'เฟทโก้' ฉายภาพ วิกฤติอสังหาฯ จีนกระทบไทย ทำเงินเฟ้อติดลบ - ภาคการผลิตย่ำแย่

'เฟทโก้' ฉายภาพ วิกฤติอสังหาฯ จีนกระทบไทย ทำเงินเฟ้อติดลบ - ภาคการผลิตย่ำแย่

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ฉายภายวิกฤติอสังหาฯ จีนที่กำลังส่งผลกระทบมาถึงไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ความท้าทายระยะสั้นสำหรับปี 2567 สะท้อนประเทศจีนที่กำลังโคม่า ปัจจัยกดดันเทรนด์เงินเฟ้อโลกลดลงได้เร็วกว่าที่คิดไว้รวมถึงไทย และภาคการผลิตที่ย่ำแย่เพราะจีนตัดราคาสินค้า

วิกฤติจีน ในภาคอสังหาฯ ในเมืองจีนที่ลุกลามเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 2 ปีกว่า อาจกำลังเข้าสู่ภาวะสุขงอม หลายเมืองกำลังกลายเป็นเมืองร้าง และส่งผลกระทบต่ออสังหาฯ เบอร์ 1 ของจีน คือ “คันทรี การ์เดน” จับตาเบอร์ 1 สะท้อนทั้งภาคอุตสาหกรรม 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) กล่าวถึง ความท้าทายระยะสั้นสำหรับปี 2567 หนึ่งในนั้นคือ วิกฤติอสังหาฯจีน จากภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่ามีขนาดใหญ่จนสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% ของ GDP จีน ดังนั้นปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ

คันทรี การ์เดน เบอร์ 1 อสังหาฯ จีน

คันทรี การ์เดนโฮลดิงส์ บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากจีน มีหุ้นกู้จะครบกำหนดวันที่ 27 ม.ค.2567 ที่มูลค่าหน้าตั๋วลดลงถึง 92% มาอยู่ที่ 8 หยวนเท่านั้น ทั้งๆ ที่กำลังจะครบกำหนดภายในอีก 20 วันที่จะถึง เป็นที่น่าสงสัยว่าหากใกล้ได้เงินคืนราคาของหุ้นกู้ควรที่จะสูงกว่านี้ แต่ราคาตกต่ำนี้อาจสะท้อนว่านักลงทุนที่ถือหุ้นกู้อาจมองว่าโอกาสในการได้เงินคืนน้อยมาก

รวมทั้งหุ้น คันทรี การ์เดน ซึ่งเป็นหุ้นเบอร์ 1 ของกลุ่มอสังหาฯในจีน ได้รับผลกระทบราคาหุ้น จากใน 5 ปีก่อนราคาเคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 17.5 ฮ่องกงดอลลาร์ วันนี้ตกลงมาที่ 0.7  ลดลง 97%  แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลักจากที่รัฐบาลจะเข้ามาอุ้ม แต่ก็ไร้วี่แวว ทำให้ความมั่นใจลดลง และการที่บริษัทเบอร์ 1 ของจีนมีปัญหา ทำให้คาดเดาได้ว่าบริษัทเบอร์ 2 และ เบอร์ 3 ลำดับถัดมามีปัญหาอย่างแน่นอน

สะท้อนเศรษฐกิจจีนไม่ดี

ถึงขั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาพูดปลายปีที่แล้วว่า มีความกังวลใจว่าเศรษฐกิจจีนไม่ค่อยดี และปัญหาของเศรษฐกิจจีนกำลังลุกลามไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ  เช่น ธนาคารเงา ที่ล้มไปแล้ว 1 ราย ได้แก่ Zhongzhi Enterprise Group หนึ่งใน Shadow Banking หรือธนาคารเงา ที่ใหญ่สุดในจีน ได้ยื่นล้มละลาย และซัพพลายเชนต่างๆ 

การที่ CPI เงินเฟ้อติดลบ และ PPI ติดลบ 3-5% ซึ่งหมายถึงราคาสินค้าของจีนหน้าโรงงานผลิต และขายถูกกว่า 3-5% ของปีที่แล้วค่าเงินหยวนอ่อนค่า สะท้อนว่าจีนยอมผลิต และขายถูกลงเพื่อให้สามารถขายสินค้า่ได้ รวมทั้งอย่าลืมไปว่าจีนไม่ได้ขายแค่ในประเทศเท่านั้น เป็นประเทศโรงงานโลกส่งออกต่างประเทศ ประกอบกับในปีที่แล้ว ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง 5-6% ทำให้ในปีที่แล้วราคาสินค้าจากจีนสู่โลก สินค้าขายได้ถูกลง 10-15% จึงเป็นความท้าทายของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก

ต้นตอเงินเฟ้อไทยติดลบ-ภาคการผลิตย่ำแย่

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเทรนด์เงินเฟ้อโลกลดลงได้เร็วกว่าที่คิดไว้ เพราะโรงงานของโลก ต้นทางอย่างจีนขายสินค้าต่ำกว่าปีก่อนเป็นการตัดราคาตลาด  ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกลดลง

สิ่งที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากกว่าการที่เงินเฟ้อติดลบ 0.83% ในเดือนธ.ค.66 ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน ซึ่งการที่ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบครั้งนี้ “ไม่ใช่สัญญาณของเศรษฐกิจไทยที่กำลังมีปัญหา” ขณะเดียวหากมองตัวเลข “เงินเฟ้อพื้นฐาน” ยังอยู่ในระดับทรงตัวที่ 0.5-0.6% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดี

จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบ ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าปีที่แล้ว และปัญหาจากประเทศจีน ที่สินค้าราคาถูกเข้ามากดราคาสินค้าไทย ทำให้กว่า 20 อุตสาหกรรมถูกตีตลาดและมียอดนำเข้าพุ่งกระฉูด พร้อมกับภาคการผลิตมีปัญหาและกำลังแย่

ทำให้ดัชนี MPI ของไทยในเดือนธ.ค.2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 91.3% ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 10% เนื่องจากกำลังถูกทดแทนจากสินค้าจีน เรียกได้ว่าตอนนี้ผู้ประกอบการไทยต้องต่อสู้กับราคาสินค้าของจีนที่ถูกกว่ามาก ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์