สมาคมแบงก์ รับลูกนายกฯ เตรียมถกแบงก์วันนี้ งัดมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย

สมาคมแบงก์ รับลูกนายกฯ เตรียมถกแบงก์วันนี้ งัดมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย

นายกฯ เรียกถก 4 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ หวังลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอี รายย่อย ลดปัญหาดอกเบี้ยสูง ด้านสมาคมธนาคารไทย ถกวันนี้พร้อมหามาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มรายย่อย

เขย่า “อัตราดอกเบี้ย” อีกครั้ง หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ช่วงเช้าวันที่ 23 เม.ย.2567 ใช้เวลาหารือ 30 นาที ประกอบด้วย นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย, นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย, นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

นายเศรษฐา เปิดเผยหลังการหารือว่า การเชิญธนาคารพาณิชย์มาหารือครั้งนี้เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ และความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินจากผลประกอบการที่ออกมา ซึ่งได้เรียนให้ทราบว่าประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และเอสเอ็มอี มีปัญหาดอกเบี้ยสูง

“ผมได้ขอร้องและพูดคุยกันแบบคนที่รู้จักกันมา เพราะทุกคนรู้จักกันมา 10-20 ปี ตั้งแต่อยู่ในวงการมาก็มาขอร้องทั้ง 4 ท่านว่า ขอให้มาพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยบ้าง ซึ่งท่านก็รับปากว่าเดี๋ยวจะไปพูดคุยกัน”

นอกจากนี้ การพูดคุยกับผู้บริหารทั้ง 4 คน ได้ระบุว่า รัฐบาลเห็นความเดือดร้อนประชาชนในปัญหาดอกเบี้ย จึงเชิญมาครั้งนี้ โดยได้คิวพร้อมกันจึงหารือพร้อมกันให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม เพราะไม่ใช่การแข่งขันทางด้านธุรกิจ หรือใครลดมากลดน้อย ซึ่งต้องการให้ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และดูว่าช่วยเหลือกันได้มากน้อยขนาดไหน

ส่วนประเด็นระยะเวลาความช่วยเหลือ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ได้กำหนด เพราะเป็นการให้เกียรติกัน และเป็นผู้ที่อยู่ในวงการเดียวกันมาเกือบ 20 ปี รู้จักกันมาดี มองตากันก็รู้ใจว่าต้องการอะไร ทำได้แค่ไหนก็คงแค่นั้นไม่ได้ไปกดดัน เพราะต้องให้เกียรติผู้บริหารทั้ง 4 คน

“การหารือบรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี พูดคุยกันดี ก็เดี๋ยวคอยนิดนึงแล้วกัน ขอให้ท่านไปพิจารณาทั้งระบบว่าควรจะต้องทำอย่างไร โดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งหากถึงเวลาเหมาะสมตนก็จะเรียกท่านมาพูดคุย”

สมาคมแบงก์ถกวันนี้

สมาคมธนาคารไทย ออกแถลงการณ์ วานนี้ (23 เม.ย.) เตรียมพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ลดภาระทางการเงิน โดยระบุ ว่าจากกรณีธนาคารตัวแทนสมาคมธนาคารไทย 4 ธนาคาร ได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 เมษายน 2567 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ที่ยังฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง ภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจโลกรวมทั้งข้อจำกัดเชิงระบบในประเทศ และปัญหาภาระหนี้สินและค่าครองชีพของประชาชน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีความท้าทายในหลายมิติ รวมถึงความห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือน และกลุ่มเปราะบาง รวมถึงความเป็นไปได้ที่ภาคธุรกิจการเงินจะมีแนวทางเพิ่มเติมในการลดภาระ และบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มเปราะบางในแนวทางใดบ้าง 

โดยจะมีการยกประเด็นดังกล่าว และอัปเดตสถานการณ์การดูแลกลุ่มลูกหนี้โดยรวม ภายใต้มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าหารือกันถึงแนวทางเพิ่มเติมที่เป็นไปได้ ในที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทย ในช่วงเย็นวันที่ 24 เมษายน 2567

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างหารือเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางตามที่นายกรัฐมนตรีร้องขอ ซึ่งเดิมทีจะปรับลดดอกเบี้ยในส่วนของ MRR (อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย) แต่มีบางส่วนที่มองว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าวดูจะเป็นการหว่านแหมากเกินไป จึงอยากให้พิจารณาทำมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือเฉพาะจุดแทนมากกว่า

สั่งแบงก์ลดดอกเบี้ยกระทบเชื่อมั่นต่างชาติ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ลง สวนทางกับนโยบายการเงิน หรือสวนทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในอดีตเคยเกิดขึ้น ทั้งจากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา

ดังนั้นการเรียกร้องให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ย ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ มีความเหมาะสม หรือถูกหลักการหรือไม่ เพราะธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นระบบเปิด ที่เอื้อให้ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรี ดังนั้น สิ่งที่เป็นห่วง คือ การแทรกแซงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ และผู้ลงทุนได้ ซึ่งหากมีการลดดอกเบี้ย แบงก์อาจจำเป็นต้องอธิบาย และสื่อสารให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจอย่างมากถึงเหตุผลในการลดดอกเบี้ย

