นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ‘สงครามการค้า‘ ลามเป็นสงครามค่าเงิน ฉุดเศรษฐกิจดิ่ง
สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ระอุอีกรอบ ตั้งกำแพงภาษีรถอีวีจีน 100% “เคเคพี” จับตาผลกระทบ 4 ด้าน หวั่นลามเป็นสงครามค่าเงิน ซีไอเอ็มบีไทย ชี้ การค้าโลกชะลอ ไทยเสียมากกว่าได้
สงครามการค้ารอบใหม่ส่อแววรุนแรงมากขึ้น หลังสหรัฐประกาศขึ้นภาษีเพื่อสกัดสินค้าจีนถึง 4 เท่าตัว โดยการขึ้นกำแพงภาษีรอบใหม่นี้คาดจะครอบคลุมสินค้าจีนคิดเป็นราว 1.8 หมื่นล้านบาท หรือ 6.6 แสนล้านบาท โดยจะทยอยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
นักเศรษฐศาสตร์ไทย เชื่อว่า “ไทย”ได้ผลเสียมากกว่าผลดี หวั่นส่งออก การผลิตไทยถูกกระทบหนัก สุดท้ายอาจลามกระทบต่อจีดีพีไทยให้ลดลงในระยะข้างหน้า
จับตาผลกระทบ4ด้าน
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐรอบใหม่ เพื่อสกัดสินค้าจีนครั้งนี้ จะคล้ายกับสมัยที่ “ทรัมป์” ที่มีการตอบโต้กีดกันทางการค้าจีนอย่างรุนแรง มองผลกระทบจะมี 4 ด้านด้วยกัน คือ
1.การกีดกันการค้าอย่างรุนแรง อาจกระทบต่อผู้ค้าไทยและผู้ค้าทั่วโลกแน่นอน
2.กระทบการส่งออกทั่วโลก และไทย เนื่องจาก การกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนหันมาส่งออกมาไทย และใช้ไทยส่งออกไปสหรัฐแทน ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาสินค้าหลายรายการที่ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐมากขึ้น เช่น โซลาเซลล์ ซึ่งสหรัฐเองเคยมีแนวคิดเก็บภาษีจากไทย และอาเซียนมาแล้ว
ดังนั้นหากมีการเก็บภาษีเพิ่มเติม สหรัฐอาจกลับมาทบทวนเก็บภาษีจากการหลบเลี่ยงของสินค้าจีน ที่ส่งออกมาไทย เพื่อกลับไปส่งออกกลับไปที่สหรัฐได้เช่นเดียวกัน
ซึ่ง ผลกระทบต่อประเทศไทยมีแน่นอน ไม่เฉพาะผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับจีนเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการที่ส่งออกไปสหรัฐเองก็อาจถูกผลกระทบนี้ได้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ ที่เป็นสินค้าส่งออกของไทยที่เติบโตต่อเนื่อง
หวั่นเกิดสงครามราคาระหว่างจีน-ไทย
3.การถูกขึ้นกำแพงภาษีของจีน อาจทำให้จีนปรับตัวหันมาส่งออกมาสู่ไทย และอาเซียนมากขึ้น และด้วยจีนถือเป็นผู้ที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิด “สงครามราคากับสินค้าในไทย” จากการลดราคาของจีน ดังนั้น กระทบทั้งราคาสินค้า กระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งกำลังผลิตอาจจะลดลง จากการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้อาจเห็นผู้ประกอบการการไทยเลิกกิจการมากขึ้น
สงครามการค้าลามสู่สงครามค่าเงิน
4.สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ความพยายามของจีน เพื่อทำให้ค่าเงินหยวน อ่อนค่าลง เพื่อเป็นวิธีการที่หลบเลี่ยงผลกระทบจากการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐได้ดีที่สุด เช่น หากสหรัฐมีการขึ้นภาษีมากขึ้น การที่จะทำให้จีนยังสามารถส่งออกสินค้าได้ราคาเท่าเดิม อาจต้องยอมให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง เพื่อให้จีนได้เงินกลับมาเท่าเดิม จากการปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่า ซึ่งประเด็นนี้ กระทบต่อประเทศไทยแน่นอน เพราะค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าตามเงินหยวนได้ ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบตามมาได้
ซึ่งจากผลกระทบข้างต้น เชื่อว่า จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน โดยเฉพาะหากการกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น และไทยได้รับผลกระทบ อาจส่งผลกระทบต่อส่งออก และการผลิตของไทยให้ลดลงได้ ซึ่งเหล่านี้อาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปีนี้ และข้างหน้าให้ลดลงได้
