‘นักเศรษฐศาสตร์’ ชี้รัฐบาลใหม่ เสี่ยงเผชิญ ‘ภาระการคลัง’เพิ่ม
“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ นโยบายรัฐบาลใหม่ เสี่ยงหนุนภาระการคลังเพิ่ม “ศุภวุฒิ” ชี้ หากจำเป็น รัฐกู้เพิ่มได้ แม้ภาระการคลังเพิ่ม ย้ำจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโตทั้งระยะสั้นระยะกลาง “อมรเทพ” เชื่อหากจัดระเบียบใช้งบมีประสิทธิภาพ-หารายได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่น
แม้การจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” ภายใต้แกนนำจาก “พรรคก้าวไกล”ยังไม่เสร็จสิ้น แต่เชื่อว่านักลงทุน ประชาชน เริ่มให้ความสนใจกับ “นโยบายภาครัฐ”หลังจากนี้มากขึ้นว่าการเดินหน้าโครงการต่างๆของภาครัฐ จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนภายใต้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะมาตรการที่ใช้หาเสียงในช่วงที่ผ่านมา
หากดูนโยบายพรรคก้าวไกลที่ใช้ตอนหาเสียง พบว่า มีแผนใช้งบประมาณรวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบเพื่อสวัสดิการก้าวหน้าต่อปี 6.5 แสนล้านบาท และงบประมาณสำหรับจังหวัดจัดการตัวเอง 2 แสนล้านบาทต่อปี
ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP) กล่าวว่า การวางนโยบายเศรษฐกิจในอนาคตสิ่งที่จำเป็น นอกจากการวางโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนระยะยาวแล้ว สิ่งที่ต้องทำคู่กัน คือ วางนโยบายด้านเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่มองว่า ‘จำเป็น’ เพื่อขับเคลื่อนให้เติบโตได้ทั้งระยะสั้นและแข็งแกร่งในระยะยาว
ภายใต้นโยบายพรรคก้าวไกล มีแผนใช้เงินช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะรัฐสวัสดิการปีละ 6 แสนล้านบาท นำงบประมาณมาจากการขึ้นภาษี และลดงบบางส่วน เชื่อว่าสามารถทำได้ แต่สิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้เวลา เนื่องจาก ที่ผ่านมา ประเทศไทยพูดถึงการเก็บภาษีมาต่อเนื่อง แต่ถูกแรงต้าน ดังนั้นการขึ้นภาษีจะไม่ง่าย และอาจทำได้ไม่เร็วนัก
อีกทั้งการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งเก็บกับบริษัทขนาดใหญ่ เก็บจากกำไรจากการลงทุน สิ่งที่ตามมา เมื่อกำไรบริษัท นักลงทุนลดลง อาจบั่นทอนความต้องการลงทุนให้ลดลงได้ อาจกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ หากดูความจำเป็นภาครัฐในระยะข้างหน้า จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐก็ต้องยอมขาดดุลงบประมาณมากขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้ และส่วนตัว ไม่กลัวว่าภาระการคลังจะเพิ่มขึ้น เพราะการขาดดุลฯ และหนี้สาธารณะวันนี้ของไทยไม่ได้อยู่ในจุดอันตราย แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ต้องพยายามมีวินัยการใช้งบภาครัฐมากขึ้น
ต้องยอมขาดดุลหนุนศก.โต
“หากต้องใช้งบภาครัฐ ต้องขาดดุลการคลังเพิ่ม ก็ต้องทำ เพราะการเก็บภาษี การลดงบบางส่วน ไม่ได้ทำได้ง่าย และไม่ได้ทำได้เร็ว เพราะหากไม่ทำอะไรเลย และกลัวภาระการคลังเพิ่ม กลัวการขาดดุลการคลัง จีดีพีก็ยิ่งไม่โต โตช้ากว่าการขาดดุลงบประมาณต่อปีที่อยู่ราว 3-4% และหากจีดีพีลด หนี้ต่อจีดีพียิ่งจะเพิ่มขึ้น แนวทาง คือ ต้องยอมใช้เงิน เพื่อทำให้จีดีพีโต พอจีดีพีโต จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีไม่โต และเมื่อจีดีพีโตรัฐจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เหมือนกับหลักการที่พรรคเพื่อไทยวางนโยบายไว้ตั้งแต่แรก”
นอกจากนี้ มองว่า การทำให้ จีดีพีเศรษฐกิจไทยโตได้ สิ่งจำเป็นคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่ทำให้เกิดการ กระตุ้นเศรษฐกิจคู่ไปกับการวางนโยบาย
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ภายใต้การประกาศการใช้งบประมาณพรรคก้าวไกลตอนหาเสียง มีก้อนใหญ่ๆ คือ รัฐสวัสดิการ 6 แสนล้านบาท งบฯที่จะนำมาใช้จ่าย มาจาก 2 ส่วนคือ 1.ลดค่าใช้จ่าย ลดขนาดกองทุน ย้ายงบกลาง และ 2.การเก็บภาษีเพิ่ม
