เป็น freelance วางแผนภาษีอย่างไรดี

เป็น freelance วางแผนภาษีอย่างไรดี

การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับฟรีแลนซ์ อย่างแรกเราต้องทำความเข้าใจในส่วนของประเภทของรายได้กันก่อนจะแบ่งประเภทรายได้ตามวิธีในการหักค่าใช้จ่ายออกเป็น 4 ประเภท

ปัจจุบันเราคงเลี่ยงไม่ได้ว่า หลายๆคนก็มีอาชีพเสริมมากกว่า 1 อาชีพกันมากขึ้น ซึ่งรายได้ที่เกิดจากอาชีพเสริมนั่นๆ จะเป็นรายได้ที่เป็น 40(2)- 40(8) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งวิธีการวางแผนในการลดหย่อนภาษีนั่น ก็จะมีรายละเอียดที่มากกว่าการมีเงินเดือนเป็นรายได้ทางเดียว อีกทั้ง ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่หลายๆ คนที่ทำ freelance นั่นอาจจะยังไม่ค่อยทราบกัน คือหากมีรายรับมากกว่า 1,800,000 บาท ต่อปี จะต้องทำการมีจดการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า จด VAT อีกด้วย

วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าเรื่องประเภทรายได้ และรายละเอียดการหักค่าใช้จ่ายสำหรับลดหย่อนภาษีให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันมากขึ้นครับ

สำหรับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับฟรีแลนซ์นั้น อย่างแรกเราต้องทำความเข้าใจในส่วนของประเภทของรายได้กันก่อนครับ โดยผมจะแบ่งประเภทรายได้ตามวิธีในการหักค่าใช้จ่ายออกเป็น 4 ประเภทดังนี้ครับ

ประเภทแรก คือ รายได้ที่ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักได้ ได้แก่ เงินได้ประเภท 40(4) ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้

ประเภทที่สอง คือ รายได้ที่เราสามารถเลือกได้ว่า จะนำค่าใช้จ่ายตามจริงมาหัก หรือ จะเลือกหักแบบเหมา ได้แก่ 

เงินได้ประเภท 40(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แบบเหมา 50% หรือ ตามจริง

เงินได้ประเภท 40(5) ได้แก่ การให้เช่าทรัพย์สิน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แบบเหมา 10%-30% หรือ ตามจริง

เงินได้ประเภท 40(6) ได้แก่ ค่าวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แบบเหมา 30%-60% หรือ ตามจริง

เงินได้ประเภท 40(7)ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ตามจริงหรือ แบบเหมา 60%

เงินได้ประเภท 40(8)ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1)-(7) แล้ว ซึ่งสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ สูงสุด 60% 

ประเภทที่สาม คือ รายได้ที่สามารถหักได้ตามจริงเท่านั้น ไม่สามารถเลือกหักแบบเหมาได้ ได้แก่ เงินได้ประเภท 40(8) อื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในตารางอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40(8)

ประเภทที่สี่ คือ รายได้ที่สามารถหักได้แบบเหมาเท่านั้น ได้แก่ เงินได้ประเภท 40(2) คือ เงินได้จากการรับจ้างทั่วไป รับงานอิสระ ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าตอบแทนจากการทำงาน โดยไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้านายลูกน้อง

หลังจากทราบถึงประเภทของเงินได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนในการวางแผนภาษีกันครับ 

นั้นก็คือการเลือก ประเภทของเงินได้ให้ตรงกับหมวดหมู่และเลือกวิธีการหักค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมเพื่อที่จะเสียภาษีน้อยที่สุดนั่นเอง 

โดยผมขอยกตัวอย่างของ นาย A ที่มีอาชีพขายสินค้า ออนไลน์ และ รับจ้างไลฟ์ขายสินค้า โดยรายได้ของนาย A ในส่วนของการขายสินค้า ออนไลน์ จะถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) โดยสามารถเลือกได้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง โดยกรณีหักตามจริงนั้น นาย A จะต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายตามสมควร 

ทั้งนี้การพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายใดใช้ได้หรือไม่ได้ นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่สรรพากร ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีหักแบบไหน โดยขอให้ตรวจสอบดูเสียก่อนว่า ค่าใช้จ่ายที่เราต้องการยื่นนั้น จะนำไปหักจริงได้เท่าไร โดยจากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมานั้นค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ ทางสรรพากรมักจะมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สมควร ได้แก่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ต้นทุนสินค้า ค่าจ้างซัพพลายเออร์ เป็นต้น 

และในส่วนขอค่าจ้างไลฟ์สินค้านั้น นาย A สามารถพิจารณาได้เป็น 2 กรณี นั้นคือ กรณีแรก หากเป็นการไลฟ์ที่มีการว่าจ้างให้ไปไลฟ์ โดยใช้สถานที่และเครื่องมือของผู้จ้าง จะเข้าข่ายเงินได้ประเภท 40(2) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะแบบเหมา 50% และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท กรณีที่สอง หากเป็นการไลฟ์โดยใช้เครื่องมือ และสถานที่ของนาย A เอง จะถือเป็นรายได้ ประเภท 40(8) อื่นๆ ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงตามสมควรเท่านั้น ซึ่งหากตกอยู่ในประเภท 40(8) นาย A จะต้องวางแผนภาษีเสียแต่เนินๆ โดยเก็บเอกสารค่าใช้จ่ายที่สำคัญ เพื่อนำไปยื่นเป็นหลักฐานในการหักค่าใช้จ่าย ,วางแผนซื้อ SSF RMF และ สินค้าลงทุนลดหย่อนภาษีอื่นๆ รวมไปถึง เตรียมเงินสำหรับชำระภาษีเพิ่มเติมอีกด้วย เพราะเมื่อตอนที่นาย A ได้รับเงินมานั้น ภาษีที่ถูกหักไว้ จะเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจะหักไว้เพียงแค่ 3% เท่านั้นครับ