แบงก์ชาติ ชี้ ‘ดอกเบี้ย‘ ไม่ใช่พระเอก ย้ำเดินนโยบายการเงิน ’ไม่ผิดทาง’

แบงก์ชาติ ชี้ ‘ดอกเบี้ย‘ ไม่ใช่พระเอก ย้ำเดินนโยบายการเงิน ’ไม่ผิดทาง’

ธปท.เปิดเวทีแจง แนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน ชี้ ดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสม สมดุล และจุดจบของดอกเบี้ยที่ 2.50% เป็นจุดที่พอดี ยัน นโยบายการเงิน “ไม่ได้มาผิดทาง” ย้ำแบงก์ชาติไม่ใช่กองหน้า แต่เป็นกองหลังคุมเสถียรภาพ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามถึง “ดำเนินนโยบายการเงิน”ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่ามีความเหมาะสมภายใต้เงินเฟ้อที่ลดลง เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันสูงเกินไปหรือไม่

โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ของระบบธนาคารท่ามกลางลูกหนี้ที่ลำบากในการชำระหนี้มากขึ้นจนนำไปสู่การเปิดให้ร่วมรับฟังเกี่ยวกับ “แนวคิดการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.”

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีความท้าทายค่อนข้างสูงและเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจว่าเศรษฐกิจดีแล้วไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่ม

หากแต่ปัญหาเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงที่นโยบายการเงินไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ เพราะหลายปัญหาต้องใช้ยาและการรักษาให้ตรงกับต้นตอปัญหา การใช้นโยบาย “ดอกเบี้ย” ก็มีต้นทุน และมีความเสี่ยงที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะไม่ใช่แค่ความเสี่ยงที่จะเกิดกับเงินเฟ้อ แต่ปัญหาอื่นที่จะตามมาภายหลังอีก เช่น ก่อหนี้เกินตัว

ดังนั้นในกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้ Inflation targeting ที่ธปท.และธนาคารกลางทั่วโลกใช้เป็นแนวทางการดำเนินนโยบาย ไม่เพียงแต่ดูแค่เงินเฟ้อ แต่ต้องชั่งน้ำหนักหลายปัจจัยอย่างรอบด้าน  ต้องดู 3 ส่วน คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ  เงินเฟ้ออยู่ในกรอบอย่างยั่งยืนหรือไม่ และสุดท้ายระบบการเงินมีเสถียรภาพหรือไม่

ศก.ไทยชะลอจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

นายปิติ ยังตอบคำถามที่ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดเหตุใดแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย เหตุผลหลักๆ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาจาก ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ และจากปัจจัยต่างประเทศที่อยู่เหนือการควบคุม ที่ “อัตราดอกเบี้ย”ไม่สามารถช่วย หรือทำให้ประเทศไทยกลับมามีสินค้าส่งออกที่ซับซ้อน หรือไฮเทคมากขึ้นได้ และไม่สามารถเพิ่มเสน่ห์หรือการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยได้

เช่นเดียวกันกับ เงินเฟ้อที่ลดลงแต่ไม่ได้เอื้อให้ลดดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อที่ลดลง ส่วนใหญ่ มี 4 ปัจจัยส่วนแรกเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ยั่งยืน สอง การลดของเงินเฟ้อไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แผ่ว ดังนั้นนโยบายการเงินไม่สามารถตอบสนองปัจจัยเหล่านี้ได้ สาม เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ที่ 2% ในหลายมิติ และสุดท้ายการลดลงของเงินเฟ้อสะท้อน ปัญหาด้านอุปทาน ปัญหาการผลิตที่คลี่คลายในบางสินค้า

ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงิน คือพยายามทำให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย และระยะข้างหน้าคาดว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปถึง ก.พ. และค่อยๆเพิ่มขึ้น โดยปีนี้จะกลับมาอยู่ในกรอบที่ 1-2%

“การดำเนินนโยบายการเงิน ต้องดูจาก 3 ด้านหลัก และต้องพิจารณาจากหลายมิติ นอกเหนือจากดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องผสมผสานเครื่องมืออื่นๆร่วมด้วย ดังนั้นนโยบายการเงินต้องดูในระดับที่พอดี ไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป ที่จะสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพทั้งในและต่างประเทศ ”

อย่างไรก็ตามหากดูพัฒนาการของการดำเนินนโยบายการเงิน กนง.ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนการชั่งน้ำหนัก และพิจารณาถึงปัจจัยข้างต้นแล้วหากดู อัตราดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบัน ถือว่าต่ำ หากเทียบกับดอกเบี้ยโลก

จุดจบขึ้นดอกเบี้ย2.50%เป็นจุดที่พอดี

สำหรับจุดจบของการขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.50% ในปัจจุบันมองว่า เป็นจุดที่พอดี หากเทียบกับต่างประเทศ ที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเกินจุดที่เป็นกลางของระบบเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่เพียง 2% เท่านั้น เพื่อให้นโยบายการเงินฉุดรั้งเศรษฐกิจ และดึงเงินเฟ้อลดลงแต่การดำเนินนโยบายการเงินของไทย แตกต่างกัน กนง.เพียง “ถอนคันเร่ง” เพื่อให้ภาวะการเงินไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ หากดูอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา มองว่าไม่ได้เป็นตัวสะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ หรือกำลังซื้อที่หมดไป ดังนั้นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเงินเฟ้อที่มาจากอาหารสด พลังงาน ควรจะต้องมองทะลุไป

นโยบายการเงินไม่ได้มาผิดทาง

ทั้งนี้หากถามว่า การดำเนินนโยบายการเงินมาผิดทางหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะกนง.มองว่า การกำหนดนโยบายการเงินปัจจุบัน เป็นระดับที่ดอกเบี้ยสามารถรับมือ( Robust) กับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทั้งด้านบวกและด้านลบได้

โดยเฉพาะ การดำเนินนโยบายการเงิน 2 ครั้งล่าสุด โดยขึ้นดอกเบี้ยมาสู่ 2.25-2.50% แม้ดิจิทัลวอลเล็ตจะมาช้าหรือเร็วกว่าที่คาด หรือมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสามารถรองรับความเสี่ยงทั้งสองกรณีได้ ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน อยู่ในระดับเหมาะสมสมดุล

ทั้งนี้ กนง.ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนัดประชุมกนง.เป็นวาระพิเศษ เพราะยังไม่มีปัจจัยที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม กนง.จะมีการนำข้อมูลใหม่ๆมาพิจารณาในการประชุมกนง. ต้นเดือนก.พ.นี้ด้วย

“เรารับฟังข้อมูลจากรัฐบาล และประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนายกรัฐมนตรี และทบทวนเสมอว่า จุดยืนที่เรามอง ภาพที่เรามอง มันสอดคล้องควรจะเป็นอย่างที่ควรเป็นหรือไม่ บทบาทธนาคารกลางเป็นเหมือนกองหลังของทีมฟุตบอล การลดดอกเบี้ยมากๆ ก็เหมือนเอากองหลังมากองหน้า ก็ช่วยให้มีโอกาสได้ประตู แต่ก็จะเปิดช่องโหว่ให้เกิดความเสี่ยงข้างหลังได้ ดังนั้นหน้าที่ของธนาคารกลางคือรักษาประตู โดยที่รัฐบาลเป็นโค้ช เป็นกัปตันที่มีผู้เล่นมากหรือสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้มากกว่า ดังนั้นบทบาทเราชัดเจน ว่าทำดีที่สุดแล้ว หากให้ทำเกินกว่านั้นต้องพิจารณาให้ได้ว่า ได้คุ้มเสียหรือไม่”

ส่วนต่างดบ.สูงไม่สะท้อนต้นทุนจริง

ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า กรณีมีการตั้งคำถามว่า ถึง NIM หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง มองว่าเป็นกลไกตลาด โดย 9เดือนปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.95% สูงกว่าก่อนโควิด แต่ NIM ไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายตัวในการดำเนินธุรกิจ เช่นการลงทุนด้านไอที ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาระหนี้ต่างๆ ที่ผ่านมาธปท.มีการคุยกับเจ้าหนี้ให้มีการเข้าไปดูแลกลุ่มลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการปรับโครงสร้างที่ยังต้องทำต่อเนื่อง แม้มาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นการตั้งสำรองของธปท.จะหมดไป