ThaiBMA คาดปี 67 ยอดหุ้นกู้ใหม่ แตะ1 ล้านล้านบาท - ตลาดอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง

ThaiBMA คาดปี 67 ยอดหุ้นกู้ใหม่ แตะ1 ล้านล้านบาท - ตลาดอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง

ThaiBMA คาดแนวโน้มปี 67 ยอดหุ้นกู้ใหม่ 9 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดอยู่ในโหมดเฝ้าระวังมาก จากเศรษฐกิจมีความท้าทาย - อัตราดอกเบี้ยคงอยู่ระดับสูง จับตาเหตุผิดนัดชำระหนี้เป็นรายกรณี ย้ำกลุ่มหุ้นกู้ระดับลงทุนยังไม่น่ากังวล กองทุนพยุงหุ้นกู้ ยังไม่จำเป็น

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ในปี 2567 คาดการณ์แนวโน้มยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวประมาณ 9 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ออกใหม่ 4-4.5 แสนล้านบาท และเป็นหุ้นกู้ Roll over ราว 5-5.5 แสนล้านบาท  คิดเป็นอัตราเฉลี่ย 60% 

จากปี 2566 มียอดการออกหุ้นกู้มูลค่า 1,018,690 ล้านบาท เป็นปีที่ 4 ที่ยอดการออกเกิน 1 ล้านล้านบาท แต่ลดลงจากปี 2565 อยู่ที่ 1,261,548 ล้านบาท ตามภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ผู้ลงทุน เกิดความกังวลกรณีหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ กระทบต่อเซนทิเมนต์การลงทุน ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ขายได้ไม่เต็มจำนวน และชะลอแผนการออกหุ้นกู้ และในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้ออกหุ้นกู้ไม่จำเป็นต้องระดมทุนด้วยออกหุ้นกู้ จึงเห็นยอดออกหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ในปี 2566 ลดลง มาอยู่ที่ 91,977 ล้านบาท จากปี 2565 อยู่ที่ 130,266 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้มีแนวโน้มลดลงได้ ต้องติดตาม

ThaiBMA คาดปี 67 ยอดหุ้นกู้ใหม่ แตะ1 ล้านล้านบาท - ตลาดอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง


 

     

 

แนวโน้มสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ในปี 2567 ยังเผชิญความท้าทาย และระมัดระวัง ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีความท้าทายอยู่มาก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับสูง

ประกอบกับเซนทิเมนต์ ในตลาดหุ้นกู้ ผู้ลงทุนยังอยู่ในโหมดพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง หลังจากปีก่อนมีหุ้นกู้เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้หลายราย และในปีนี้ยังต้องจับตาความเสี่ยงดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังประเมินว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้ 
 

ThaiBMA คาดปี 67 ยอดหุ้นกู้ใหม่ แตะ1 ล้านล้านบาท - ตลาดอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นกู้ของไทยปัจจุบันมีมูลค่ารวม 4.6 ล้านล้านบาท ในปีนี้มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดทั้งสิ้น 890,908 ล้านบาท 90% เป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Investment Grade) ประมาณ 90% มั่นใจว่าไม่น่ามีปัญหา ที่เหลือ 10% เป็นหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ (Non-Investment Grade) ที่อาจต้องดูเป็นรายๆ ตัว

สำหรับ หุ้นกู้ในระบบมีปัญหา และผิดนัดการชำระเพิ่มขึ้นนั้น ณ สิ้นปี 2566 มีหุ้นกู้ที่มีปัญหาผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นชัดเจนขึ้นจากปี 2565 โดยมียอดหุ้นกู้มีปัญหารวมทั้งสิ้น 39,412 ล้านบาท คิดเป็น 0.8%ของมูลหนี้คงค้างทั้งหมด 

ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่มีปัญหาผิดนัดในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ ในปี 2565 มีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL วงเงิน 2,334 ล้านบาท  และบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO 4 รุ่นวงเงินรวม 409 ล้านบาท 

ตามมาด้วยในปี 2566 ได้แก่  บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK วงเงิน 9,198 ล้านบาท รวม 5 รุ่น , DR ซึ่งเป็นบริษัทนอกตลาดทำธุรกิจท่องเที่ยวที่ภูเก็ต 2 รุ่นวงเงิน 1,210 ล้านบาท บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN 7รุ่น วงเงิน 3,212 ล้านบาท และช่วงคาบเกี่ยวปลายปี 2566 ต่อเนื่องต้นปี 2567 คือ PPH อสังหาฯ นอกตลาด 1 รุ่นวงเงิน 392 ล้านบาท

ThaiBMA คาดปี 67 ยอดหุ้นกู้ใหม่ แตะ1 ล้านล้านบาท - ตลาดอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง

สำหรับที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดหุ้นกู้มากขึ้น โดยหนึ่งในการหารือคือ ระบุวงเงินสำรอง กรณีหากไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่ได้ตามกำหนด  สำหรับหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ มองว่า จะทำให้นักลงทุนใช้ในการพิจารณาการลงทุนและลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ สมาคมฯ มีการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของ Issue และการเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจลงทุน รวมถึงจัดทำ HIGH yield bond covernenat (ข้อกำหนดทางการเงินที่ issue ต้องปฏิบัติ) ที่ครอบคลุมเงื่อนไขสำคัญเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน และจัดทำสัญญามาตรฐานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อเพิ่มหน้าที่ของ Issue นายทะเบียน ที่มีต่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของนักลงทุนให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนกระแสข่าว กระแสเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนพยุงหุ้น "ก่อนหน้านี้  นางสาวอริยา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ก็มีกองทุนพยุงหุ้นกู้ที่ชื่อว่า Bond Stabilization Fund : BSF ซึ่งเป็นกองทุนเฉพาะกิจที่ตอนนั้นจะต้องไปออกเป็น พ.ร.ก.วงเงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับตลาดหุ้นกู้หยุดชะงัก แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีบริษัทไหนมาใช้วงเงินดังกล่าว และปัจจุบันกองทุนดังกล่าวก็หมดอายุไปแล้ว 

กองทุน BSF ถือเป็นกองทุนที่จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้ และขอบเขตของกองทุนคือ ช่วยกลุ่มหุ้นกู้ระดับลงทุน (Investment Grade) ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นเป็นตลาดที่มีความกังวลมาก แม้แต่หุ้นกู้ Investment Grade ก็มีปัญหา ทั้งตลาดหยุดชะงักไปหมด

แต่เมื่อเทียบสถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะกลุ่มหุ้นกู้ Investment Grade ไม่ได้มีปัญหา สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ และยังขายได้ตามปกติ

"หากจะมีการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้ขึ้นมาใหม่  มองว่า คงไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะว่าตอนนี้หุ้นกู้ Investment Grade ไม่ได้มีปัญหา และคงต้องพิจารณาเรื่องของกฎหมายอีกทีว่าทำได้หรือไม่" 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์