ธปท.ยอมรับ ลดแจกเงินดิจิทัล ส่อทำ GDP ปี 67 โตต่ำคาด

ธปท.ยอมรับ ลดแจกเงินดิจิทัล ส่อทำ GDP ปี 67 โตต่ำคาด

ธปท.เผยคาดการณ์ GDP ปี 67 โต 4.4% รวมมาตรการแจกเงิน 5.6 แสนล้านบาทแล้ว ชี้หากใช้เม็ดเงินต่ำลงย่อมมีผลต่อตัวเลขประมาณการณ์

แม้ผ่านมาหลายเดือน หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้า “โครงการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท” ภายใต้งบ 5.6 แสนล้านบาท แต่ล่าสุดก็ยังไม่มีความชัดเจนจากโครงการ เนื่องจากโครงการนี้นำมาสู่ข้อพิจารณาหลายด้าน ทั้งเรื่องของงบประมาณที่ใช้ในโครงการว่าจะมาจากแหล่งใด กู้เงินหรือจากแบงก์รัฐ แจกเงินสำหรับทุกคนหรือไม่

รวมไปถึง การทำนโยบายดังกล่าวจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจตามเป้าประสงค์ที่รัฐตั้งเป้าไว้หรือไม่ หรือแม้แต่ความเป็นห่วงว่า นโยบายนี้อาจนำไปสู่ “ภาระภาคการคลัง”ในระยะยาว ที่อาจกระทบไปสู่เสถียรภาพของประเทศในระยะข้างหน้า 

ล่าสุดคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท มีการเคาะเพื่อแบ่งเกณฑ์การรับเงินดิจิทัล 3 แนวทาง

กลุ่มแรก จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

กลุ่มที่สอง สำหรับคนที่มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

กลุ่มที่สามผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้าน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า หากมีการปรับลดงบประมาณสำหรับโครงการ “แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท” จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 5.6 แสนล้านบาท คงมีผลต่อตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจหรือจีดีพีของธปท. ในปี 2567 ให้ปรับลดลง จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.4% เนื่องจาก ประมาณการณ์ดังกล่าวมีการรวมนโยบายแจกเงินดิจิทัล ภายใต้งบ 5.6แสนล้านบาทไปแล้วในเบื้องต้น
    “หากไซซ์ของงบในการใช้สำหรับการแจกเงินดิจิทัลลดลง ตัวเลขจีดีพีของแบงก์ชาติก็คงต้องปรับลดลง แต่ต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนหรือข้อสรุปที่ชัดเจน”