Digital banking ความพร้อมครัวเรือนไทยใช้บริการ

Digital banking ความพร้อมครัวเรือนไทยใช้บริการ

การพลิกผันของเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการเงิน และการธนาคารนั้น เกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งในฝั่งอุปทานที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่

ได้แก่ การเกิดขึ้นของ cloud computing, AI และ machine learning และปัจจัยในฝั่งอุปสงค์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้บริโภค  

ผู้บริโภคมีความคาดหวังความง่ายในการใช้งาน (simplification) และความสามารถในการได้รับบริการแบบเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น (customization และ personalization) ตัวอย่างของบริการทางการเงินดิจิทัล (digital banking) ที่เกิดขึ้น จะเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลใหม่ (alternative data) ผ่านการพยายามเก็บข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ที่สะท้อนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ใช้บริการ 

ทำให้เมื่อนำ AI และ machine learning มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ดังกล่าว นำมาสู่โอกาสใหม่ของการให้บริการ

ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว ความสามารถในการปรับระดับราคาให้สอดรับตามความต้องการของผู้บริโภค (price discrimination) และการทำระบบอัตโนมัติ (robotic process automation) ที่ทำให้บริการทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ทุกเวลา

ถึงแม้ digital banking จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านความทั่วถึงของครัวเรือนกลุ่มต่างๆ (financial inclusion) แต่ก็ได้สร้างความท้าทายใหม่ ที่อาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้

เช่น สถาบันการเงินดั้งเดิมอาจมีการแข่งขันอย่างรุนแรงจนอาจกระทบกับระดับความเสี่ยงของธนาคาร หรือการที่ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่ขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้ใช้บริการจนเกิดสภาวะหนี้เสียครั้งใหญ่ 

หรือการที่บริการดิจิทัลทำให้เกิดฐานข้อมูลดิจิทัลของผู้ใช้บริการจนเกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูล และการถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการที่ฉวยโอกาสจากอคติเชิงพฤติกรรม (behavioral biases) ของผู้ใช้บริการ

ปัญหาสำคัญที่ผู้ใช้บริการทางการเงินอาจตกเป็นเหยื่อของ call center จากการใช้บริการ digital banking เช่น กลุ่มครัวเรือนที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงินมาก่อน (unbanked) และกลุ่มครัวเรือนที่เข้าถึงบริการทางการเงินจำกัด (underbanked) อาจมีระดับทักษะความรู้ทางการเงิน (financial literacy) และทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ที่ต่ำจนทำให้ไม่สามารถเข้าใจบริการทางการเงินดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม

ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเงินกู้ จนทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้อาจตกอยู่ในสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะไม่มีความรู้ในการบริหารหนี้สินที่ดีพอก่อนการกู้ยืมเงิน หรืออาจตกอยู่ในปัญหาด้านการเงินเพราะเงินออมของตนเองถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจนเกิดการขาดทุนได้

จากการเก็บข้อมูลครัวเรือนไทย 1,000 กลุ่มตัวอย่าง ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย พบผลลัพธ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้บริการ digital banking และระดับทักษะความรู้ด้านการเงิน และด้านดิจิทัล

ในส่วนของการชี้วัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลในการศึกษานี้ใช้ตัวแบบที่เสนอโดย Ratanabanchuen (2021) ที่ชี้วัด 4 องค์ประกอบย่อย ได้แก่

  1. digital access
  2. digital skill
  3. digital knowledge
  4. digital right

ในขณะที่การชี้วัดทักษะความรู้ด้านการเงินใช้ตัวแบบที่เสนอโดย OECD (2022) ที่แบ่งมิติย่อยเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) Financial behavior 2) Financial attitude และ 3) Financial knowledge

จากการศึกษาพบว่า ครัวเรือนไทยสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่สูง (digital fluent) ส่วนใหญ่จะมีทักษะความรู้ดิจิทัลในระดับปานกลาง (ร้อยละ 45) และระดับต่ำ (ร้อยละ 25) 

คุณลักษณะเด่นของครัวเรือนไทยที่เป็น digital fluent จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาสูงกว่าอนุปริญญาขึ้นไป มีรายได้มากกว่า 300,000 บาทต่อปี และมีการประกอบอาชีพเป็นแรงงานในระบบเท่านั้น ดังนั้น ครัวเรือนที่มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลต่ำส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มรายได้น้อย ประกอบอาชีพอิสระ และการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายลงมา

เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลกับแนวโน้มการใช้บริการ digital banking พบว่าครัวเรือนไทยที่อยู่ในกลุ่ม digital fluent เท่านั้น ที่ใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่หลากหลายและเข้มข้น

ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการเงินกู้ดิจิทัล การมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชีที่ผูกอยู่กับ mobile banking การมีกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล และการพยายามค้นคว้าหาช่องทางในการออมเงินและการลงทุนใหม่ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีนัยสำคัญทางสถิติ

ขณะที่ทักษะความรู้ทางการเงินของครัวเรือนไทยนั้น มิติย่อยที่ค่อนข้างมีปัญหาจะเกี่ยวกับทัศนคติด้านการเงิน (attitude) ซึ่งเกี่ยวกับการขาดความตระหนักถึงการบริหารการเงินของตนเอง หรือการขาดแรงกระตุ้นในการออมเพื่อเกษียณอายุ

เมื่อวิเคราะห์คะแนนรวมของ financial literacy พบว่าครัวเรือนไทยที่ประกอบอาชีพค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว มีระดับการศึกษาสูง และมีรายได้สูงจะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความโดดเด่นด้าน financial literacy สูงที่สุด

จากการศึกษาพบว่า ทักษะความรู้ทางการเงินมีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการรู้จักบริหารเงินออม และเงินลงทุนของตนเอง จนทำให้สามารถมีระดับการออมที่สูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ทักษะความรู้ทางการเงินไม่ได้มีผลเชิงบวกต่อการมีหนี้ในระดับที่เหมาะสมมากนัก 

ครัวเรือนไทยต่างมีภาวะหนี้สินที่สูงมากขึ้นในทุกระดับทักษะความรู้ทางการเงิน เนื่องจากบริการ digital banking ทำให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเงินสด บัตรเครดิต จำนำทะเบียน หรือเงินกู้ส่วนบุคคลไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรส่งเสริมให้ครัวเรือนไทยมีทักษะความรู้ด้านการเงิน (financial literacy) และทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ให้สูงขึ้นในระดับที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน

เพราะการเติบโตของ digital banking ที่นำมาสู่ความทั่วถึงของบริการทางการเงิน อาจทำให้ครัวเรือนบางกลุ่มที่มีทักษะต่ำตกอยู่ในสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว และปัญหาด้านการเงินได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรการเพิ่มเติม ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินปล่อยกู้อย่างไม่มีความรับผิดชอบ และไม่เปิดโอกาสให้เกิดบริการทางการเงินในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการ

เช่น การเรียกเก็บหนี้ที่ถี่เกินไป การมีระยะเวลาเงินกู้ที่ไม่เหมาะสม หรือการพยายามทำให้ผู้กู้ไม่สามารถปิดภาระหนี้สิน เพื่อเลี้ยงหนี้ และหวังกินดอกเบี้ยในระยะยาว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์