‘พิพัฒน์’ ชี้ เศรษฐกิจไทยกำลัง ‘กินบุญเก่า’ เผชิญปัญหาทั้ง ‘คุณภาพ-ปริมาณ’

‘พิพัฒน์’ ชี้ เศรษฐกิจไทยกำลัง ‘กินบุญเก่า’ เผชิญปัญหาทั้ง ‘คุณภาพ-ปริมาณ’

‘พิพัฒน์’การเติบโตเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน มาจากกินบุญเก่า แต่ปัจจุบันลงทุนต่ำลง กำลังเผชิญกับปัญหาทั้งจากคุณภาพและปริมาณ เศรษฐกิจโตช้าลงต่ำกว่าศักยภาพลงเรื่อยๆ เหลื่อมล้ำสูงขึ้น

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย...เปลี่ยนไปอย่างไรให้ไปไกลว่าเดิม ที่จัดขึ้นงานสัมมนาแฟล็กชิปประจำปี 2024 ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร KKP YEAR AHEAD 2024 ภายใต้ธีม “ A Pathway to Prosperity”ว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยในอดีต ประเทศไทยจากที่เคยเป็น มหัศจรรย์ แห่งเอเชีย ที่เติบโตเร็วสุด สูงสุดหนึ่งในภูมิภาค

แต่กลับมาที่ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง จากที่เคยเติบโตได้สูงที่ระดับ 7% ลดลงมาเฉลี่ยเหลือ 5% และปีก่อนเหลือ 2.5%  และทุกวิกฤติเศรษฐกิจไทยไม่เคยกลับไปเติบโตในระดับเดิมได้

หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำลง ทั้งจาก คุณภาพ และปริมาณ ประชากรของไทยลดลง โดยเฉพาะในวัยแรงงาน ผนวกกับมีปัญหาแก่ก่อนรวย เผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ภาครัฐที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ด้านคุณภาพยังมีปัญหา จากความสามารถการแข่งขันของไทยที่กำลังเจอปัญหา กำลังถูกแย่งตลาด การศึกษาของไทย จากคะแนน PISA ของไทยที่อยู่ระดับต่ำ หากเทียบกับหลายประเทศเหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง ทำให้การเคลื่อนย้ายผลประโยชน์ทางสังคมไปสู่ระดับอื่นๆ มีปัญหา และมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ไม่สามารถ คนรายได้น้อยไม่สามารถขยับตัวเอง  และได้รับการหยิบยื่นโอกาสลดลง

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ามาก สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติที่ผ่านมา  โดยเฉพาะในระยะสั้น ที่มีความไม่แน่นอนจาก ดิจิทัลวอลเล็ต โดยปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 2.9% โดยไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  แต่หากดิจิทัลวอลเล็ตสามารถขับเคลื่อนได้ คาดว่าจีดีพีไทยจะเติบโตอยู่ที่ 3.7%

ดังนั้นภาพปัญหาของเศรษฐกิจไทย วันนี้ไม่ใช่วิกฤติระยะสั้น แต่เป็นภาพระยะยาวที่จะกลายเป็นปัญหาให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงเนื่อง ทั้งโตช้า และศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำลงต่อเนื่อง  โดยระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันต่ำลงเหลือเพียง 3% 

“ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ใหญ่ที่สุดคือ คนวัยทำงานลดลง ขณะที่เราก็มีปัญหาด้านคุณภาพเช่นเดียวกัน จากคะแนนการศึกษาจาก PISA ที่หลายวิชาออกมาต่ำ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ขณะที่การลงทุนลดลงต่อเนื่อง เหมือนซ่อมบ้านค่อนข้างน้อย ดังนั้นวันนี้เราเหมือนกินบุญเก่า ระยะข้างหน้า พอเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตช้าลง การเคลื่อนย้ายทางสังคม เศรษฐกิจจากระดับล่างๆขึ้นมา ทำได้ยากขึ้นจะยิ่งทำให้เราต้องเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ”