มาตรการแก้ ‘หนี้ครัวเรือน’ ดาบสองคมสูู่ ‘กู้นอกระบบ’

มาตรการแก้ ‘หนี้ครัวเรือน’ ดาบสองคมสูู่ ‘กู้นอกระบบ’

เปิดมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ช่วยลูกหนี้หลุดพ้นวงจรหนี้ ลดภาระลูกหนี้ในระยะยาว แต่สิ่งที่ต้องระวัง จากเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้น อาจทำให้ลูกหนี้ เข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ที่อาจนำไปสู่การหันไปพึ่งพิง ’หนี้นอกระบบ’

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการผลักดันมาตรการ “แก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” มาอย่างต่อเนื่อง โดยบางมาตรการ หรือบางหลักเกณฑ์ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่น มาตรการกรให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม( Responsible Lending) การช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถปิดจบหนี้ได้ ที่จะเริ่มเม.ย.ปีนี้ รวมถึง การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น การได้รับความเป็นธรรมด้านดอกเบี้ย ห้ามคิดค่าปรับ ค่าไถ่ถอน หากปิดหนี้ก่อนกำหนด โดยมาตรการนี้จะเริ่มก.ค.นี้

ธปท.เชื่อว่า มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน แม้จะไม่ทำให้ “หนี้ครัวเรือน” ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว แต่จะทำให้ “หนี้ครัวเรือน”ลดลงอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ ลดภาระลูกหนี้ ช่วยลูกหนี้ในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่มีการบังคับให้แบงก์ ปรับปรุงโครงสร้างลูกหนี้ก่อน 1 ครั้งก่อนที่ลูกหนี้จะเป็นหนี้เสีย และก่อนที่จะมีการขายหนี้ออกให้บริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี) ก่อนครบ 60 วัน นับจากที่แบงก์เสนอเงื่อนไขปรับปรุงโครงสร้างเพื่อลูกหนี้

หรือแม้แต่ มาตรการ แก้หนี้เรื้อรัง โดยการลดดอกเบี้ยมาเหลือไม่เกิน 15% เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี หรือมาตรการคุ้มครองลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยสั่งห้ามแบงก์ นอนแบงก์คิดค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนหนี้ก่อนครบกำหนดเหล่านี้ถือเป็นทางรอดสำหรับลูกหนี้ ที่จะช่วยลูกหนี้ลดภาระ บรรเทาความเดือนร้อน และปิดจบหนี้เร็วขึ้นในระยะข้างหน้า

แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกัน ว่า หลายมาตรการของธปท. ก็อาจนำไปสู่การผลักภาระลูกหนี้ และทำให้ลูกหนี้วิ่งไปสู่หนี้นอกระบบมากขึ้น เช่นการประกาศหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ที่กำหนดให้แบงก์ ให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ โดยการปล่อยสินเชื่อโดยดูความสามารถลูกหนี้ คล้ายๆกับการกำหนดการปล่อยกู้ ที่ดูจาก ภาระหนี้ต่อรายได้ผู้กู้หรือ DSR

แม้หลักเกณฑ์นี้ ธปท.จะยังไม่ประกาศหลักเกณฑ์บังคับใช้ โดยต้องรอสภาวะเศรษฐกิจเอื้อต่อการประกาศใช้เกณฑ์ก่อน แต่ผลกระทบที่จะมีต่อลูกหนี้ หรือแบงก์มีแน่นอน ทั้งโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ที่อาจน้อยลงในอนาคต เพราะความสามารถในการชำระหนี้ตกต่ำลง ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือภาระหนี้ต่อรายได้อยู่ระดับสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด เหล่านี้อาจทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือรายได้น้อย ที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงอยู่ในปัจจุบัน

“ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เชื่อว่าหลักการของ การกำหนดให้แบงก์ นอนแบงก์ปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบโดยดูความสามารถลูกหนี้ และกำหนดให้พิจารณาปล่อยกู้ใหม่ตามความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ลูกหนี้สามารถมีเงินเหลือในการดำรงชีพ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี ที่จะช่วยหนุนให้ระยะยาวเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อที่ให้กับรายย่อย อาจลดลงด้วย โดยเฉพาะการกำหนดDSR ที่อาจมีลูกหนี้บางส่วนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งหากดูตามเกณฑ์การปล่อยกู้ของ ทิสโก้ปัจจุบัน มีการกำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 50% หรือในกลุ่มที่รายได้สูงอาจเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 60%

เช่นเดียวกันกับ ทีทีบี ที่มองว่า การออกเกณฑ์แก้หนี้ครัวเรือนของธปท. ถือเป็นเกณฑ์ที่ดี ที่จะช่วยแก้หนี้ครัวเรือน และลดหนี้ให้กับลูกหนี้อย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือการปล่อยสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อของรายย่อย ที่อาจลดลงได้

“ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ TTB กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารดำเนินการ และปล่อยกู้ตามเกณฑ์ของธปท.อยู่แล้ว ภายใต้การปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ โดยเฉพาะการห้ามโฆษณาเกินจริง การห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้หากปิดชำระหนี้ก่อนกำหนด ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้ตระหนักในการก่อหนี้มากขึ้น

ส่วนการพิจารณาความสามารถผู้กู้ สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ในอนาคต ส่วนนี้อาจกระทบต่อลูกหนี้ และแบงก์บ้าง เนื่องจาก อาจมีผู้กู้บางส่วนที่ปัจจุบันมีภาระหนี้สูงแล้ว กลุ่มนี้อาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้ ซึ่งอาจทำให้การปล่อยกู้รายย่อยของแบงก์ในระยะข้างหน้าลดลงได้

โดยหากดูเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคาร ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ไม่เกิน 50% หรืออาจเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่เกิน 70%ของรายได้รวม หากเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และมีระดับศักยภาพในการชำระหนี้ค่อนข้างมาก 

สรุปแล้ว เหล่านี้ แม้จะเป็นมาตรการที่ดี ช่วยลูกหนี้ได้ในระยะยาว ให้สามารถหลุดพ้นจาก “วงจรหนี้”ได้ และทำให้ลูกหนี้ ตระหนักในการก่อหนี้มากขึ้น แต่อีกด้านก็เป็นความท้าทาย ต่อผู้ดำเนินนโยบายอย่างธปท.และแบงก์เหมือนกัน เพราะแม้จะสามารถแก้หนี้ในระบบให้ลดลงได้ แต่ด้วยเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้น อาจมีลูกหนี้บางส่วนที่จะถูกผลัก ไปสู่นอกระบบอีกครั้ง และตราบใด ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ สุดท้ายปัญหานี้ก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายลูกหนี้ และระบบการเงินอีกระลอก