ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ก.พ. 67 ‘อ่อนค่า‘ จ้างงานสหรัฐแกร่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ก.พ. 67 ‘อ่อนค่า‘  จ้างงานสหรัฐแกร่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ก.พ. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐดีกว่าคาด หนุนดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทลงได้บ้าง มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.75-36.05บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.81 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.05 บาทต่อดอลลาร์  

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.78-35.94 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด

ทั้งนี้ แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง จากท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ก.พ. 67 ‘อ่อนค่า‘  จ้างงานสหรัฐแกร่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ขณะเดียวกัน การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น หลังทางการอิสราเอลได้ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงของกลุ่มฮามาส ได้ส่งผลให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง และช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หลังในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้แถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ (ที่ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น หลังผู้ว่าฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดคาดได้) รวมถึงแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติในช่

ทั้งนี้ ความกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลาง หากสามารถช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำได้บ้าง ก็จะช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทในระยะนี้ แต่ต้องจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบเช่นกัน เพราะหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจกดดันเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มพลังงานได้ 

อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า ในเชิงเทคนิคัล จะทำให้เทรนด์การแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้านั้นเสียไป เปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อสู่โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จากการประเมิน Valuation ของเงินบาท เรามองว่า ในโซน 36.50-37 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ค่าเงินบาทถือว่า Undervalued เป็นอย่างมาก (หรือถูกมาก) ทำให้เรารอจังหวะที่จะ Sell on Rally USDTHB หรือเตรียมหาจังหวะเปิดสถานะ Long THB (มองเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า) โดยเราประเมินว่า หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ก็อาจติดโซนแนวรับแถว 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ 

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
 


ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ที่ยังคงสดใส อาทิ Walt Disney +11.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ นำโดย Exxon Mobil +1.7% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากนัก ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ Apple -0.7%, Nvidia -0.7% ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.06%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.07% ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาผสมผสาน โดยในฝั่งกลุ่ม Healthcare ราคาหุ้น AstraZeneca ดิ่งลง -6.4% จากรายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาด ขณะที่ หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าแบรนด์เนม อย่าง Unilever +3.2% และ Kering +4.9% ตามรายงานผลประกอบการที่ออกมาสดใส

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย และบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี สหรัฐฯ ล่าสุดยังคงสะท้อนความต้องการของผู้เล่นในตลาดที่ดีอยู่ ได้ช่วยให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.15% ในช่วงระยะสั้นนี้ เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม การปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยต้องระวังในกรณีที่ การปรับปรุงดังกล่าว สะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้ออาจชะลอลงช้ากว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ ดังนั้น เราจึงขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้น ทะลุระดับ 4.20% ไปได้ ก็จะมีความน่าสนใจในการทยอยเข้าซื้อเป็นอย่างมาก 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ยของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทั้งนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์ได้บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซน 2,030-2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น พร้อมกับการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ จะช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้โซน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง 
 
สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ การปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ แนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมานั้น สูงกว่า หรือ ต่ำกว่า ข้อมูลหลังการปรับปรุงได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับสมมติฐานต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเฟดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ หลังการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าว กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลงได้ช้าจากเดิม ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย (หรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดได้จริง)