ข้อมูลทางเลือก มิติใหม่สินเชื่อเพื่อธุรกิจคนตัวเล็ก

ข้อมูลทางเลือก มิติใหม่สินเชื่อเพื่อธุรกิจคนตัวเล็ก

สวัสดีครับ ภาคการท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวแรงได้หนุนให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small, and Medium Enterprises: MSME) ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเฉพาะวิสาหกิจในภาคการค้าและภาคการบริการ  คิดเป็นมูลค่า 3,110,835 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.2 ของ GDP รวมทั้งประเทศ ตามข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ MSME เดือนสิงหาคม 2566 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.

ช่วงเวลาที่ธุรกิจกำลังไปได้สวยน่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง แต่จากการสำรวจสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ MSME ไตรมาส 3 ปี 2566 ของ สสว. พบว่าปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับ MSME ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อคือ อัตราดอกเบี้ยสูง เงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้ธุรกิจรายเล็ก และขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 

สถาบันการเงินยังคงต้องระมัดระวังการก่อหนี้ใหม่ให้เป็นหนี้ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าเป็นหนี้เยอะหรือนานเกินความสามารถในการชำระหนี้  หลักเกณฑ์การสมัครจึงเข้มข้นและอาจทำให้ MSME ที่ต้องอาศัยเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจบางรายยังไม่สามารถผ่านแนวทางคัดกรองแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นลักษณะการกำหนดระดับคะแนน (Credit Scoring) ที่ต้องมีการนำเสนองบดุลบัญชี ข้อมูลการบริหารความเสี่ยง รวมถึงแผนธุรกิจที่ชัดเจน 

เราพบว่า MSME จำนวนมากยังขาดความเข้าใจในหลักเกณฑ์นี้ จึงไม่ได้เก็บเอกสารการค้าสำหรับการตรวจสอบไว้ให้ครบ หรือขาดระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บางรายถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือได้รับวงเงินต่ำกว่าที่ขอเนื่องจากผู้ให้กู้ก็ต้องจำกัดความเสี่ยงของตน  นอกจากนี้ หากเป็น MSME ประเภทผลิตสินค้าก็ยังมีโรงงานไว้วางเป็นหลักประกัน แต่ถ้าเป็นประเภทเน้นการบริการก็อาจไม่มีอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องแสดงหลักฐานหรือข้อมูลประกอบการกู้เงินที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก

 

ผู้ให้บริการสินเชื่อในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และจีน เล็งเห็นอุปสรรคเหล่านี้ จึงได้ปรับใช้วิธีทางเลือกในการประเมินเสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือทางเครดิต (Creditworthiness) ของผู้สมัครขอสินเชื่อ หรือที่เรียกว่าการให้สินเชื่อโดยอาศัยข้อมูลทางเลือกในการช่วยตัดสินใจปล่อยกู้ (Alternative Credit Scoring) 

ในแง่ของข้อมูลการเดินบัญชี แม้ MSME บางแห่งไม่ได้จัดเก็บเอกสารครบถ้วนแบบองค์กรใหญ่ แต่ก็มีบันทึกไว้ในรูปแบบของตัวเอง อาทิ ข้อมูลรายรับในแต่ละเดือน ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าฤดูกาลไหนขายดี ช่วยในการคาดการณ์กระแสรายรับในแต่ละช่วง รวมถึงข้อมูลพฤติกรรมด้านอื่นๆ

ที่เรียกดูได้จากผู้ให้บริการภายนอก อาทิ ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคซึ่งเผยวินัยทางการเงินว่ามีแนวโน้มค้างชำระหรือไม่ หรือประวัติการเข้ารับการฝึกอบรมสำหรับผู้ประกอบการซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนากิจการของตน  ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เอื้อให้ผู้กู้กลุ่มที่น่าเชื่อถือแต่ระบบเดิมไม่ทราบว่าน่าเชื่อถือ สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ในต้นทุนที่ต่ำแม้ยังไม่มีประวัติอยู่ในเครดิตบูโรหรือไม่มีหลักประกัน

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ช่วยผลักดันการใช้ข้อมูลทางเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ อาทิ ในปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์การประกอบสินเชื่อธุรกิจส่วนบุคคลดิจิทัลที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้แต่สามารถแสดงข้อมูลอื่นอย่างข้อมูลการซื้อขายสินค้าออนไลน์แทน  แม้จะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวนไม่มากอยู่ที่รายละไม่เกิน 20,000 บาท แต่ก็เปรียบเสมือนการเปิดอีกหนึ่งเส้นทางให้คนตัวเล็กเข้าถึงสินเชื่อได้

ในปัจจุบัน สมาคมธนาคารไทยกำลังนำร่องปรึกษาหารือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะสามารถให้ข้อมูลดังกล่าวได้ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลพฤติกรรมการใช้เบอร์โทรศัพท์ อาทิ ผู้ขอกู้โดยเฉพาะ MSME ถือครองหมายเลขโทรศัพท์อยู่กี่เบอร์ คุยกับลูกค้าของตนเฉลี่ยกี่นาทีต่อเดือน ยอดชำระเดือนละกี่บาท และชำระตรงเวลาหรือไม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยืนยันการทำธุรกิจจริง อีกทั้งแสดงความเต็มใจในการชำระหนี้ของผู้ขอกู้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางเลือกเหล่านี้ไม่สามารถแทนที่การประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตวิธีเดิมได้โดยสิ้นเชิง  ถึงแม้ MSME จะมี Digital Footprint หรือข้อมูลดิจิทัลในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ดูดีเพียงใด แต่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับยอดขาย รายรับ ภาษี และรายละเอียดทางบัญชี ย่อมมีน้ำหนักกว่าเสมอ  จึงกล่าวได้ว่า Alternative Credit Scoring เหมาะสำหรับใช้เป็นข้อมูลสมทบกับข้อมูลจากหลักเกณฑ์คัดกรองเดิมในปัจจุบัน เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งด้านการเงินและที่มิใช่การเงินในการทำความรู้จักสถานะและประวัติด้านเครดิตของผู้สมัครสินเชื่ออย่างรอบด้าน

จำนวน MSME ทั้งหมดในไทยนั้นมิใช่น้อยเลยครับ จึงเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจที่หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเหมาะสม ก็จะเติบโตต่อไปได้ในฐานะหนึ่งใน “อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth)”  ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของไทย รองรับการจ้างงานอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น และนำพาเศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังครับ