‘แบงก์ชาติทั่วโลก’ ตุนทองเพิ่ม แม้ กูรู ชี้ประเทศพัฒนาแล้วมองบวกต่อดอลลาร์

‘แบงก์ชาติทั่วโลก’ ตุนทองเพิ่ม แม้ กูรู ชี้ประเทศพัฒนาแล้วมองบวกต่อดอลลาร์

“สมาคมค้าทองโลก” ระบุ ธนาคารกลาง ทั่วโลกแห่ตุนทองเพิ่ม แม้จะชี้ว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ยังมองบวกต่อเงิน ดอลลาร์ 

Key Points

  • ธนาคารกลางทั่วโลกแห่ตุนทองเพิ่ม 176%
  • สมาคมค้าทองโลก ระบุ ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วยังมองบวกต่อดอลลาร์

สำนักข่าวอินไซเดอร์ (Insider) รายงานวันนี้ (31 พ.ค.) ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่เห็นว่าทองคำเป็นสินทรัพย์สำรองที่โดดเด่นมากขึ้น สวนทางกับสกุลเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มเสื่อมคุณค่า (De-dollarization) ลงเรื่อยๆ

โดยจากการสำรวจของ สมาคมค้าทองโลก (World Gold Council) พบว่า 62% ของธนาคารกลางทั่วโลกอาจเพิ่มสัดส่วนทองคำในฐานะทุนสำรองมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า เทียบกับปีที่แล้วอยู่เพียง 46% ขณะเดียวกัน การสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า เงินดอลลาร์ จะมีสัดส่วนอยู่เพียง 40%-50% ของเงินสำรองใน 5 ปี ข้างหน้า

หากสถานะของสกุลเงินดอลลาร์เป็นเช่นนั้นจริง ก็นับว่าเป็นการลดลงจากไตรมาสที่ 3 ที่เงินดอลลาร์ และทองคำคิดเป็น 51% และ 15% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ ตามลำดับ

"ไม่แปลกที่หลายประเทศต้องการเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับ อัตราดอกเบี้ย ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจบริหารเงินสำรองของธนาคารกลาง ซึ่งคล้ายกับปีที่แล้ว" สมาคมค้าทองโลก ระบุ

ทั้งนี้ ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวอินไซเดอร์ ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกต่างซื้อทองคำเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปีที่แล้ว จนกระทั่งหลายประเทศคว่ำบาตร มอสโก ซึ่งทำให้การถือครองสกุลเงินต่างประเทศหยุดชะงัก

โดย เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ลง และหันมาเพิ่มสัดส่วนทองคำ ในฐานะ ทุนสำรองระหว่างประเทศ มากขึ้น โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 176% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มุมมองของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ เหล่านักวิเคราะห์จากธนาคารกลางของประเทศที่ เศรษฐกิจเกิดใหม่ มักมีทัศนคติเชิงบวกกับทองคำมากกว่า กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาไประดับหนึ่งแล้ว 

ยกตัวอย่างเช่น บรรดาธนาคารกลางจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มักมองว่าควรสะสมทองคำเพิ่มเพราะสกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มเสื่อมค่าลง ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาในระดับสูงแล้วยังมีทัศนคติเชิงบวกต่อสกุลเงินดอลลาร์อยู่

“ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศที่กำลังพัฒนาค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่อการตัดสินใจในการบริหารเงินสำรองในประเทศ​ และหนึ่งวิธีที่พวกเขามองว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง คือ เพิ่มสัดส่วนทองคำสำรอง” สมาคมค้าทองโลก ทิ้งท้าย 

อ้างอิง

1. Insider 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์