“แม้ลดดอกเบี้ยได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึง คือ ผลข้างเคียงการลดดอกเบี้ย ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ เพราะอาจเป็นการเปิดความเสี่ยงให้สูงขึ้น ต้องระวังว่าสุดท้าย แม้จะมีความปรารถนาดี เพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ แต่ผลกระทบก็มีมากเช่นเดียวกัน เพราะอาจกระทบต่อความเชื่อมั่น ความโปร่งใส และด้านธรรมาภิบาลตามมาได้ ดังนั้นก็เป็นห่วงว่า การให้ลดดอกเบี้ยจะได้คุ้มเสียหรือไม่”

ทั้งนี้ มองว่า ผลของการลดดอกเบี้ย อาจไม่ได้ส่งผ่านได้รวดเร็ว เพราะต้องใช้เวลาส่งผ่านอย่างน้อย 6 เดือนกว่าแบงก์จะมีการส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่เหมือนนโยบายการคลัง ที่มีผลทันทีหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้นมองว่า วิธีแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง และแก้ปัญหากลุ่มเปราะบาง เอสเอ็มอีต่างๆ ได้ คือ ต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วที่สุด และต้องอาศัยมาตรการที่ตรงจุด เช่น ช่วยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผ่านมาตรการทางการเงิน การลดการผ่อนชำระต่างๆ หรือการลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) จากธนาคารพาณิชย์ลง เพื่อให้แบงก์ส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ระบบ ช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางมากขึ้น

“ผมมองว่าเอกชน หรือทุกแบงก์อยากช่วย และให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่การช่วยต้องดูว่าสามารถทำได้ระดับไหน แม้ลดดอกเบี้ยจะทำได้ แต่มองว่ามาตรการอื่นๆ มีความเหมาะสมมากกว่ามาตรการเหวี่ยงแห วันนี้สิ่งที่ประเทศไทยเผชิญอยู่อีกด้านคือ การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยาก เพราะปฏิเสธสูง เนื่องจากความเสี่ยงสูง ดังนั้นหากสามารถทำให้ตรงนี้ผ่อนคลายได้ ก็จะช่วยลูกหนี้ได้” 

ลดดอกเบี้ยกระทบราคาหุ้น-กำไรแบงก์

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย กล่าวว่า การสั่งให้แบงก์ลดดอกเบี้ย อาจถูกมองว่า เป็นการเข้าไป “แทรกแซง” อัตราดอกเบี้ยได้ เพราะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นกลไกเดียวกับ การกำหนดดอกเบี้ยของธนาคารทั่วโลก ดังนั้นมองว่าไม่ควร การเข้าไปแทรกแซงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เพราะมีกลไกของการแข่งขันที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

ทั้งนี้ หากแบงก์ต้องลดดอกเบี้ยลง อาจกระทบต่อ มาร์จิ้นของแบงก์ให้ลดลงได้ และกระทบต่อการดำเนินธุรกิจปกติของธนาคาร

“การสั่งให้แบงก์ลดดอกเบี้ย โดยรวมไม่ดี เพราะมีผลกดดันด้านมาร์จิ้นแบงก์โดยตรง และการลดดอกเบี้ยควรทำผ่านสมาคมธนาคาร ไม่เฉพาะแบงก์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะหากทำแบบนี้อาจมีอิมแพคต่อราคาหุ้นได้จากการเข้ามาแทรกแซง และนักลงทุนต่างชาติอาจขาดความเชื่อมั่นได้ จากการเข้ามาลงทุนในแบงก์ ที่อาจเกิดการเทขายสินทรัพย์ออกไปได้”

อย่างไรก็ตาม มองว่า การลดดอกเบี้ยลงของธนาคารพาณิชย์ อาจไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับทุกกลุ่ม และการลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะดอกเบี้ยรายย่อย MRR อาจไม่ได้ช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั้งหมด เพราะสินเชื่อที่อิงกับดอกเบี้ย MRR ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยบ้าน ซึ่งดอกเบี้ยที่ลดลง ไม่ได้กระทบต่อต้นทุนการชำระหนี้ให้ลดลง เพราะการผ่อนชำระเป็นการผ่อนตามงวดเท่าๆกัน แต่มีผลทำให้การผ่อนชำระเงินต้นของลูกหนี้ไว้ขึ้น

แต่ยังมีสินเชื่ออื่นๆ ที่ดอกเบี้ยสูงที่อาจกระทบต่อกลุ่มเปราะบางได้ เช่น สินเชื่อบุคคลต่างๆ ดังนั้น การแก้ปัญหาอาจต้องโฟกัสกลุ่มในการช่วยเหลือ และออกมาตรการเฉพาะกลุ่มเพื่อให้การช่วยเหลือตรงจุดมากขึ้น เช่น หากลูกหนี้ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ภาครัฐอาจทำหน้าที่สนับสนุนวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ 4 แบงก์ใหญ่ในปัจจุบัน อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ล่าสุด กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับรายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา(MLR) อยู่ที่ 7.050% และอัตราดอกเบี้ยสำหรับรายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 7.575% และดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย (MRR) อยู่ที่ 7.300%

ด้านธนาคารกรุงไทย มีอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 7.050 % MOR 7.520% และ 7.570% ส่วนกสิกรไทย MLR อยู่ที่ 7.27% MOR 7.59 % และ 7.30% และสุดท้ายธนาคารกรุงเทพ MLR ปัจจุบันอยู่ที่ 7.10% MOR 7.55% และ 7.30%