เป็น "ไรเดอร์" ฟู้ดเดลิเวอรี่ กรณีไหนต้องยื่นภาษี แล้วต้องเสียภาษีเท่าไหร่

เป็น "ไรเดอร์" ฟู้ดเดลิเวอรี่ กรณีไหนต้องยื่นภาษี แล้วต้องเสียภาษีเท่าไหร่

เหล่า "ไรเดอร์" ต้องรู้ เมื่อมีรายได้จากการทำงานฟู้ดเดลิเวอรี่ บริการรับส่งอาหารก็ต้องเข้าใจเรื่องภาษีเช่นเดียวกัน แต่แบบไหนบ้างที่ต้องยื่นภาษี และมีรายได้เท่าไหร่จึงจะต้องเสียภาษี ควรวางแผนภาษีอย่างไร ไปติดตามพร้อมกัน​​​​

ยุคนี้การมีอาชีพเสริม หรือ อาชีพที่สอง อาชีพที่สาม ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดแล้ว โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีบริการเพื่อความสะดวกสบายเกิดขึ้นมากมาย การซื้อข้าวของไม่สามารถเดินทางออกไปซื้อได้อย่างเก่า เกิดเป็นอาชีพฟู้ดเดลิเวอรี่ บริการรับส่งสินค้าและอาหาร หรือ "ไรเดอร์" (Rider) ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางส่งมอบสินค้าและอาหารระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

​เมื่อไรเดอร์มีรายได้จากงานบริการรับส่งสินค้าและอาหารเหล่านี้ จะต้องนำมายื่นภาษีหากรายได้ตลอดทั้งปีเกิน 60,000 บาท และเสียภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 150,000 บาท

โดยผู้ที่ทำงานบริการรับส่งสินค้าและอาหาร จะต้องเสียภาษีรูปแบบไหน ควรวางแผนภาษีอย่างไร ไปติดตามพร้อมกัน​​​​

  • คำจำกัดความ “อาชีพบริการรับส่งสินค้าและอาหาร (Rider)”

สำหรับอาชีพบริการรับส่งสินค้าและอาหาร หรือที่เรียกกันคุ้นเคยว่า ไรเดอร์ (Rider) คือผู้ขับขี่ยานยนต์ส่งสินค้าหรืออาหาร ซึ่งรับงานจากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่แบรนด์ต่างๆ โดยได้รับคำสั่งซื้ออาหารหรือสินค้าจากลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้า (ผู้ซื้อ) กับร้านค้า (ผู้ขายสินค้าหรืออาหาร) พร้อมกับส่งความต้องการไปให้ผู้ขับขี่ยานยนต์ส่งอาหาร เพื่อทำการรับอาหารจากร้านค้าส่งไปให้กับลูกค้า หรือเป็นช่องทางการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในรูปแบบออนไลน์

ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานของอาชีพไรเดอร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ

- ช่วงที่ 1 ธุรกิจการจัดส่งอาหารด้วยรถจักรยานยนต์ เป็นเพียงธุรกิจสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย คือ ผู้บริโภคกับร้านอาหาร โดยร้านอาหารจะติดต่อกับไรเดอร์เพื่อส่งอาหารของที่ร้านให้แก่ลูกค้า ลักษณะนี้ไรเดอร์จะค่อนข้างผูกอยู่กับร้านอาหารโดยตรง สามารถไปรับงานจากร้านอาหารอื่นได้บ้าง ผู้ให้บริการขนส่งเป็นเพียงการนำอาหารร้านค้าไปส่งยังลูกค้าที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของร้านอาหารและลูกค้า กิจกรรมในธุรกิจนี้เพียงแค่การบริการผ่านเว็บไซต์

- ช่วงที่ 2 เป็นการใช้แพลตฟอร์มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมขนส่งอาหาร โดยที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ร้านค้าและไรเดอร์ในการเข้ารับงานผ่านโทรศัพท์มือถือ และสามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับงานไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับร้านใดเพียงร้านหนึ่ง ทำให้ไรเดอร์มีอำนาจและมีความเป็นเจ้าของธุรกิจมากยิ่งขึ้น จึงสามารถสร้างรายได้ตามความสามารถของตนได้มากขึ้นนั่นเอง
 

  • อาชีพไรเดอร์... หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ย่อมต้องเสียภาษี

ทั้งนี้ ผู้ที่ทำอาชีพบริการรับส่งสินค้าและอาหาร หรือไรเดอร์นั้น จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ภาษี ซึ่งประกอบด้วย

1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา​

รายได้ของไรเดอร์ที่ได้รับจากสัญญาจ้าง ซึ่งประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่าย คือ “ผู้ว่าจ้าง” และ “ผู้รับจ้าง” โดยผู้ว่าจ้างสัญญาว่าจะจ่าย “สินจ้าง” ให้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จ โดยคำนึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก และผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งการรับทำงานให้นั้นต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยหลัก ไม่ได้มีการจัดหาสัมภาระ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

ทั้งนี้ ภาษีที่ไรเดอร์ต้องเสียนั้น สามารถสรุปได้คือ เมื่อไรเดอร์มีเงินได้ที่ได้รับจากค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่น ค่าตอบแทน รับจ้างอิสระ เช่น พนักงานส่งอาหาร (ไรเดอร์) ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท และหากมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 (เงินเดือน โบนัส) ด้วย ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน และหักค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ประเภทแล้วต้องได้ไม่เกิน 100,000 บาท

2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ในกรณีที่ไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น ค่าบริการส่งอาหาร ค่าส่งเพิ่มตามระยะทาง โบนัสพิเศษ (ทิป) ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจ่ายค่าตอบแทนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยค่าตอบแทนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งสามารถยื่นขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ ในการยื่นภาษีประจำปี

ดังนั้น ไรเดอร์ต้องขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ จากแพลตฟอร์มของแต่ละค่ายที่ไรเดอร์รับจ้าง เพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ และขอคืนภาษี

สรุป

ดังนั้น ภาษีที่เกี่ยวข้องกับไรเดอร์หลักๆ ประกอบด้วย

1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไรเดอร์ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดไป หรือยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน และ

2) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากค่าตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับในอัตรา 3% ซึ่งทุกครั้งที่ไรเดอร์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องเก็บหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับใบ 50 ทวิ จำนวน 2 ใบ ที่ต้องมีข้อความตรงกันทั้ง 2 ใบ ซึ่งทางผู้จ่ายเงินในนามนิติบุคคล จะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ออกหลักฐานดังกล่าวให้แก่ไรเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นไลน์แมน ช็อปปี้ฟู้ด ฟู้ดแพนด้า โรบินฮู้ด

และอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า หากไรเดอร์มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 60,000 บาทต่อปี และไม่ต้องการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็สามารถไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ แต่ถ้าหากมีรายได้อื่นๆ รวมกันเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ไรเดอร์ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ และขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายคืนได้ ในกรณีที่มีการจ่ายภาษีเกินไว้ ส่วนถ้าหากมีรายได้เกิน 150,000 บาท ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี หากภาษีที่ต้องจ่ายเกินกว่าภาษีที่จ่ายไว้ล่วงหน้า

 

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting