วยความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทางแม่และเด็ก และความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจด้วย “การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด” หรือ “Open Heart Surgery” โดยมีให้บริการศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง และสามารถต่อยอดการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ เสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการเกี่ยวกับโรคผู้สูงอายุ โรคทางนรีเวชแบบ Non-Invasive Surgery และโรคมะเร็งแบบครบวงจร รวมทั้งการขยายศูนย์ฟอกไต คาดเริ่มก่อสร้างไตรมาส 4 ปี 2567 ได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต 

PHG ‘รพ.เอกชน’ แถวหน้าย่านรังสิต ลุยระดมทุนต่อยอดธุรกิจรับการเติบโต “รณชิต แย้มสอาด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่า เพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนบริษัทจะนำไปลงทุน “โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถ” มูลค่า 100ล้านบาทภายในปี 2567 “โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 1” มูลค่า 200 ล้านบาทภายในปี 2567 

“โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 2” มูลค่า 300 ล้านบาทภายในปี 2569 , “การซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์” มูลค่า 250 ล้านบาทภายในปี 2567 “ชำระคืนเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงินบางส่วน” มูลค่า 150 ล้านบาทภายในปี 2566 และ “เงินทุนหมุนเวียน” ในการดำเนินธุรกิจ มูลค่า 134 ล้านบาทภายในปี 2566 

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการทั้งหมด เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่การให้บริการ ซึ่งโครงการทั้งหมดอยู่ในที่ดินผืนเดียวกันกับโรงพยาบาลแพทย์รังสิตเดิม ซึ่งจะทำให้เกิด “Economy of Scale” ในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับการแชร์ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตจะดีขึ้นกว่าปัจจุบันด้วย

สำหรับ เป้าหมายในปี 2566 มองว่ารายได้จะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 10% แต่หลังจากที่บริษัทขยายธุรกิจได้ครบตามแผนที่วางไว้ จะทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทมีพื้นที่ให้บริการสำหรับรองรับคนไข้ที่เข้ามาได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า PHG จะยังเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็ก แต่ด้วยศักยภาพของผู้บริหารและทีมงาน รวมถึงการตั้งอยู่ในทำเลที่ศักยภาพ ทำให้ยังมีโอกาสอีกมากในการสร้างการเติบโต และหากเทียบกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่แล้ว โรงพยาบาลขนาดเล็กยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้มากกว่า

ขณะที่ บริษัทมีรายได้ที่มั่นคงจากฐานกลุ่มลูกค้าทั่วไปและกลุ่มลูกค้าสิทธิสวัสดิการภาครัฐ ในสัดส่วน 50 : 50 โดยมีจำนวนผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม 1.56 แสนคน การที่ สปส. อนุมัติการปรับขึ้นอัตราค่าบริการเหมาจ่ายต่อหัวเป็น 1,808 บาทต่อคนต่อปี จาก 1,640 บาทต่อคนต่อปี เริ่ม 1 พ.ค. 2566 นับเป็นผลบวกต่อโรงพยาบาลที่มีลูกค้าประกันสังคม 1.56 แสนคน ดังนั้นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

“แผนในการขยายธุรกิจของ PHG มีความน่าสนใจ เพราะจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับ และให้บริการทางการแพทย์ที่สูงขึ้น สร้างโอกาสในการเติบโต รวมถึงเป็นการต่อยอดการให้บริการทางการแพทย์ที่โดดเด่นอยู่แล้วให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้นในอนาคต”

ท้ายสุด “รณชิต” ฝากไว้ว่า เราเป็นธุรกิจโรงพยาบานซึ่งพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคตเพิ่มขึ้นมาก และหุ้นในกลุ่มการแพทย์ถือเป็นหุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensive stock) โดยเฉพาะในภาวะตลาดหุ้นไทยที่เผชิญความผันผวนค่อนข้างมาก