ถือว่ามีความเสี่ยง ที่จะหาเงินไม่ทัน หากไม่กู้เงิน หรือใช้งบภาครัฐ เพราะการตัดงบ ลดขนาดกองทัพ รวมถึงมาตรการการจัดเก็บภาษีเพิ่ม ไม่ง่าย สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ ขาดดุลการคลังเพิ่มในระยะข้างหน้า
ซึ่งเป็นปัจจัยท้าทาย เพราะการขาดดุลการคลังทำได้ไม่มาก จากปัจจุบัน ที่หนี้สาธารณะไทยสูง ปัจจุบันไทยขาดดุลทางการคลังต่อปีอยู่ที่ 2-3% ของจีดีพี หากยังขาดดุลทางการคลังต่อเนื่อง ภายใน 10 ปีโอกาสที่หนี้สาธารณะไทยอาจแตะระดับที่กรอบบนที่ 70% ต่อจีดีพีได้
รัฐบาลใหม่เผชิญภาระทางการคลังเพิ่ม
ดังนั้นเหล่านี้ ถือเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ ในการวางแผนใช้เงินในระยะข้างหน้า และยิ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น จากโครงสร้างประชากรของไทยที่แย่ลงเรื่อยๆ มีคนแก่มากขึ้น คนทำงานน้อยลง ทำให้ภาระต่องบประมาณในระยะข้างหน้ามีสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับรายได้ที่ไม่ขึ้น
“แผนการนำงบประมาณมาใช้ ทั้ง 2 ส่วน ทั้งลดงบจากกองทัพ รวมถึงการเก็บภาษี ถือว่ามีแรงกดดันทั้งคู่ การลดงบกองทัพ แม้ทำได้ทันที แต่กระบวนการบางอย่าง เช่นการยกเลิกเกณฑ์ทหารต่างๆ ต้องติดตามดูว่าทำได้หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ คือการเขย่าโครงสร้างเดิมทั้งหมด เช่นเดียวกันการเก็บภาษีคนรวย เหล่านี้คือโจทย์ท้าทายมากสำหรับรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่”
อย่างไรก็ตาม หากดูนโยบายภาครัฐ ภายใต้พรรคก้าวไกล ที่ประกาศออกมาก่อนหน้า เชื่อว่า อาจไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวลงเล็กน้อยได้ เพราะมาตรการภาครัฐเหล่านี้ ไม่ได้เป็นการเพิ่ม “สภาพคล่อง”สู่ระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นการโยกเงินบางส่วนมาใช้
เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีคนรวย ไปช่วยคนจน เหล่านี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่
ดังนั้นประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 4 ปีข้างหน้า หลังจากนี้ มีโอกาสเติบโตช้าลง มีโอกาสที่จีดีพีจะต่ำกว่าระดับ 3% หากเทียบกับก่อนโควิด-19 ที่จีดีพีไทย เติบโตเฉลี่ย 3.2% ต่อปี จากประชาก วัยทำงานที่ลดลง การเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น
นับเป็นโจทย์ความท้าทายสำคัญรัฐบาลใหม่ค่อนข้างมาก ที่ต้องคิดว่าจะมี New Engine of Growth หรือแรงขับเคลื่อนสำหรับเศรษฐกิจไทยใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
บริหารงบดีเชื่อไม่กระทบเชื่อมั่น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลใหม่ แบ่งได้หลายหมวด 1. เงินด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ/เด็ก และเยาวชน เงินกลุ่มนี้เป็นรายจ่ายของภาครัฐในงบประมาณประจำปี และโดยปกติงบเหล่านี้จะถูกจัดทำต่อเนื่องในอนาคต ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไป
ส่วนด้านภาระทางการคลังนั้น แม้ว่าจะมีงบรายจ่ายส่วนนี้มากขึ้น แต่หากมีการบริหารตัดงบส่วนอื่นออก หรือหารายได้เพิ่มมาได้ ก็ไม่น่ากระทบความน่าเชื่อถือของประเทศ หรือขัดวินัยการคลัง
มองส่วนนี้ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการจัดสรรด้านสวัสดิการที่จำเป็น แต่นอกจากนี้น่าจะหามาตรการอื่นที่ไม่ใช่หว่านแห แต่เข้าถึงคนที่ต้องการสวัสดิการอย่างแท้จริง เช่นเด็กด้อยโอกาสด้านการศึกษา หรือคนแก่ยากไร้