“วันนี้ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันอยู่แล้ว หากจีนเข้ามาดัมพ์ตลาด ไทยอาจสู้ไม่ได้ เอสเอ็มอีอาจไปไม่รอด เพราะจากความสามารถในการผลิตของจีนระดับโลก ทำให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำลง ดังนั้น ประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนแอไม่เฉพาะการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ที่ต้องติดตามคือ ผลกระทบจะลามต่อเนื่องหรือไม่ เพื่อสกัดสินค้าจีนเข้าประเทศ”
ไทยได้รับกระทบมากกว่าได้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองผลกระทบการกีดกันการค้าของสหรัฐต่อจีนครั้งนี้ กระทบต่อไทย 2 ด้าน คือ
1.การค้าโลกอาจชะลอตัว เพราะจีนส่งออกทั่วโลกไทยเองอาจส่งออกไปจีนได้ลดลง จากความต้องการของจีนแผ่วลง เช่นเดียวกันการส่งออกไปอาเซียน เพราะอาเซียนส่วนใหญ่พึ่งพาจีนเป็นหลัก ดังนั้นจีนถูกกดดันจากสหรัฐอาจลามมาสู่ส่งออกของประเทศอื่นให้ลดลง
2.สงครามการค้าอาจทำให้ไทยชิงตลาดส่งออกได้มากขึ้น ทดแทนสินค้าจีน เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับยานยนต์ อาหารแปรรูป แต่ปัจจุบันไทยส่งออกไปสหรัฐน้อยมาก ดังนั้นประโยชน์ส่วนนี้อาจไม่ได้มากนัก ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เมื่อมีการเพิ่มมูลค่าสินค้า ต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของไทยในสหรัฐให้มากขั้น และพัฒนาสินค้าส่งออกไทย ไปสหรัฐให้มากขึ้น
ดังนั้นไทยต้องปรับตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการช่วงชิงทางการค้าท้ายที่สุดแล้วมองประเทศไทยจะ “เสียมากกว่าได้”มีโอกาสที่จะกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุน การส่งออกของไทยให้ลดลงได้
ไม่เพียงเท่านั้น การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐครั้งนี้ โดยการจำกัดบทบาทของสินค้าจีน และหันมาผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าจีน อาจทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จากการที่สหรัฐคาดว่า ซึ่งสิ่งที่กังวล อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะ “stagflation” เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจชะลอตัวคาดการณ์เงินเฟ้อลดลงอาจไม่ได้เป็นไปตามคาด ดังนั้น อาจเห็นนโยบายการเงินสหรัฐเปลี่ยนทิศมาขึ้นดอกเบี้ยได้ เศรษฐกิจสหรัฐจะยิ่งชะลอตัวหนักขึ้นไปอีก
สำหรับเศรษฐกิจไทย หากเงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังไม่จบ เสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่ามากขึ้นไปอีก และอาจต้องเผชิญกับภาระต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น และไทยอาจเผชิญการเข้ามาแข่งขันสินค้าราคาต่ำจากจีนมากขึ้น ผู้ประกอบการอาจเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
แนะภาครัฐเป็นพระเอกประคองศก.ลดผลกระทบ
สำหรับเศรษฐกิจไทย หากเงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังไม่จบ เสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่ามากขึ้นไปอีก และอาจต้องเผชิญกับภาระต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น และประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับการเข้ามาแข่งขันสินค้าราคาต่ำจากจีนมากขึ้น ผู้ประกอบการอาจก็อาจต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
“วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าจีนและสหรัฐ เพราะวันนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะ อาจกระทบต่อการผลิตภาคเอกชนแผ่วลงได้ ดังนั้นภายใต้ภาวะปัจจุบันที่เรากำลังเจอทั้งสงครามการค้า สงครามระหว่างประเทศ เศรษฐกิจชะลอตัว ภาครัฐต้องเป็นพระเอกออกมาประคองเศรษฐกิจ ดังนั้นหวังว่าภาคการคลังคงเตรียมรับมือให้ดี เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดไปมากกว่านี้ วันนี้เราแค่ซึมๆ แต่หากไม่ทำอะไรเราจะยิ่งทรุดหนัก ดังนั้นหวังว่าภาครัฐจะช่วยกลุ่มเปราะบางให้ประคองตัวได้ขึ้นบ้าง เพราะวันนี้หลายเครื่องยนต์ของไทยชะลอตัวลงมาก”