บจ.เสี่ยงยืดหนี้‘หุ้นกู้’เพิ่ม ‘แบกหนี้สูง-โรลโอเวอร์ไม่ได้’

บจ.เสี่ยงยืดหนี้‘หุ้นกู้’เพิ่ม  ‘แบกหนี้สูง-โรลโอเวอร์ไม่ได้’

ความเปราะบางในประเด็น “ตลาดหุ้นกู้” ปี 2567 ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ! เนื่องจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จาก “วิกฤติโควิด-19” ต่อเนื่องมา

KEY

POINTS

  • จับตา “โปรเอ็น คอร์ป” 4 มี.ค. นี้ ขอเลื่อนจ่ายไปอีก 2 ปี เพิ่มดบ.เดิม 6.50% เป็น 7.00% ต่อปี

  • สมาคมตลาดตราสารหนี้ฯ มองการลงทุนหุ้นกู้ความเสี่ยงหลัก คือ "ผู้ออกไม่สามารถชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยได้ตามเวลาที่กำหนด" ไม่ว่าหุ้นกู้อันดับเครดิตไหนก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้  “หุ้นกู้อันดับเครดิตต่ำ” อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า “หุ้นกู้อันดับเครดิตสูง”

  • การทำธุรกิจย่อมมีความไม่แน่นอนที่อาจทำให้ผู้ออกประสบเหตุความยากลำบาก ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ได้ตามกำหนด

  •  บล.กสิกรไทย ผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิยืดหนี้ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหา “สภาพคล่อง” อาจจะเกิดได้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี รวมถึงการบริหารเงินสดไม่เพียงพอ

  • SCB EIC มอง“กลุ่มต้องเฝ้าระวัง” คือ หุ้นกู้ในกลุ่ม Non-investment grade โดยเฉพาะภาคไฟแนนซ์ และ อสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนครบกำหนดอายุมากในช่วงครึ่งปีแรกปี

ความเปราะบางในประเด็น “ตลาดหุ้นกู้” ปี 2567 ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ! เนื่องจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จาก “วิกฤติโควิด-19” ต่อเนื่องมา

ความเปราะบางในประเด็น “ตลาดหุ้นกู้” ปี 2567 ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ! เนื่องจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จาก “วิกฤติโควิด-19” ต่อเนื่องมา ขณะที่ ณ ปัจจุบันภาพใหญของ “เศรษฐกิจไทย” ยังคงฟื้นตัวได้ช้า

สะท้อน “จีดีพีไทย” ปี 2566 ที่เติบโตระดับ 1.9% เท่านั้น โดยปีนี้ “หุ้นกู้ครบกำหนด” จะมีสูงถึง 1 ล้านล้าน อาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน “กลุ่มไฮยีลด์” ที่จะครบกำหนด 50,000 ล้านบาท ไตรมาสแรกปี 2567 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดรวมเกือบ 1.9 แสนล้านบาท !! ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade ราว 148,824 ล้าน ระดับ Non-Investment Grade อีก 20,404 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง หรือ Non-Rated อีก 17,662 ล้านบาท

บจ.เสี่ยงยืดหนี้‘หุ้นกู้’เพิ่ม  ‘แบกหนี้สูง-โรลโอเวอร์ไม่ได้’

 

ประเด็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ และโรลโอเวอร์ (Roll Over) จำนวนมากทำให้เกิดความกังวลจะ “เกิดวิกฤติหุ้นกู้” เพราะเมื่อครบกำหนดบริษัทผู้ออกหุ้นกู้อาจไม่มีเงินไถ่ถอน 

ดังนั้น นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ “ผู้ถือหุ้นกู้” จึงเกาะติดสถานการณ์หุ้นกู้ที่ครบกำหนดในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. เริ่มเห็นผู้ออกหุ้นกู้ ทยอยจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขออนุมัติยืดชำระหนี้ไปก่อน แลกกับยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย ประหนึ่่งเหมือนเป็นการต่อลมหายใจ “ซื้อเวลา”ให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ! 

สอดคล้องกับช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ !! พบมีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) “3 หุ้นกู้ขอยืดคืนหนี้” ซึ่ง 2 ใน 3 หุ้นกู้ พบว่า ผู้ถือหุ้นกู้ อนุมัติไฟเขียวยอมเลื่อนจ่ายคืนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี 

ประเดิมตัวแรก หุ้นกู้บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD  ทั้ง 5 รุ่น !! รอดมาได้ ผู้ถือหุ้นกู้ยอมไฟเขียวขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ 5 รุ่น ออกไปอีก 2 ปี แลกด้วยเพิ่มดอกเบี้ย 0.25% ปีแรก และ 0.50% ปีที่ 2 พร้อมขอผ่อนผันดำรง D/E Ratio ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ

ตัวที่สอง เคยขอยืดชำระหนี้มาแล้ว คือ หุ้นกู้ของ บมจ. สยามนุวัตร จำกัด หรือ SNW 1 รุ่น  ผู้ถือหุ้นกู้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 9 เดือน โดยแก้ไขวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ จากเดิม 27 ม.ค. 2567 เป็น 27 ต.ค. 2567 และอนุมัติให้แก้ไข เพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิ ใบหุ้นกู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการแก้ไขวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าว

จับตา “โปรเอ็น คอร์ป” 4 มี.ค. นี้  ขอเลื่อนจ่ายไปอีก 2 ปี เพิ่มดบ.เดิม 6.50% เป็น 7.00% ต่อปี

ตัวที่สาม บมจ.โปรเอ็น คอร์ป หรือ PROEN  จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.โปรเอ็น คอร์ป ครั้งที่ 1/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 (PROEN243A) 4 มี.ค. 2567 เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี เพิ่มอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้จากเดิม 6.50% ต่อปี เป็น 7.00% ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม

นอกจากนี้  บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ได้เลื่อนประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 7 รุ่นออกไปไม่มีกำหนด ยังเป็นปัญหาคาราคาซังต่อเนื่อง ซึ่งกำลังร้องไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบ คงต้องจับตาศาลล้มละลายกลางไต่ส่วนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ 5-7 มี.ค. นี้ ​

ThaiBMA ชี้

“ศิรินารถ อมรธรรม” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มองว่า การลงทุนหุ้นกู้ความเสี่ยงหลักคือ ผู้ออกไม่สามารถชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยได้ตามเวลาที่กำหนด ไม่ว่าหุ้นกู้อันดับเครดิตไหนก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้  

“หุ้นกู้อันดับเครดิตต่ำ” อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า “หุ้นกู้อันดับเครดิตสูง”  ซึ่งการทำธุรกิจย่อมมีความไม่แน่นอนที่อาจทำให้ผู้ออกประสบเหตุความยากลำบาก ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ผู้ออกก็อาจจะขอขยายอายุหุ้นกู้ออกไป โดยผู้ออกบางรายอาจมีการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับการกู้ยืมที่ยาวขึ้น 

ดังนั้น มองเป็นเรื่องอาจเกิดขึ้นได้ไม่ได้ถือเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนเสมอไป ต้องดูเจตนา และแนวทางแก้ไขผู้ออก ประกอบกับต่างประเทศก็มีขอยืดอายุหุ้นกู้แบบนี้เช่นกัน...

ขณะเดียวกัน “การขอยืดอายุหุ้นกู้” ไม่ได้เป็นสิทธิของผู้ออกที่สามารถทำได้ทันที ผู้ออกต้องขออนุญาตผู้ถือหุ้นกู้ก่อนโดยการขอมติผู้ถือหุ้นกู้ ดังนั้น ผู้ลงทุนควรเปรียบเทียบ “ผลดี-ผลเสีย” ที่อาจจะเกิดขึ้น

หากอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ซึ่งถ้าผู้ถือหุ้นกู้เห็นว่าผู้ออกมีเจตนาไม่ตรงไปตรงมา หรือพฤติกรรมเอาเปรียบผู้ลงทุน สามารถที่จะไม่อนุญาตให้ยืดอายุหุ้นกู้ โดยผู้ออกต้องชำระเงินตามที่กำหนด หากไม่สามารถชำระได้เกิดผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ (Default) ขึ้นก็จะเป็นไปตามกระบวนการเรียกร้องชำระเงินคืนต่อไป

“พิชัย ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้มุมมองว่า แนวโน้มหุ้นกู้ยืดหนี้ไตรมาสแรกปีนี้ หากผู้ออกยังเป็นบริษัทที่ดี มีโอกาสที่ผู้ถือหุ้นกู้จะโหวตผ่านให้ยืดการครบกำหนดชำระหนี้ได้ มากกว่าบริษัทที่มีหนี้สูง รวมถึงการระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้อาจจะขายไม่หมดได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิยืดหนี้ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหา “สภาพคล่อง” อาจจะเกิดได้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี รวมถึงการบริหารเงินสดไม่เพียงพอในการคืนหนี้หุ้นกู้ในงวดนั้นๆ ซึ่งหากปล่อยให้หุ้นกู้ครบกำหนดแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงเกิด Cross default เมื่อผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ชุดหนึ่งแล้ว จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกู้ชุดอื่นที่ยังไม่ครบกำหนดสามารถเรียกร้องการชำระหนี้ได้ พร้อมกับผู้ถือหุ้นกู้ชุดที่ครบกำหนด ซึ่งอาจจะส่งผลให้บริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และจะส่งผลต่อสถาบันการเงินที่ให้เงินกู้ด้วย  

การที่บริษัทขอเจรจาผ่านมติผู้ถือหุ้นกู้ให้ยึดการชำระหนี้ และผู้ถือหุ้นกู้โหวตผ่าน ผู้ถือหุ้นกู้ต้องพิจารณาแล้วบริษัทยังมีความสามารถดำเนินงานและสามารถนำเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ได้ในอนาคต ดีกว่าปล่อยให้ผิดนัดชำระหนี้ และเข้ากระบวนการทางกฎหมาย อาจต้องใช้เวลานาน รวมถึงอาจจะไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ได้ครบ

“ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ” (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินหุ้นกู้ไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า การยืดชำระหนี้หุ้นกู้ถือเป็นหนึ่งในวิธีเจรจาต่อรองขอเลื่อนชำระเงินออกไปเพื่อบริหารจัดการกับปัญหาสภาพคล่องในบริษัท แม้ครึ่งแรกปีนี้จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ 80-90% เป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงินจึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง

เพราะยังมีความต้องการลงทุนหุ้นกู้อยู่ หากภาคธุรกิจไม่สามารถระดมทุนผ่านออกหุ้นกู้ได้ครบตามต้องการ ภาคธุรกิจยังมีเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทหรือสามารถพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้ 

“กลุ่มต้องเฝ้าระวัง” คือหุ้นกู้ในกลุ่ม Non-investment grade โดยเฉพาะภาคไฟแนนซ์ และ อสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนครบกำหนดอายุมากในช่วงครึ่งปีแรกปี ประกอบเซนติเมนต์หุ้นกู้กลุ่ม Non-investment grade อาจไม่ค่อยดีเหมือนกลุ่ม Investment grade