2. ด้านค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่งบประมาณภาครั ฐแต่เป็นความเห็นร่วมของลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ซึ่งโดยปกติจะมีนายจ้าง หรือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่เน้นแรงงานถูก และแรงงานต่างด้าว โดยมากในกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง โรงแรม ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร
โดยรอบนี้รัฐน่าสนับสนุนการปรับตัวในด้านต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ด้วยการส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทำ automation เพิ่มทักษะแรงงาน แต่เชื่อว่าจะกระทบการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการอีกรอบ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
แนะเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
ขณะที่ทางออก น่าจะเป็นการเน้นการลงทุนจากต่างชาติ และขจัดปัญหาอุปสรรคในการลงทุน สร้างการดึงดูดให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งทำข้อตกลงการค้าเสรีให้มากกว่านี้ มองมาตรการนี้น่าสนับสนุนกำลังซื้อระดับล่าง
รวมทั้งเงินเดือนที่ขึ้นจะขึ้นเป็นลูกโซ่ต่อขึ้นไป ไม่เพียงค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งกลุ่มนี้น่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นโอกาสของธุรกิจกลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยวและสื่อสาร แต่ห่วงเงินเฟ้อ อาจพุ่งได้ต่อจากอุปสงค์ที่ร้อนแรงขึ้นกระทบการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในปีหน้า หลังจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ว่าดอกเบี้ยไทยอาจขึ้นต่อได้
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องพิจารณาต่อว่านโยบายเป็นอย่างไร จะเป็นการก่อหนี้เพิ่มขึ้น หรือลดการใช้จ่ายส่วนอื่น แต่ที่ห่วง คือแม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นกว่าก่อนโควิดแล้วก็จริง แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยังไม่ฟื้น รายได้ยังต่ำกว่าก่อนโควิด
ขณะที่รายจ่ายเพิ่มสูงกว่าเดิมมาก สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทย เช่นการท่องเที่ยวดีเพียงไม่กี่พื้นที่ ดังนั้นต้องหามาตรการให้คนที่มีเงินมากพอใช้จ่ายในกลุ่ม หรือพื้นที่ ที่ยังขาดรายได้ น่าหาเครื่องมือ หรือข้อมูลด้านพื้นที่มาร่วมในการทำนโยบาย
ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุด ที่ต้องเร่งแก้ไข รวมทั้งการทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายจากกรุงเทพไปภูมิภาคอื่นๆ
ส่วนภาระทางการคลังเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาระยะยาว น่าหาทางออกด้วยการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ใช้ให้คุ้มค่า และจำเป็นตัดลดจากส่วนอื่นมาดูแลด้านสวัสดิการ หรือหารายได้เพิ่มมาได้ แต่สุดท้ายคนไทยต้องปรับตัว ไม่ว่าด้านค่าแรง หรือการลงทุนจากต่างชาติ น่าเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ไทยมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอาเซียนที่แข็งแกร่งขึ้น
ต้องจัดเก็บรายได้-ลดรายจ่าย
ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายหาเสียงพรรคก้าวไกล ทั้งรัฐสวัสดิการ การดูแลระดับจังหวัด ที่ใช้งบกว่า 1 ล้านล้านบาท SCB EIC ประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อภาระการคลังต่ำ เนื่องจากมีแผนการใช้งบประมาณชัดเจน
ดังนั้นการใช้งบภาครัฐระยะข้างหน้า ขึ้นกับการจัดเก็บรายได้ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ทั้งจัดเก็บรายได้รูปแบบใหม่ผ่านการปรับขึ้นภาษี รวมถึงลดงบภาระรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
หากทั้งสองแผนทำไม่ได้มากนัก มีความเสี่ยงที่ภาระการคลังระยะปานกลางเสี่ยงเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม บวกกับเศรษฐกิจไทยยังเผชิญหนี้สาธารณะจากสังคมสูงวัยของไทยทำให้มีภาระต้องดูแลสังคมมากขึ้น