ธปท. เร่ง แบงก์ มุ่งสู่ ‘เน็ตซีโร่‘ ย้ำปรับตัวช้า ยิ่งสูญความสามารถแข่งขัน

ธปท. เร่ง แบงก์ มุ่งสู่ ‘เน็ตซีโร่‘ ย้ำปรับตัวช้า ยิ่งสูญความสามารถแข่งขัน

“แบงก์ชาติ” เร่งผลักดันแบงก์มุ่งสู่เน็ตซีโร่เป็นมาตรฐานเดียวกับสากล สั่งแบงก์จัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อม ย้ำหากปรับตัวล่าช้า อาจกระทบต่อ “ความสามารถแข่งขัน-หนี้เสียพุ่ง” “ไทยพาณิชย์” เร่งเดินธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน ล่าสุดปล่อยกู้ความยั่งยืนไปแล้วกว่า 8 หมื่นล้าน

หลายบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผลอย่างมาก ที่จะช่วยเร่งสถาบันการเงินตื่นตัวในด้าน “ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม” เช่น กฎกติกา หรือ มาตรฐานกลางในการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy เพื่อเป็นตัวกำหนดว่า กิจกรรมประเภทใดอยู่ในกลุ่มที่เป็นอันตราย กลุ่มเสี่ยง หรือมีความยั่งยืนมากขึ้น ตามแนว 3 ระดับคือ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยเริ่มที่อุตสาหกรรมพลังงานและขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงก่อน และระยะถัดไปจะเริ่มครอบคลุมไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ

ไม่เพียงเท่านั้นในบทบาทของธปท. ที่ผ่านมา ยังผลักดันอีกหลายเรื่องเพื่อเร่งให้ “สถาบันการเงิน” ออกโปรดักต์ทางการเงินที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และให้แบงก์ส่งทรานซิชั่นแพลน หรือ Transition Plan ที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อหวังผลักดันให้ภาคการเงินมุ่งไปสู่ความยั่งยืนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แบงก์ชาติเร่งแบงก์มุ่งสู่ Net Zero

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การให้แต่ละธนาคารจัดทำ Climate Transition Plan จะทำให้แบงก์แต่ละแห่ง มีเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของตนเองที่มีกรอบเวลาชัดเจนสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero Target ของประเทศและมีมาตรฐานสอดคล้องกับทิศทางสากล 

รวมทั้งช่วยให้แบงก์ทราบถึงความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าของตนเองที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง และสามารถกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินการที่จะช่วยให้ลูกค้าปรับตัวได้อย่างเป็นรูปธรรมและราบรื่นทันกับสถานการณ์  

ดังนั้น ธปท. จึงขอให้แบงก์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศและธนาคารอื่นที่สนใจจัดทำ Transition Plan เริ่มจากภาคเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญที่วัดจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ/หรือมีสัดส่วนสูงในพอร์ตสินเชื่อของแบงก์ให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 1 ภาคเศรษฐกิจภายในปี 2568 และทยอยทำในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อขยายผลในระยะต่อไป

ส่วนการให้แบงก์ออกโปรดักต์ทางการเงินที่เกี่ยวกับการเงินสีเขียวความยั่งยืนที่ผ่านมา ธปท. ได้เห็นแบงก์ออกสินเชื่อสีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม แต่หลายแบงก์ก็ได้ตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในระยะข้างหน้า 

อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ยังเน้นสินเชื่อสีเขียวมากกว่าสินเชื่อที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ ยังเป็นกลุ่มสีน้ำตาล ที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนสูง หรือยังใช้เทคโนโลยีแบบเก่าที่ยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องการการสนับสนุน ทั้งด้านองค์ความรู้และเงินทุนในการปรับตัว ซึ่งภาคสถาบันการเงินสามารถเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมได้ 

ในปีนี้ ธปท. จึงมีโครงการให้ภาคธนาคารออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนเงินทุนเพื่อการปรับตัวของธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

โดยธปท. มองว่าหากแบงก์ไม่ปรับตัวสู่ทิศทางเหล่านี้ หรือล่าช้า ในการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันการณ์และเพียงพอ จากการที่ลูกค้าของธนาคารมีความเสี่ยงที่ทรัพย์สินจะเกิดความเสียหาย หรือด้อยมูลค่าจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (physical risk) หรือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายและกฎเกณฑ์ที่เร่งผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้ธุรกิจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงต้องเร่งปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (transition risk) ซึ่งในที่สุดจะย้อนกลับมาส่งผลต่อแบงก์โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า 

นอกจากนี้ แบงก์ยังอาจเสียโอกาสในแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ตลอดจนการระดมทุนเพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจและการลงทุนในอนาคต ที่นักลงทุนและผู้บริโภคใส่ใจในประเด็นความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้น ธปท. จึงได้ออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงิน โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (standard practice) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้สถาบันการเงินใช้เป็นกรอบหลักการในการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะสม

 ‘ไทยพาณิชย์’ปล่อยกู้เพื่อความยั่งยืน8.5 หมื่นล้าน

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารเห็นถึงความเร่งด่วนในการบรรเทาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีความสัมพันธ์และส่งผลต่อความมั่นคงและการพัฒนาในหลากหลายมิติ ทำให้ต้องเร่งดำเนินกลยุทธ์และการพัฒนาแผนงานเพื่อให้สามารถบรรลุความมุ่งมั่นที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งในส่วนที่มาจากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 และจากให้สินเชื่อและการลงทุนสำหรับลูกค้า ภายในปี 2593 

ทั้งนี้ ยังเป็นการวางเป้าหมายที่เร็วกว่าประเทศ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและปณิธานที่จะมีส่วนร่วม โดยมีความตั้งใจจะช่วยสนับสนุน ผลักดัน ประเทศของเราสามารถเปลี่ยนผ่านไปด้วยกันทั้งระบบนิเวศ

โดยธนาคารต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า ด้วยการเข้าไปร่วมวางแผนและตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนของลูกค้า ผ่านการให้คำปรึกษา และสนับสนุนเงินลงทุน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้กับการลงทุนและการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของลูกค้า อย่างมีมาตรฐานระดับสากล ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนภายในองค์กร รวมถึงการปลูกฝังแนวความคิดทางด้านความยั่งยืน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับพนักงานทุกภาคส่วนตามความเกี่ยวข้องในหน้างานของแต่ละคน

ที่ผ่านมา ธนาคารได้สนับสนุนสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืนและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไปแล้วด้วยวงเงินเกือบ 85,000 ล้านบาท ครอบคลุมการสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในกว่า 11 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

 อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัว และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ที่เป็นการสนับสนุนเงินทุน เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

รวมถึงการให้อัตราดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขพิเศษที่เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจในวงกว้างเกิดการปรับตัว ผลิตภัณฑ์ของธนาคารครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มโดยเฉพาะลูกค้าขนาดใหญ่ และยังครอบคลุมไปถึงลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนลูกค้ารายย่อย ซึ่งถึงแม้วันนี้บางกลุ่มอาจจะยังไม่พร้อมเต็มที่ 

กรุงศรีฯ เร่งธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจการสนับสนุนเกี่ยวกับด้านความยั่งยืนสีเขียว ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรีในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน ธนาคารได้วางเป้าหมายในการเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนที่ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573 

โดยการสนับสนุนลูกค้าที่ผ่านมาในด้านการเงิน ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนในปี 2566 ธนาคารมียอดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้น  71,000 ล้านบาทจากฐานปี 2564 โดยแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่นี้ กรุงศรีจะมุ่งขยายบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้า SME และลูกค้ารายย่อยที่หลากหลายยิ่งขึ้น ผ่านการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และ SME ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ ส่วนการจัดทำทรานซิชั่นแพลน คาดว่าจะสามารถส่งแผนการออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตามกำหนด

ปล่อยกู้ความยั่งยืนแล้วเกิน ‘1แสนล้าน’

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าไปสู่ Net Zero ภายในปี 2030 ควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนด้านการเงินด้านสินเชื่อ เพื่อลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ให้ได้ 200,000 ล้านบาท ซึ่งหากดูการสนับสนุนด้านสินเชื่อปัจจุบัน ธนาคารมีการช่วยลูกค้าผ่านสินเชื่อต่างๆ ไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท

 ‘ทีทีบี’ช่วยรายย่อย-ธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ในฐานะประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) กล่าวว่า พันธกิจของธนาคารให้ความสำคัญสองเรื่อง คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และช่วยลูกค้าธุรกิจให้สามารถปรับตัว พร้อมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันธนาคารช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านโครงการรวบหนี้ให้ลดภาระทางการเงินลงแล้วกว่า 17,000 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 6,700 ล้านบาท ซึ่งช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยไปได้กว่า 1,200 ล้านบาท หรือ สินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ทีทีบีแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ttb welfare loan) ที่มีส่วนช่วยลูกค้าไปแล้ว 350,000 ราย โดยธนาคารฯ ตั้งเป้าในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อ สวัสดิการพนักงานมากกว่า 7 พันล้านบาท ในปี 2567

ทั้งนี้ ในด้านการช่วยธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ปัจจุบันธนาคารปล่อยกู้ ผ่านหุ้นกู้สีเขียว สีฟ้าไปแล้วกว่า 17,829 ล้านบาท และในปี 2567 ธนาคารฯ ได้กำหนดเป้าหมาย สินเชื่อสีเขียวเป็นจำนวนเงิน 20,000 ล้านบาท