กนง. ยันดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสม ไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

กนง. ยันดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสม ไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

“แบงก์ชาติ” ย้ำอัตราดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสม เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตสู่ระดับศักยภาพ ไม่ใช่ระดับฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย เผย “ไม่ค้าน” หากแบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ย

ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีการเชิญ 4 ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) เข้าหารือเมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ที่ผ่านมา เพื่อขอความช่วยเหลือให้แบงก์ช่วยส่งผ่านดอกเบี้ย และมาตรการทางการเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการชำระหนี้ เป็นผลให้ทางสมาคมธนาคารไทยต้องหารือเร่งด่วน เมื่อวันที่ 24 เม.ย.67 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้เพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมในการช่วยลูกหนี้ โดยหวังลดภาระหนี้ลดลง ด้าน ธปท. มองว่าการเข้าไปช่วยกลุ่มลูกหนี้เปราะบางถือเป็นสิ่งที่ดี สอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่มีมาต่อเนื่อง ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตั้งแต่การระบาดโควิด-19 

 

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงกรณี ที่นายกรัฐมนตรีมีการเชิญ 4 ธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ หารือเพื่อพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และในส่วนของสมาคมธนาคารไทย มีการพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์ในด้านการปล่อยสินเชื่อ และมาตรการที่มุ่งเน้นในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนเห็นความจำเป็นในการเข้าไปช่วยเหลือ

เช่นเดียวกัน ธปท. ที่เห็นสอดคล้องกัน โดยเฉพาะตั้งแต่โควิดที่ ธปท. มีการออกมาตรการเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือในช่วงที่ ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ Normalization ธปท.ก็พยายามดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ให้มีการส่งผ่านดอกเบี้ยรายย่อยน้อยกว่ากลุ่มสินเชื่ออื่นๆ

 

รวมไปถึงการกำกับดูแลภายใต้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม Responsible Lending ที่พยายามดูแลกลุ่มเปราะบาง ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสีย ดังนั้น แนวทางในการดูแลกลุ่มเปราะบางถือว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญ และดูแลมาโดยตลอด ดังนั้น การพิจารณามาตรการต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับทางสมาคมธนาคารไทยในการพิจารณา หากเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก็เป็นสิ่งที่ดี

“ตอนนี้ก็มี Input จากหลายภาคส่วนในการดำเนินนโยบาย ว่าที่ทำอยู่ต้องทำใหม่หรือไม่ และในแง่ของธนาคารพาณิชย์ หากจะปรับอะไร ทั้งกระบวนการสินเชื่อ การปรับด้านราคา ก็เป็นเรื่องของการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ ว่าควรทำอะไรที่เหมาะสมกับความเสี่ยงต่างๆ ดังนั้น การปรับต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์เพราะเป็นการปรับในด้านบิสเนสโมเดลที่ทำได้ปกติ ในส่วนของ กนง.จะจับตาดูว่า ภาวะการเงินเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือเปลี่ยนไปอย่างไร”

ดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% เหมาะสม

สำหรับ การดำเนินนโยบายการเงิน มองว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นระดับที่ช่วยเสริมศักยภาพ เศรษฐกิจไทยระยะยาวแล้ว และดอกเบี้ยปัจจุบันยังเป็นระดับที่รองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้ในระยะข้างหน้า ทั้งความเสี่ยงด้านบวก และความเสี่ยงด้านลบ จากความไม่แน่นอน หรือช็อกที่จะเข้ามาในระยะข้างหน้า

โดยการที่ กนง. มีข้อมูลเศรษฐกิจเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจากสภาพัฒน์ ที่จะออกมาเดือนพ.ค. และการประชุม กนง. ในรอบเดือนมิ.ย. จะเห็นภาพเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้น ระยะข้างหน้าจะเห็นความชัดเจนเชิงตัวเลขเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่มีผลต่อภาคการส่งออก รวมถึงภาพรวมงบประมาณของรัฐ หลังงบประมาณปี 2567 สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว

ดังนั้น ข้อมูลที่มีมากขึ้นจะช่วยให้การตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงิน เป็นไปอย่างรอบด้านมากขึ้น อีกด้านที่ กนง. ต้องติดตามคือ ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ ที่จะเปลี่ยนแปลงไป จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาทของไทย และภูมิภาคด้วย ดังนั้น มองอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน มีส่วนช่วยด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และค่าเงินได้ระดับหนึ่ง 

กนง.ติดตามปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

ในระยะข้างหน้า กนง. ยังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ กนง.ให้ความสำคัญ และเรื่องการส่งออก การขยายตัวของจีดีพี เงินเฟ้อ เพื่อพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในด้านความเสี่ยง กนง. มองว่าปัจจุบันมีทั้งความเสี่ยงด้านบวก และความเสี่ยงด้านลบ โดยเฉพาะจากความเสี่ยงด้านลบที่มาจากการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่อาจเบิกจ่ายได้ต่ำน้อยกว่าที่ประเมินไว้ และด้านต่างประเทศมีความเสี่ยงสูงขึ้น จากราคาน้ำมัน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงด้านบวกจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่อาจมากกว่าคาดเช่นเดียวกัน รวมถึงการส่งออกที่อาจฟื้นตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดได้

ทั้งนี้ ด้านความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันถือว่ามีผลกระทบหลายด้านต่อเศรษฐกิจไทย และหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งเป็นภาระต่อกองทุนน้ำมัน และเป็นภาระต่อภาคการคลังมากขึ้น ดังนั้น ในแง่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน เป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่า ช็อกที่เข้ามา อยู่นานแค่ไหน และมีการส่งทอดสู่กิจกรรมเศรษฐกิจยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเป็นช็อกด้านอุปทาน นโยบายการเงินก็จะพยายามมองทะลุไป เพราะไม่เกี่ยวกับอุปสงค์โดยรวม แต่ปัจจุบันมองว่า ราคาน้ำมันยังไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในด้านภาระหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันที่ระดับกว่า 91% ซึ่งถือเป็นระดับสูงหากเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะหากเทียบกับประเทศเกิดใหม่ ที่อยู่เพียงระดับ 60% หรือประเทศพัฒนาแล้วที่หนี้ครัวเรือนอยู่เพียงกว่า 80%เท่านั้น ดังนั้นระดับ 91% ถือว่าอยู่ในระดับสูง

อีกทั้ง ไส้ในของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ ยังเป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภคมากกว่า การซื้อบ้าน ที่เกิดประโยชน์ ดังนั้นในด้านโครงสร้างถือว่าน่าเป็นห่วง

ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยลดหนี้

ทั้งนี้ กนง. มองว่าหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% สิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายในระยะสั้นๆ แต่จะเห็นว่าในระยะกลาง ภาระหนี้ดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ตามมาในที่สุด ดังนั้นแม้การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงระยะสั้น แต่จะเพิ่มขึ้นระยะยาว จากการก่อหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น เหล่านี้มาจากผลของดอกเบี้ยที่ลดลง ดังนั้นนัยต่อเศรษฐกิจ แม้การลดดอกเบี้ยจะมีผลดีระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ แต่ระยะยาว ก็มีต้นทุนที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ต้องคำนึงถึง ปัจจัยหนี้เช่นเดียวกัน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ดอกเบี้ย มีส่วนที่กระทบต่อพลวัตของหนี้ไม่มากก็น้อย ดังนั้น กนง.ไม่ต้องการให้ ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลักในการลดหนี้ เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นแล้วว่า “ดอกเบี้ย” มีบทบาทไม่มากนัก ที่ช่วยลดหรือแก้ปัญหาหนี้สูงได้

แต่การแก้ไขปัญหาหนี้ได้ ตัวหลักสำคัญ ที่จะทำให้เกิดกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt deleveraging) จะเกิดขึ้น ต้องมาจาก รายได้เพิ่ม ที่ไม่ได้มีแรงส่งจากดอกเบี้ย เช่น การส่งออกที่ต้องดีขึ้น ผลิตภาพ ต้องสูงขึ้น ดังนั้นอัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงตัวช่วยไม่ให้ซ้ำเติมให้ปัญหามากขึ้น

“การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ภายใต้ Inflation targeting พยายามดูแลให้เศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในจุดที่พอดี โดยมองไปในระยะปานกลางมากขึ้น เพราะเราตระหนักดีว่า การทำงาน หรือเครื่องมือเรา มันใช้เวลาพอสมควร และเศรษฐกิจเป็นอะไรที่เหมือนเรือใหญ่ หันซ้ายหันขวาช้ามาก และมีโมเมนตัมด้วยตัวของมันเองเยอะมาก สิ่งหนึ่งที่นโยบายการเงินจะช่วยได้บ้างคือ ช่วยมองระยะปานกลางไม่ใช่มองทันที หรือระยะสั้น”

แจงเหตุผลไม่ลดดอกเบี้ยแม้เศรษฐกิจ - เงินเฟ้อต่ำ

ส่วนเหตุผลที่ กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าคาด รวมถึงเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินต้องมองไปข้างหน้า และหากดูตัวเลขเศรษฐกิจที่ผ่านมาที่ชะลอลง มาจากสินค้าคงคลังที่มีแรงฉุดเศรษฐกิจปีก่อนถึง -4.7% และภาคการคลังที่เป็นหลุมอากาศทางการคลัง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีนี้

ดังนั้น เหล่านี้ไม่เกี่ยวกับอุปสงค์ในประเทศ และไม่ได้ชะลอลงจากผลของดอกเบี้ย หากมองไปข้างหน้า มองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ที่คาดขยายตัวที่ 1% หากเทียบกับไตรมาสก่อน และมีแรงส่งขยายตัวบวกทุก 1% ในแต่ละไตรมาส ทำให้โดยรวมโตเฉลี่ย 4% ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจไทยถือว่าไม่ได้ต่ำ และหากมองไปข้างหน้าอาจมีปัจจัยชั่วคราวเข้ามาช่วย เช่น ภาคการคลัง และผลลบจากสินค้าคงคลังจะทยอยหมดไป และการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด ที่จะเข้ามาสนับสนุนได้

และยืนยันว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับปัจจุบันที่ 2.50% เป็นระดับที่เอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย และไม่ได้ฉุดเศรษฐกิจไทย ขณะที่เม็ดเงินใหม่จากสินเชื่อใหม่ยังสามารถไหลเข้าสู่ระบบได้ต่อเนื่อง

กนง.พร้อมปรับดอกเบี้ยหาก ศก.เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม กนง. ก็พร้อมปรับดอกเบี้ยนโยบาย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามา และภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และกนง. ไม่ได้ยึดติดว่า อัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ระดับนี้ตลอดไป แต่ขึ้นอยู่กับการแยกแยะข้อมูลที่เข้ามากระทบว่ามีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน และมีผลต่อนัยสำคัญในการปรับการดำเนินนโยบายการเงินหรือไม่  

รับอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าผันผวน

อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนช่วงหลังมีความผันผวน และอ่อนค่าค่อนข้างมาก และนำสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคในบางช่วง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ติดตามดูเป็นพิเศษอยู่แล้ว และไม่ต้องการให้ตลาดทำงานผิดปกติ หรือ Disfunction หรือเกิดชะงักงัน แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นอาการในลักษณะดังกล่าว แม้จะปรับผันผวนขึ้นบ้าง

โดยเฉพาะช่วงหลัง ที่อ่อนค่ามาจากปัจจัยต่างประเทศ จากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าเฟดอาจดำเนินนโยบายการเงินเหมือนปัจจุบันที่ยาวนานขึ้น แต่ประเทศไทยมีผลของเชิงฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะจากการจ่ายปันผล ที่ทำให้มีการส่งออกเงินออกนอกประเทศมากขึ้น ที่เป็นปัจจัยทำให้เงินบาทอ่อนค่า รวมถึงไตรมาส 2 อาจไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว ดังนั้น ในแง่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจไม่ได้มากในไตรมาสนี้ ส่งผลอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

หากมองไปข้างหน้า โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี เซนทิเมนต์อาจเปลี่ยนแปลงได้ จากท่องเที่ยว และการส่งออก ที่อาจปรับเปลี่ยนไป

“ตัวหลักที่ ธปท.ดูคือ กลไกการทำงาน และความผันผวนที่เกินขอบเขตที่คิดว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งภาพรวมปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แม้เห็นค่าเงินบาทผันผวนขึ้นบ้าง และบางครั้ง ธปท.ก็เข้าไปดูแลค่าเงินบาทเป็นครั้งคราว ซึ่งคล้ายคลึงกับธนาคารกลางต่างประเทศ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ”

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์